ข่าว

'แรงงานไทยในอิสราเอล' สัญญาจ้าง 5 ปี รายได้สะพัด กว่า 3 ล้านบาท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมการจัดหางาน เปิดโควตา สิทธิประโยชน์ 'แรงงานไทยในอิสราเอล' สัญญาจ้าง 5 ปี รายได้สะพัดกว่า 3 ล้านบาท พร้อมทักษะกลับมาประกอบอาชีพต่อในไทย เฉพาะปี66 โควตาส่งออกแรงงาน 6,500 คน

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 กรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรรัฐอิสราเอล หรือ "แรงงานไทยในอิสราเอล"  ในปี 2566 ว่า มีประมาณจำนวน 6,500 คน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม - 20 มีนาคม 2566 มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน จำนวนทั้งสิ้น 1,513 คน 

 

 

โดยแรงงานทั้งหมด ได้ผ่านการอบรมคนหางานก่อนการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศแล้ว เมื่อไปทำงาน จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษี เดือนละ 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 50,000 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) หากทำงานจนครบสัญญาจ้างงานสูงสุด 5 ปี 3 เดือน จะมีรายได้มากกว่า 3,000,000 บาทต่อคน 

 

 

และเมื่อกลับมาแล้ว ยังสามารถนำประสบการณ์ทางเกษตร ที่ได้รับจากการทำงานด้านการเกษตรในอิสราเอล กลับมาพัฒนาประเทศ และประกอบอาชีพของตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

 

ขณะที่ เมื่อปี 2565 อิสราเอล เคยเพิ่มโควตารับแรงงานภาคเกษตรจากประเทศไทยเป็น 6,500 คน มากกว่าปีที่ 2564 ที่ให้โควตาแรงงานไทยไว้ 5,000 คน ซึ่งจะมีระยะเวลาการจ้างงานตามสัญญาจ้าง 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน โดยแรงงาน จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือ ประมาณ 55,954 บาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนเดือนพฤศจิกายน 2564)

 

แรงงานไทยในอิสราเอล ทำงานด้านการเกษตร

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานรัฐอิสราเอลเป็นจำนวนเงินประมาณ 65,250 บาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

1.ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง เช่น ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมค่าธรรมเนียมการขอรับหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวจากประเทศไทยไปยังอิสราเอล ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด เป็นต้น

 

 

2.ค่าใช้จ่ายหลังจากเดินทางไปถึงตามกฎหมายแห่งรัฐอิสราเอล ประมาณ 37,000 บาท

 

 

ทั้งนี้ ประเทศไทย และอิสราเอล ดำเนินการตามข้อตกลงด้านแรงงาน เรื่องการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน หรือ Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC มาอย่างต่อเนื่อง และมีการหารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดส่งให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตลอดเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทย ตลอดจนมีการหารือถึงการขยายตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อให้แรงงานไทยได้วีซ่าอุตสาหกรรม (Industrial Visa) นอกเหนือจากภาคเกษตร ที่ทำอยู่ เนื่องจากนายจ้างอิสราเอลมีความต้องการช่างเชื่อมเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของช่างเชื่อมชาวไทย เพราะมีฝีมือเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ

 

 

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลได้ โปรดอย่าหลงเชื่อ แต่ขอให้แจ้งและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน โดยสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รมว.แรงงาน


นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันถึงกรณีที่ “แรงงานไทยในอิสราเอล” แสดงความกังวลหากเดินทางอพยพกลับประเทศไทยแล้ว จะเสียสิทธิประโยชน์จากนายจ้าง และทางการอิสราเอล หรือไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานในอิสราเอลได้อีกว่า กระทรวงแรงงานของไทย จะช่วยประสานเจรจาให้สามารถกลับไปทำงานในอิสราเอลได้ หรือหากไม่สามารถกลับไปทำงานในอิสราเอลได้อีก กระทรวงแรงงาน ก็จะช่วยประสานให้สามารถไปทำงานในประเทศอื่น ๆ ได้ 

 

 

“โดยยอมรับว่า อาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับกับการเดินทางกลับไปทำงานใหม่อีกครั้ง แต่ผมจะพยายามทุกวิถีทาง หาผู้สนับสนุน เพราะถือเป็นถานการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อให้แรงงานไทย สามารถกลับไปทำงานได้เช่นเดิม และช่วยแบ่งเบาภาระแรงงาน”
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ