ข่าว

เสวนา' ดิจิทัลวอลเล็ต' คาดใช้สิทธิเหลือ 40 ล้านคน - ก.ย. 67 เงินเข้าระบบ

30 ต.ค. 2566

วงเสวนา "นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท : เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ" จัดโดย สมาชิกวุฒิสภา ( สว. ) ฟาก "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" ฟันธง เดิมที่คาดว่าจะให้สิทธิเข้าถึง 56 ล้านคน จะปรับแก้เหลือเพียง 40 ล้านคน ส่วนกระบวนการจ่ายเงินในระบบ จะไปเริ่มได้ภายใน ก.ย.

ที่อาคารรัฐสภา นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท : เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้ความท้าทายและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และคณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา

 

 

 

 

นายศุภชัย กล่าวว่า นโยบาย "ดิจิทัลวอลเล็ต"  เป็น 1 ในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภา มีเป้าหมายแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยใช้ระบบบล็อกเชนเพื่อเอื้อต่อการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ ภายใต้งบประมาณกว่า 500,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีหลายฝ่าย เช่นคณาจารย์ และนักวิชาการ ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิก เนื่องจากมองว่า ได้ประโยชน์น้อยไม่คุ้มกับต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานการจ่ายเงินระยะสั้น ไม่คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง  ดังนั้น  สมาชิกวุฒิสภา (สว. ) ในฐานะสถาบันการเมืองที่มีความเป็นกลาง จึงได้เชิญทุกฝ่ายมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อระดมข้อเสนอจัดทำเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป

 

 

 

 

นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้มีหลายอย่างจะมีการปรับเปลี่ยน เช่น  การให้สิทธิประชาชน 56 ล้านคน เพราะหลายฝ่ายเห็นว่าไม่ควรแจกคนรวย เพราะการให้เงินคนรวยไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากคนรวยจะเอาเงินในส่วนนี้ทดแทนค่าใช้จ่าย และเก็บเงินของตัวเองไว้แทน แต่ถ้าให้คนที่พอมี จะสามารถนำไปใช้หนี้ ดังนั้นตัวเลขประชาชนที่ได้สิทธิจะเหลือ 40 กว่าล้านคน ซึ่งยังไม่รวมผู้ที่ไม่มาลงทะเบียนอีก

 

เสวนา\' ดิจิทัลวอลเล็ต\'  คาดใช้สิทธิเหลือ 40 ล้านคน - ก.ย. 67  เงินเข้าระบบ

 

 

เชื่อว่า โครงการดังกล่าวจะใช้เงินจากงบประมาณ แต่คงไม่ถึง 500,000 ล้านบาท โดยผ่านการอนุมัติจากสภา ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะมีความล่าช้า ไม่น่าจะทันในเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะสามารถใช้ได้ในช่วงเดือนกันยายนแทน ขณะเดียวกันน่าจะมีเร่งดำเนินการงบประมาณปี 2568 ไปด้วย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน  ส่วนเงื่อนไขที่จะใช้เงินได้ในระยะ 4 กิโลเมตร คงไม่มีแล้ว แต่จะให้อยู่ในอำเภอหรือเขตเดียวกัน เพื่อให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง 

 

 

 

 

"วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งข้างบน ข้างล่าง ตรงกลาง กรอบหมดแล้ว ไม่สามารถจะกู้เพิ่ม รายได้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นโครงการนี้ จึงจำเป็นกระตุ้นความเชื่อมั่น เกิดความคึกคัก แต่โครงการนี้ก็จะต้องควบคู่ไปกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการทางเศรษฐกิจที่ต้องทำให้มองเห็น เป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลต้องทำให้สอดคล้องกันให้ได้ "  นายพิชัย กล่าว

 

 

 

นายพิชัย  ย้ำว่า จำเป็นต้องแจกเงินเป็นเงินดิจิทัลเพื่อบังคับให้มีการใช้จ่าย ส่วนคนที่จะมาขึ้นเงินก็ต้องลงทะเบียนและเสียภาษีด้วย  ทั้งนี้การแจกเงินอาจจะได้ไม่พร้อมกัน และอาจจะได้ใช้เงินในช่วงที่มีวันหยุด เช่น ปีใหม่ หรือสงกรานต์ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว และเชื่อว่า 90% น่าจะกลับไปใช้ แอพลิเคชั่น "เป๋าตังค์"เนื่องจากมองว่า การพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลานานและยุ่งยาก

 

 

 

 

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า    แนวคิดนี้ต่อให้เป็นการใช้จ่ายในระดับหมู่บ้าน  เป็นไปได้ยากที่โครงการนี้จะยั่งยืน   สิ่งที่อยากเห็นคือ นำเงินส่วนนี้ไปช่วยในกำลังผลิต เช่นแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ทุกหมู่บ้าน นี่คือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่กลับไม่นำเรื่องดังกล่าวมาขับเคลื่อนเลย   ไม่ใช่หวังให้คนใช้จ่ายแล้วเศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลกำลังจะทำผิดกฎหมายหลายอย่าง ขอให้ฟังสำนักงบประมาณในการของบ  ไม่เช่นนั้นจะเกิดการขาดดุล และผิดวินัยการเงินการคลัง

เสวนา\' ดิจิทัลวอลเล็ต\'  คาดใช้สิทธิเหลือ 40 ล้านคน - ก.ย. 67  เงินเข้าระบบ

เสวนา\' ดิจิทัลวอลเล็ต\'  คาดใช้สิทธิเหลือ 40 ล้านคน - ก.ย. 67  เงินเข้าระบบ

ที่อาคารรัฐสภา ได้มีการเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท : เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้ความท้าทายและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ"  จัดโดยคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และคณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา