ข่าว

ไทยสร้างไทย ช่วยผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ขอรัฐเปิดทางนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหาร

ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ประสาน สส.ไทยสร้างไทย ในนามของกรรมาธิการการเกษตร สะท้อนปัญหาไปถึงรัฐบาลเพื่อช่วยผู้เลี้ยงให้อยู่รอด ด้วยการลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ เปิดโอกาสให้รายย่อย สั่งซื้อ / นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ พ่วงขอให้รัฐปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง

นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร    เปิดเผยว่า  ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต้องการให้เป็นกระบอกเสียงประสานไปยังรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือต่อผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยคือ  ต้นทุนของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย  ที่เป็นอุปสรรคไม่สามารถแข่งขันกับผู้เลี้ยงสุกรจากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะราคาหัวอาหารที่แตกต่างกันมาก เช่นสุกรจากประเทศบราซิล ที่ส่งมายังประเทศไทย ผู้เลี้ยงจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 บาท ต่อ กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่ผู้เลี้ยงในประเทศไทย ต้องแบกรับต้นทุนเฉลี่ย  80-90 บาท ต่อ กิโลกรัม 

 

 

 


ปัญหาดังกล่าวเกิดจากราคาอาหารที่แตกต่างกันมาก เนื่องจากราคาอาหารถูกควบคุมโดย นายทุนใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทั้งการนำเข้าข้าวสาลี การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การผูกขาดดังกล่าวทำให้ ผู้ค้ารายย่อยหรือเกษตรกร ขาดอิสระในการนำเข้า  เช่น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในประเทศไทยสูงถึง 12 บาท ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว มีราคาเพียง 4 บาทต่อ กิโลกรัม เท่านั้น   ประเด็นดังกล่าว ผู้เลี้ยงสุกรเห็นตรงกันว่าหากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการย่อย มีโอกาสนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้อย่างถูกต้อง จะทำให้ต้นทุนในส่วนดังกล่าวลดลง และเพิ่มสามารถขีดความสามารถในการแข่งขันได้

 

 

 

 

จึงมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบใน 2 มาตรการ ดังนี้

 

  • ขอให้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องต้นทุนค่าอาหารสัตว์ โดยศึกษาและส่งเสริมการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในประเทศ เช่นข้าวพันธุ์เบญจมุก ซึ่งอาจให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,500 กิโลกรัม รวมถึง ภาครัฐต้องเสริมศักยภาพเกษตรกร โดยกำหนดนโยบายในภาครัฐให้ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร เช่น การลดภาษีวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ หรือ พิจารณาเปิดโอกาสให้รายย่อย สามารถสั่งซื้อหรือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ ภายใต้การควบคุมของรัฐ เพื่อมาตรฐานของวัตุดิบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนซึ่งมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนได้

 

 

 

 

  • ข้อเรียกร้องเร่งด่วน ขอให้รัฐปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรที่ยังมีหมูอยู่ในมือ หรือปัญหาการส่งออกส่วนเกินของ 3 บริษัทใหญ่ เพื่อไม่ให้หมูล้นตลาดภายในประเทศ การทำหมูหันวันละ 5,000 ตัว เพื่อตัดวงจรหมูในระยะสั้นเป็นเวลา 3 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยให้ตัวละ 400 บาท รวมถึง ขึ้นทะเบียนผู้ซื้อหมูหรือโบรกเกอร์ เพื่อให้หมูอยู่ในราคากลาง และจัดทำ Pig Data ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลภาพรวมสำรวจประชากรหมูเพื่อควบคุมแม่พันธุ์ 

 

 

 

"ข้อเรียกร้องเร่งด่วนรวมถึงมาตรการในการช่วยเหลือโดยเฉพาะ ต้นทุนอาหารสัตว์ พรรคไทยสร้างไทย จะนำเสนอเข้าที่ประชุมกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงส่งต่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน"  เขา กล่าว