'มาดามเดียร์' ฝาก 6 คำถาม แคลงใจ 5.6 แสนล้านบาท ทุ่มเพื่อ ดิจิทัลวอลเล็ต
ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ "มาดามเดียร์" วทันยา บุนนาค ใช้พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งคำถามไปถึงรัฐบาล ว่าด้วยการใช้งบ 5.6 แสนล้านบาท เดินหน้ากับ "นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต" ย้ำทำอย่างไร ให้เงินถึงมือผู้รายย่อย แทนที่จะไปกระจุกตัวกับรายใหญ่
น.ส. วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เดียร์ วทันยา บุนนาค" ในหัวข้อ "คนไทยจะได้อะไรจากงบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาทที่จะใช้กับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต??" โดย น.ส. วทันยา ได้ตั้งคำถามในเรื่องนี้ไปถึงรัฐบาล รวม 6 ข้อ อาทิ เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทที่จะใช้ในการจัดทำนโยบายจะมาจากไหน , ความสุ่มเสี่ยง ที่นโยบายนี้จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว , เสียงทักท้วงของนักวิชาการ ที่มองว่า เป็นไปไม่ได้ที่โครงการดังกล่าวจะเกิดการหมุนของเงินในระบบผ่านตัวทวีคูณของเงิน (Multiplier Effects) ถึง 6 รอบ
รายละเอียดของเนื้อหาที่ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
.
คนไทยจะได้อะไรจากงบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาทที่จะใช้กับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต??
.
เราน่าจะได้เห็นทิศทางของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เร็วๆ นี้ ผ่านการประชุม ครม. และตั้งคณะกรรมการเพื่อวางกรอบนโยบาย การทำงาน การตรวจสอบ และการประเมินผล ในวันอังคารนี้
ในฐานะประชาชนที่เสียภาษี ขอฝากคำถามและความเป็นห่วงต่อการใช้งบประมาณแผ่นดินไปยังรัฐบาลและคณะกรรมการ 6 ข้อดังนี้
.
1.เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทที่จะใช้ในการจัดทำนโยบายจะมาจากไหน? และรูปแบบของเงินพร้อมทั้งการใช้จ่ายจะเป็นระบบ Blockchain หรือจะ E-Money? จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาล นอกจากการให้สัมภาษณ์ของ รมต.
2.ไม่ว่ารูปแบบเงินจะใช้เทคโนโลยีแบบไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องนำเงินงบประมาณมาเป็นทุนใช้จ่ายในโครงการ ดังนั้นนโยบายนี้จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวหรือไม่? จะเป็นการเพิ่มภาระให้งบประมาณด้วยการเอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน แล้วคนไทยต้องเผชิญกับความลำบากทีหลังหรือไม่?
.
3.นักวิชาการต่างดาหน้าออกมายืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่โครงการดังกล่าวจะเกิดการหมุนของเงินในระบบผ่านตัวทวีคูณของเงิน (Multiplier Effects) ถึง 6 รอบตามที่รัฐบาลคาดหวัง ดังนั้นรัฐบาลควรทบทวนว่าหากเงินในระบบไม่สามารถหมุนได้ครบ 6 รอบตามที่ตั้งเป้าไว้ การใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลยังคงคุ้มค่าที่จะดำเนินโครงการต่อหรือไม่?
และที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เงินนั้นกระจายตัวไปยังผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้มากกว่า #เจ้าสัว? และใครจะเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล? นั่นยังไม่นับรวมถึงกรณีประชาชนนำเงินไปใช้ใน Application ของสัญชาติต่างประเทศที่อาจทำให้สุดท้ายแล้วเงินงบประมาณที่มาจากภาษีคนไทยบางส่วนรั่วไหลออกไปภายนอก เงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถหมุนเวียนภายในประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
.
4.รัฐบาลต้องไม่ลืมว่านอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนแล้ว สิ่งที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่คือปัญหาหนี้สินและค่าครองชีพที่พุ่งสูง แม้ว่าวันนี้รัฐบาลจะเร่งหาทางลดค่าครองชีพและแก้หนี้สินตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องไม่ลืมคือ ประชาชนคาดหวังอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาต้นทุนค่าครองชีพที่ต้นตอ ยกตัวอย่าง ปัญหาค่าไฟฟ้า ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ลดค่าครองชีพของประชาชนในวันนี้ด้วยการนำเงินของอนาคตมาใช้ สุดท้ายประชาชนก็ยังคงเป็นคนที่ต้องแบกรับภาระเหมือนเดิมในขณะที่นายทุนพลังงานยังคงล่ำซำ รวยขึ้นทุกวัน?
.
วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์
.
5.รายละเอียดวิธีการใช้เงินไม่ว่าจะใช้ได้ครั้งละไม่เกินจำนวนเท่าไหร่? และอยู่ในรัศมี 4 กม. นับจากไหน? ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านหรืออย่างไร? ในกรณีแรงงานพลัดถิ่นที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ การกลับไปใช้เงินในพื้นที่คงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก อาจเปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชัน?
.
6.การตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการนี้จะเป็นอย่างไร? หากมีการทุจริตเกิดขึ้น เช่น แลกเงินสด แลกสิทธิ์ ขายสิทธิ์ เป็นต้น
.
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่อยากถามแทนคนไทยทุกคน เพราะในช่วงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยช้ากว่าหลายประเทศ แถมยังมีงบประมาณจำกัด หนี้สาธารณะสูงขึ้นจนจะชนเพดานเงินกู้ แต่คนไทยยังมีหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น พร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งขยายห่างขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราใช้งบประมาณก้อนยักษ์ไปผิดทางหรือได้ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ความหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจคงริบหรี่
.
#เงินดิจิทัลวอลเล็ต #กระเป๋าเงินดิจิทัล