ข่าว

กรมวิชาการเกษตร หนุนเทคโนโลยี ผลิต 'ส้มโอ' มาตรฐาน GAP

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมวิชาการเกษตร หนุนเทคโนโลยี ผลิต 'ส้มโอ' มาตรฐาน GAP ปัจจุบันผู้บริโภคต่างหันมารักสุขภาพและให้ความสำคัญกับการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษและได้รับการรับรองมาตรฐานกันมากขึ้นส่งผลให้เกษตรกรให้ความสนใจและหันมาปลูกส้มโอ ตามมาตรฐานการผลิต GAP เพิ่มขึ้น

"ส้มโอ"ป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการส่งออก เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภคและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะส้มโอที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าในการส่งออกและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในด้านของความปลอดภัยและคุณภาพของผลผลิต

 

เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคต่างหันมารักสุขภาพและให้ความสำคัญกับการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษและได้รับการรับรองมาตรฐานกันมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรให้ความสนใจและหันมาปลูกส้มโอ ตามมาตรฐานการผลิต GAP เพิ่มขึ้น แต่พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตส้มโอตามมาตรฐาน GAP ตั้งแต่ปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งผลผลิต รวมไปถึงวิธีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ปลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตส้มโอ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2  ดำเนินการตามนโยบายการให้บริการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP ของส้มโอ ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง 4 จังหวัด คือ พิจิตร, กำแพงเพชร, พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ด้วยการกำหนดแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ ผลผลิตสูง คุ้มค่าการลงทุน และกระบวนการผลิตปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในการผลิตส้มโอ ตามมาตรฐาน GAP จากการดำเนินงานด้านการรับรองมาตรฐาน GAP พบว่า ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ปลูกส้มโอทั้งหมด จำนวน 21,505.75 ไร่ ได้ดำเนินการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 7,946.61 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.66 

 

กรมวิชาการเกษตร หนุนเทคโนโลยี ผลิต

 

การผลิตส้มโอตามมาตรฐาน GAP ถือเป็นแนวทางหนึ่งในจัดการทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ที่มีการใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ผลผลิตปลอดภัย ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น และการยอมรับของตลาดโลก ดังนั้นการผลิตส้มโอ ตามมาตรฐาน GAP จึงเป็นคำตอบในการยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร และความสามารถในการต่อรองราคาผลผลิต สามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกร รวมไปถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทางการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

กรมวิชาการเกษตร หนุนเทคโนโลยี ผลิต

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ