ข่าว

'ลดหย่อนภาษี 2567' ขอคืนภาษีต้องทำยังไง เช็กก่อน ยื่นภาษี 2567

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อัปเดตค่า 'ลดหย่อนภาษี 2567' มีอะไรบ้าง ช้อปดีมีคืน-e-refund ลดหย่อนได้หรือไม่ 'ขอคืนภาษีต้องทำยังไง' เช็กก่อน 'ยื่นภาษี 2567'

“ลดหย่อนภาษี 2567” ขอคืนภาษีต้องทำยังไง ชวนเช็กกันอีกรอบก่อนยื่นภาษี 2567 สำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาสำรวจกันให้ดีๆ ว่า ปีนี้วางแผนลดหย่อนภาษีล่วงหน้ากันครบถ้วนแล้วหรือยัง โดยเริ่มจากการคำนวณจำนวนภาษีที่ต้องเสีย และหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีรูปแบบต่างๆ

“ยื่นภาษี 2567” ผ่านช่องทางไหนได้บ้าง

 

  • ยื่นภาษีแบบเอกสารกระดาษ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาใกล้บ้าน ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567
  • ยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th คลิกที่นี่ สามารถทำได้ถึงวันที่ 8 เม.ย. 2567

 

 

รายได้กี่บาทต้องเสียภาษี 2566

 

การคำนวณภาษีจะเป็นการคิดคำนวณแบบขั้นบันได ซึ่งจากข้อมูลอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 ผู้มีเงินได้สุทธิ 0 - 150,000 บาทแรก จะได้รับการยกเว้นภาษี และเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาทขึ้นไป จะเริ่มอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี โดยเริ่มที่ฐาน 5%

ยื่นภาษี

ลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง

 

“ค่าลดหย่อน” คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ถูกกำหนดตามกฎหมาย สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว จะช่วยทำให้เราเสียภาษีน้อยลง หรืออาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยในแต่ละปี อาจมีรายการ “ลดหย่อนภาษี” ต่างกันออกไปเล็กน้อย เนื่องจากนโยบายของรัฐในช่วงนั้นๆ โดยสำหรับปี 2566 มีรายการลดหย่อนภาษีแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

 

 

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

 

1. ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

2. คู่สมรส (จดทะเบียนสมรส - ไม่มีรายได้) 60,000 บาท

3. บุตร คนละ 30,000 บาท หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • อายุไม่เกิน 20 ปี
  • อายุ 21 - 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
  • บุตรมีเงินได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จะสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

 

4. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

5. ค่าดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และสามารถหักลดหย่อนสำหรับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000บาท

6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวคนพิการ

 

 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน (ลำดับ)

 

1. ประกันสังคมสูงสุด 9,000 บาท

2. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของตัวเองและของคู่สมรส ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

3. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต (คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

4. เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  • ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
  • จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น

 

6. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และสำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

7. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
  • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

 

8. กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี
  • ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก โดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน คือ ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีการลงทุนในปีนั้น
  • ขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

 

9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 30,000 บาท

 

 

ทั้งนี้ กองทุน RMF, กองทุน SSF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

 

 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

1. ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • เป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน คอนโดมีเนียม หรือที่อยู่อาศัย โดยต้องอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
  • ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อ หรือสร้างที่อยู่บนที่ดินของตัวเอง หรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมีเนียม
  • ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ
  • หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถรวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆ กัน

 

2. เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) 100,000 บาท

3. ช้อปดีมีคืน 40,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • ซื้อสินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
  • มีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ลดหย่อนได้ 30,000 บาท
  • มีใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดหย่อนเพิ่มได้อีก 10,000 บาท
  • ใช้สำหรับการซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2566

 

 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

 

  1. บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา สนับสนุนกีฬา พัฒนาสังคมต่าง ๆ มูลนิธิด้านสาธารณสุข และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  3. เงินบริจาคอื่นๆ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

รายการลดหย่อนภาษี

 

 

คืนภาษี 2566 ขอคืนภาษีต้องทำยังไง

 

  • เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร คลิกที่นี่
  • คลิกที่สอบถามการคืนภาษี (E-Refund)
  • กรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, ชื่อผู้เสียภาษี (แบบไม่ต้องระบุคำนำหน้า), ชื่อสกุล (นามสกุล) และคลิกสอบถาม
  • เช็กสถานะการสอบถามข้อมูลของเงินคืนภาษี
  • ช่องทางการรับคืนเงินภาษี

 

 

ยื่นภาษีไม่ทัน ทำอย่างไร

 

หากยื่นไม่ทัน ทั้งแบบกระดาษ และ ออนไลน์ ให้ไปยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา เอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
  • เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)
  • หากมีภาษีต้องชำระ จะถูกคิดเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน

 

 

 

ขอบคุณ : ทีทีบี

logoline