เปิด 2 กฎเหล็ก กสทช. คุม 'ซิมการ์ดโทรศัพท์' ต้อง ยืนยันตัวตน ก่อนถูกปิดใช้งาน
กสทช. ออก 2 กฎเหล็ก 'ซิมการ์ดโทรศัพท์' ต้อง ยืนยันตัวตน ป้องกัน มิจฉาชีพ ก่อ อาชญากรรมออนไลน์ หากดื้อแพ่ง อาจถูกระงับ-เพิกถอน การใช้งาน
พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปีตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านอาชญากรรมเทคโนโลยี ได้เรียกประชุมอนุกรรมการบูรณาการฯ แถลงถึง มาตรการของ กสทช. กำหนดให้ผู้ถือครอง “ซิมการ์ดโทรศัพท์” 6 เลขหมายขึ้นไป ต้องยืนยันตัวตน ป้องกัน อาชญากรรมออนไลน์
โดยข้อสรุปของที่ประชุมอนุกรรมการฯ ระบุว่า ผู้ที่ถือครอง “ซิมการ์ดโทรศัพท์” จำนวนมากๆ ตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไป ต้องมายืนยันตัวตน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ม.ค. 2567 หากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใด ไม่มายืนยันตัวตนในเวลาที่กำหนด หมายเลขโทรศัพท์ อาจถูกระงับการใช้งาน และถูกเพิกถอนไปในที่สุด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ นำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวว่า ซิมการ์ดโทรศัพท์ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องมี และใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทรหาเหยื่อ, การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงก์, โอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ร่วมกับสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว มุ่งเน้นจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงิน ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน
กสทช. จึงได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตน และข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสาระที่สำคัญ ดังนี้
- ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน
- ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ หากไม่มายืนยันตนในกำหนด จะถูกพักใช้ ระงับการโทรออก และการใช้อินเทอร์เน็ต ยกเว้นเบอร์โทรฉุกเฉิน โดยมีเวลา 30 วัน หากยังไม่มีการยืนยันตน จะถูกเพิกถอนการใช้เบอร์ของซิมการ์ดโทรศัพท์ที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด
โดยในระยะแรก จะเร่งรัดให้ผู้ถือครองซิมการ์ดโทรศัพท์ จำนวน 101 เลขหมายขึ้นไป เข้ามายืนยันตัวตนก่อน เนื่องจากมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่า คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายต้องยืนยันตัวตน มีประมาณ 3 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในทุกเครือข่าย ซึ่งมาตรการดังกล่าว กสทช. ออกมาเพิ่มเติม เพื่อสกัดการทำงานของกลุ่มมิจฉาชีพ จากที่มีอยู่เดิม 7 มาตรการ อาทิ
พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า การออกมาตรการดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกวาดล้างจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมเถื่อน และแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุคมนาคมผิดกฎหมาย รวมทั้งจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวของ กสทช. มีผลบังคับใช้ จะทำให้กระบวนการสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเมื่อมีคดีเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่สามารถขยายผลจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ลงทะเบียน รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีม้า ไปถึงตัวการใหญ่ได้ต่อไป