'ดร.พิสิฐ' เสนอมาตรการ 'คุมราคาน้ำตาล' หลัง 'เอลนีโญ่' กระทบทำราคาพุ่ง
'ดร.พิสิฐง เสนอ มาตรการ ‘คุมราคาน้ำตาล’ หลัง ภัย ‘เอลนีโญ่’ กระทบการผลิตลดลงกว่าร้อยละ 20 ทำราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่ง รวมทั้งไทยราคาขายปลีกขยับเพิ่ม กก.ละ 30 บาท ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตอ้อย
วันนี้( 23 พ.ย. 2566) เวลา 10.00 น. ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส. และประธานนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อฝากประเด็นไปยังรัฐบาลที่กำลังแก้ไขปัญหาราคาน้ำตาลแพง ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า โดยขอให้รัฐบาลดูแลให้น้ำตาลปลอดจากการกักตุนและควบคุมราคาน้ำตาลขายปลีกไม่ให้ขายเกินที่กำหนด
รวมทั้งต้องผลักดันให้การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานเป็นไปตามกฎหมาย ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ควบคุมไม่ให้เผาอ้อยเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและจัดระบบให้มีการขนส่งทางราง เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นแหล่งการจ้างงานและรายได้ของประเทศ ซึ่งทำรายได้ส่งออกปีละกว่า 2 แสนล้านบาท เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
ปัจจุบันอ้อยเป็นแหล่งจ้างงานเกษตรกร 474,000 ราย มีพื้นที่การปลูกประมาณ 12 ล้านไร่ ปีนี้มีผลผลิตเป็นอ้อยดิบประมาณ 93 ล้านตัน ส่งโรงงานน้ำตาล 57 โรงซึ่งสามารถผลิตน้ำตาลทรายประมาณ 10.5 ล้านตัน โดยใช้บริโภคภายในประเทศร้อยละ 25 และสำรองไว้เพื่อความมั่นคงในประเทศ 800,000 ตัน
ที่เหลืออีกร้อยละ 65 ส่งออกไปต่างประเทศ ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากบราซิลและอินเดีย มีการจัดระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล 70:30 มาประมาณ 40 ปี ภายใต้พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มีการกำหนดให้กลไกของน้ำตาลในประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและโรงงาน
ที่ผ่านมาราคาในประเทศจะสูงกว่าตลาดต่างประเทศ โดยมีประกาศราคาขายหน้าโรงงานไว้ที่ 19-20 บาท ต่อกิโลกรัม(กก.) ส่งผลให้คนไทยซื้อน้ำตาลในราคา 23 -24 บาทต่อกก. ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นต้นต่ำกว่าราคาตลาด รัฐก็มีการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยมาเป็นระยะเวลายาวนาน
จากภัยแล้งทั่วโลกที่มาจากเอลนีโญ่ ทำให้โลกมีการผลิตน้ำตาลทรายลดลงมากกว่า 20% โดยเฉพาะอินเดีย ถึงกับมีมาตรการควบคุมการส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี คำนวณมาเป็นเงินบาทอยู่ที่ 27 -28 บาท ต่อกิโลกรัม(กก.)
ประกอบกับต้นทุนการผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจากที่ 1,100 บาทต่อต้น เป็น 1,500 บาทในฤดูการผลิตปี 65/66 ผู้ผลิตจึงเสนอให้เพิ่มราคาขายหน้าโรงงานอีก 4 บาท แต่รัฐบาลได้ต่อรองให้เพิ่ม 2 บาท แต่ตลาดภายในประเทศยังมีการกักตุ้นน้ำตาล ทำให้ราคาขายปลีกตามร้านทั่วไป ขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิน 30 บาทต่อกก. และบางพื้นที่ไม่มีน้ำตาลขาย รัฐบาลโดยกรมการค้าภายในจึงออกประกาศเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ให้น้ำตาลกลับมาเป็นสินค้าควบคุมอีกครั้ง และกำหนดราคาขายปลีกไม่เกิน 24 -25 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2566 เป็นต้นมา
แม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศปรับราคาน้ำตาลเพิ่ม 2 บาท ต่อ กก. แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังเห็นว่าประชาชนยังมีความเดือดร้อนจากการขาดแคลน และในบางตลาดมีราคาแพงกว่า 30 บาทต่อ กก. ซึ่งเกินราคาควบคุม รวมทั้งยังไม่เห็นความชัดเจนของการแก้ไขเชิงโครงสร้าง และสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงมีข้อเสนอขอให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้
เสนอ 2 มาตรการคุมราคาน้ำตาล
1. มาตรการเฉพาะหน้า รัฐบาลต้องใช้กลไกของไร่เพื่อตรวจสอบควบคุมอย่างจริงจัง สร้างความมั่นใจว่ามีน้ำตาลป้อนให้ตลาดอย่างเพียงพอ ไม่เกิดการขาดแคลน ซื่งจะส่งผลให้การขายน้ำตาลของร้านค้าปลีกอยู่ในราคาที่กำหนดคือ น้ำตาลทรายขาวต้องไม่เกิน 25 บาท
2. มาตรการเชิงโครงสร้าง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
2.1 เร่งรัดบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วย “ผลพลอยได้” ตามคำนิยามของพรบ. อ้อยน้ำตาลทราย ปี 2565 ที่การแบ่งปันผลประโยชน์ระบบ 70:30 ให้รวมประโยชน์ที่ได้จากชานอ้อยหรือกากอ้อยมาคำนวณด้าย ปัจจุบันยังมีการปฏิบัติตามกฏหมาย เพื่อความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อย
2.2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีผลผลิตสูงขึ้น การเพาะปลูกยังขึ้นกับอากาศและน้ำฝนเป็นหลัก ในปีที่มีน้ำสมบูรณ์เช่น2560/61 มีผลผลิตถึง 130 ล้านตัน ปัจจุบันประสิทธิภาพการผลิตของไทยอยู่ที่ 10 ตันต่อไร่ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 14 ตันต่อไร่ สมควรที่ต้องมีมาตราการพิ่มผลผลิตต่อไร่
แม้ว่าปัจจุบันรัฐจะให้เกษตรกรกู้เงินประเภท Soft loan อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.0 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อมาปรับโครงสร้างการผลิต แต่มีเงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ยากและเม็ดเงินยังน้อยเกินไป ในทางปฏิบัติกลับเป็นชาวไร่อ้อยรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ จึงควรปรับวงเงินเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขควรผ่อนปรนให้มากกว่านี้ เพื่อให้ชาวไร่รายย่อยได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น
2.3 ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการตัดอ้อยสดแทนการเผา เนื่องจากการเผามีผลเสียกับทุกฝ่าย ทั้งตัวชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยที่ลดลง ไม่ได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐแล้ว ยังเป็นบ่อเกิด PM 10 และ PM 2.5 เป็นปัญหาสาธารณสุขจากมลภาวะเป็นพิษที่สำคัญในบ้านเรา แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะรณรงค์และทำให้อัตราอ้อยเผากับอ้อยสด ลดลงจาก 65 :35 เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาเหลือ 35 : 65 ในปัจจุบันก็ตาม แต่ยังเป็นอัตราที่สูงอยู่
รัฐจึงควรส่งเสริมอย่างจริงจังทั้งมาตราการจูงใจที่ โดยเป็นส่งเสริมให้เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ได้มีรถตัดอ้อยให้เพียงพอในช่วงหีบอ้อย จะเหมาะสมและเกิดความยั่งยืนกว่าการจูงใจให้เงินชดเชย 150 บาทต่อตันกับการตัดอ้อยสด รวมทั้งถึงเวลาที่ต้องมีการบังคับอย่างจริงจัง ที่ไม่ให้โรงงานรับซื้ออ้อยเผาอีกต่อไป แต่ควรมีระยะเวลาให้เกษตรกรปรับตัวสัก 2 -3 ปี ก่อนมีผลบังคับใช้
2.4 สนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการตัดอ้อย ทดแทนการสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักรเก่าจากต่างประเทศ เพื่อให้มีการพัฒนาการผลิตเครื่องจักรกลเกษตร
2.5 ส่งเสริมสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งอ้อยด้วยรถบรรทุกเป็นการขนส่งด้วยระบบรางแทน ค่าขนส่งเฉลี่ย 200 บาทต่อตันเป็นต้นทุนที่สำคัญ
ขณะที่การปลูกอ้อยในบางพื้นที่ เช่นภาคตะวันตก(นครปฐม ราชบุรีและกาญจนบุรี) และในบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งผลิตกว่าร้อยละ 50 ล้วนมีระบบรางรถไฟ ที่สามารถใช้ทำการขนส่งอ้อยดิบแทนรถบรรทุกได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้ลดลงไม่ต่ำกว่า 50% แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดช่วงฤดูหีบอ้อย รวมทั้งลดการซ่อมบำรุงทางหลวงจากการบรรทุกน้ำหนักเกินได้ด้วย