ข่าว

สรุป 33 ปี 'โฮปเวลล์' ไทยชนะคดี (มีลุ้น) ไม่ต้องจ่าย ค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย มหากาพย์ 33 ปี 'โฮปเวลล์' อภิมหาโครงการด้านคมนาคม เมื่อไทยชนะคดี (มีลุ้น) ไม่ต้องจ่าย ค่าโง่ ปิดฉากข้อพิพาท?

คดี “โฮปเวลล์” นับเป็นอีกมหากาพย์ อภิมหาโครงการด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ที่ถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 2.4 หมื่นล้านบาท ยืดเยื้อมานาน 33 ปี จนถูกเรียกคดีนี้ว่า “ค่าโง่โฮปเวลล์” ล่าสุด ไทยอาจมีลุ้น ไม่ต้องเสียค่าโง่ เมื่อศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ หลังรับพิจารณาคดีใหม่ เพราะเห็นว่า บริษัทโฮปเวลล์ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คมชัดลึก พาย้อนมหากาพย์ จุดเริ่มต้น คดีโฮปเวลล์ 

โฮปเวลล์

1. โครงการ “โฮปเวลล์” หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อลดปัญหาการให้รถยนต์ต้องหยุดรอรถไฟ ก่อสร้างคร่อมทางรถไฟ ระยะทางทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท และให้ผลตอบแทนรายปี 30 ปี รวม 53,810 ล้านบาท เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

 

 

2. จากนั้น จึงได้มีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ “โฮปเวลล์” โดยผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง ผลการประมูล ปรากฎว่า บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู เป็นผู้ชนะ

 

 

3. ต่อมามีการลงนามในสัญญา โดยนายมนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยนั้น กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 อายุของสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2534 – 5 ธ.ค. 2562 ในระยะแรกใช้ชื่อโครงการว่า Railways Mass Transit (Community Train) and Urban Free System (RAMTUFS)

 

4. แผนงานการก่อสร้าง แบ่งเป็น 5 ระยะ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย

 

  • ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จ 5 ธ.ค. 2538
  • ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และ มักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จ 5 ธ.ค. 2539
  • ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จ 5 ธ.ค. 2540
  • ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และ ยมราช-บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จ 5 ธ.ค. 2541
  • ช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธินิมิตร และ ตลิ่งชัน-บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จ 5 ธ.ค. 2542

โฮปเวลล์

จุดเริ่มต้น คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์”

 

 

5. แต่ปรากฎว่า การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาล เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ ประกอบกับเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร เหมือนในช่วงแรกของรัฐบาลชาติชาย ทำให้แนวโน้มการลงทุนธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง

 

 

6. ปี 2534 ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมด รวมทั้งโครงการโฮปเวลล์ โดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น จนประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ขึ้นมาดำเนินการแทน ในปี 2535

 

 

7. จนมาถึงรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 “โฮปเวลล์” ได้รับการผลักดันต่อ โดย พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ก็เจอกับปัญหามากมาย แต่ประเด็นหลัก ที่ทำให้โครงการไปต่อไม่ได้ เนื่องมาจาก ในสัญญา ไม่ได้ระบุว่า โครงการโฮปเวลล์ จะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้บริษัท โฮปเวลล์ มีสิทธิ์อันชอบธรรม ที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ

 

 

8. ปี 2540 รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติ ครม. ให้บอกเลิกสัญญา หลังจากบริษัทโฮปเวลล์ หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2540

 

 

9. ปี 2541 โครงการโฮปเวลล์ จึงสิ้นสุดลง ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี แต่มีความคืบหน้าเพียง 13.77 % เท่านั้น ซึ่งภายหลังบอกเลิกสัญญา ถือว่าโครงสร้างทุกอย่าง ตกเป็นกรรมสิทธิของการรถไฟ และได้มีความพยายามนำโครงสร้างที่สร้างเสร็จแล้วมาพัฒนาต่อ

 

 

10. ต่อมา บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่าย จากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท

 

 

11. ปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยชี้ขาด ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้กับบริษัท

โฮปเวลล์

 

12. ปี 2557 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟ ไม่ต้องจ่ายค่าไง่หมื่นล้าน ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิงส์

 

 

13. ปี 2562 ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้บังคับคดี ให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชนะคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ภาครัฐจ่าย รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมกว่า 24,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คดีถึงที่สุด

 

 

14. ”จุดตาย” สำคัญที่พบ จนนำไปสู่มหากาพย์ “ค่าโง่โฮปเวลล์” โดยในสัญญาที่รัฐบาลไทยทำไว้กับเอกชน ระบุว่า เอกชนยกเลิกสัญญาได้ แต่รัฐบาลไทยยกเลิกสัญญาไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

 

 

เริ่มต้นรื้อคดีโฮปเวลล์

 

15. แต่จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ที่ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี บ.โฮปเวลล์ ยื่นคำร้องหลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา ถึง 6 ปีกับ 10 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเลยกำหนดระยะเวลา หรือหมด ‘อายุความ’ ที่จะสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมายหรือไม่

 

 

16. ปี 2565 ศาลปกครองสูงสุด โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้น รับคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ที่ขอให้หยิบคดีนี้มารื้อฟื้นใหม่ ไว้พิจารณาในที่สุด

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

 

17. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นับเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ใช้ไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่และให้งดการบังคับคดีเดิมทั้งหมด นั่นแปลว่าแปลว่า ‘คำพิพากษาเดิม’ (ให้จ่ายค่าโง่รวม 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งพีระพันธุ์บอกว่า ถ้ารวมดอกเบี้ยด้วยก็ 3 หมื่นล้านบาท) มันจบไปแล้ว

 

 

18. ล่าสุด 18 ก.ย. 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565

 

 

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางเห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นั่นหมายความว่า ไทยอาจมีลุ้นไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน ปิดฉากมหากาพย์ “ค่าโง่โฮปเวลล์” กินเวลายาวนาน 33 ปี

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ