ทำแน่ 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' พร้อมสะสางปัญหารถไฟฟ้าสายที่ค้างคา
"สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.คมนาคม เข้าทำงานวันแรก ขอนักข่าวอย่าเพิ่งถามขอรับนโยบายก่อน นักข่าวเปิดฉากถาม "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" "สุริยะ" บอกทำแน่แต่ขอเวลา 2 ปี ส่วนโครงการอื่นๆ ที่ค้างคาพร้อมสะสาง รอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดก่อน
09.00 น. วันที่ 7 ก.ย. 2566 "นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เดินทางเข้าที่ทำงานวันแรก ถือได้ว่าเป็นการกลับเข้าบ้านหลังเก่า งานนี้ว่ากันว่าคนนี้ไม่ผิดฝาผิดตัว เพราะหากรัฐบาลที่มาจากฝั่งที่เรียกตัวเองว่า "ประชาธิปไตย" เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมต้องเป็นของเขา
บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีเหล่าข้าราชการประจำกระทรวงให้การต้อนรับตั้งแต่ก้าวเท้าลงจากรถ ทั้งรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 คน ได้แก่ นางมนพร เจริญศรี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รวมถึง ดร.ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวง
ภาระกิจแรกของ "นายสุริยะ" คือ เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำประทรวง หลังจากนั้นพบปะสื่อมวลชน พร้อมเริ่มต้นประโยคทีเล่นทีจริงว่า ดูจากสายตาสื่อมวลชนแล้วคงมีคำถามมากมาย แต่ขอร้องอย่าเพิ่งถามวันนี้ ขอเข้ารับนโยบายก่อน แต่สื่อมวลชนยังคงทำหน้าที่เช่นเคย เริ่มต้นด้วยคำถาม อัตราค่าโดยสาร "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" และโครงการรถไฟฟ้าที่ยังค้างคาเป็นมหากาพย์
"นายสุริยะ" บอกว่า ต้องขอโทษกับประชาชนผู้ใช้รถไฟฟ้า เพราะตอนแรกบอกว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงคือ นโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" เป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนเนื่องจากเป็นภาระค่าใช้จ่ายกับคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก บางคนต้องต่อ 3-4 สาย พรรคเพื่อไทยเองก็ได้ไปดูความจำเป็น แต่มันมีขั้นตอนต้องใช้เวลาเจรจากับผู้รับสัมปทาน เพราะเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน มีรถไฟฟ้าหลายสายหลาย
รวมถึงการจัดทำระบบตั๋วร่วมที่ต้องจ่ายเกือบ 1,000 ล้านบาท หากจะสั่งวันนี้เพื่อจะทำให้ได้ราคา 20 บาทตลอดสาย เชื่อว่าน่าจะใช้เวลาราว 2 ปี จะทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ยืนยันดูแลคนทั้งประเทศไม่ว่าจะเลือกพรรคเราหรือไม่
""รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" เราทำแน่ แต่ขอเวลาก่อน ต้องไปคุยกับเอกชน ต้องวิเคราะห์ตัวเลข โครงการที่ยังค้างคาเดินหน้าแน่ แต่ต้องรอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด" "นายสุริยะ" ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ได้มีการมอบหมายงานไปแล้วหรือไม่ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวถึงการมอบหมายงานให้ "นายสุรพงษ์" กำกับดูแลงานในส่วนของระบบราง โดยเฉพาะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่ล่าช้าจากแผนและต้องเร่งแก้ไข ยกตัวอย่างการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมไปถึงกำกับดูแลกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่ต้องควบคุมดูแลระบบรางทั้งระบบ
"นายสุริยะ" ตอบว่า "ตอนนี้ยังไม่ได้รับนโยบาย รักษาผมไว้หน่อย ผมไม่อยากทำผิดรัฐธรรมนูญ รออีก 3-4 วัน รอหน่อย หลังจากรับนโยบายเสร็จ ผมจะไปแต่ละกรม" "สุริยะ" ตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มบวกกับน้ำเสียงทีเล่นทีจริง
ด้าน "นายสุรพงษ์" บอกว่า พร้อมทำงานอยู่แล้ว ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในระบบทั้งหมดจึงไม่มีอะไรน่ากังวล ส่วนการทำงานจะดูว่าสามารถนำทรัพยากรอะไรที่มีมาใช้ก่อนได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทันทีกับประเทศชาติ
ขณะที่กระแสข่าวของการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม ในโควต้าของทุนเอกชนนั้นมองว่า การที่ได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่นี้ ต้องเป็นบุคคลที่มีความพร้อม มีความสามารถ และทำงานได้