ข่าว

ส่อง 'โครงการค้างท่อ' กระทรวงคมนาคม งานหิน 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่อง 'โครงการค้างท่อ' กระทรวงคมนาคม งานหิน 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' รอเคาะสนิม รวมโปรเจกต์ใหม่ 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย'

การจัดตั้งรัฐบาล และการประกาศตัวรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง “ครม.เศรษฐา 1” เป็นอันเสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่า แต่ละกระทรวงจะดำเนินการสานฝันนโยบาย และโครงการตกค้างจากรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ภายใต้เจ้ากระทรวงหูกวาง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่มีโครงการค้างท่อ รออยู่หลายโปรเจกต์ที่สำคัญ รวมทั้งต้องศผลักดันภารกิจสำคัญใหม่ คือ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน

โครงการค้างท่อ

 

 

1. โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุน 3.2 แสนล้านบาท

 

2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) โครงการนี้ถูกพ่วงสัญญาการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสาย (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์ดีที่สุด แต่เป็นการประมูลที่ถูกตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น หลักเกณฑ์ตัดสินผู้ชนะประมูล ข้อเสนอรับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้าง การกำหนดเงื่อนไขผู้เข้าประมูลที่อาจเข้าลักษณะการกีดกัน

 

 

ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สรุปสถานะโครงการก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดเดินรถให้บริการประชาชนได้ เนื่องจากสัญญาเดินรถ ได้รวมอยู่กับสัญญาการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ

รถไฟฟ้าสายสีแดง

 

3. โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 5 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท คือ ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กม. ทั้ง 2 สายรวมวงเงิน 47,000 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กิโลเมตร วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาในปี 2566

 

4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการนี้เป็นปัญหาระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับภาระหนี้คงค้างกับเอกชนคู่สัญญารวมประมาณ 50,000 ล้านบาท และยังมีภาระที่ต้องรับโอนบริหารโครงการจาก รฟม. ซึ่งต้องชำระค่างานโยธาก่อสร้างส่วนต่อขยายรวมประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยหาก กทม.ยังไม่สามารถเคลียร์หนี้ และรับโอนสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมาดูแล ก็จะทำให้ กทม.ไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายดังกล่าว และไม่มีเงินสะสมเพื่อไปชำระค่าจ้างแก่เอกชนตามสัญญา

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

5. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กิโลเมตร วงเงิน 59,399.80 ล้านบาท เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 36,683 ล้านบาท

 

 

ในส่วนของกรมทางหลวง ก็มี 4 โครงการ ที่เตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคม และ ครม.ชุดใหม่ พิจารณาเห็นชอบและอนุมัติ วงเงิน 145,880 ล้านบาท ประกอบด้วย

 

 

1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ล่าง ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร วงเงิน 56,035 ล้านบาท ปัจจุบันผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการพีพีพี) แล้ว โดย ทล.จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบหลักการเพื่อขอใช้เงินกู้ หากผ่านความเห็นชอบ จะเริ่มประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนภายในกลางปีหรือปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2572

 

 

2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนก่อสร้าง 15,260 ล้านบาท เบื้องต้นกรมจะเสนอต่อ ครม. ขอใช้แหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินการก่อสร้างงานโยธา หลังจากนั้นจะเจรจาร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อขอใช้แหล่งเงินกู้ หากได้ข้อสรุปแหล่งเงินกู้แล้วจะเสนอต่อ ครม.อีกครั้ง เพื่อพิจารณาเห็นชอบการประมูลโครงการ คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลและดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ส่วนงานติดตั้งระบบและบำรุงรักษา เบื้องต้นกรมจะใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างเอง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

 

 

3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานโยธา 30,125 ล้านบาท ค่าเวนคืน 78 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,155 ล้านบาท ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการพีพีพีแล้ว โครงการจะใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดย ทล.จะเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างงานโยธาและจ้างเอกชนบริหารจัดการ อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี โครงการนี้ กรมจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและ ครม.ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบด้วยเช่นกัน

 

 

4. โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กิโลเมตร โดย ทล.จะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติก่อสร้างช่วงแรก ได้แก่ ช่วงที่ 1 ช่วงนครชัยศรี-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 43,227 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783 ล้านบาท และค่าเวนคืน 12,287 ล้านบาท ปัจจุบัน ทล.อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (2567-2571) หาก ครม.พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนต่อไป โดยกระบวนการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

 

 

ขณะที่ โครงการที่มาจากนโยบายหาเสียง คือ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ สุริยะ ก็ประกาศเดินหน้าทันที เพราะถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุน ดังนั้น จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง รฟม. และกรมการขนส่งทางราง เพื่อดูแนวทางถึงแหล่งเงิน รวมถึงวางกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ

 

 

ทั้งนี้ มีการศึกษาตามกลุ่มเป้าหมายผู้เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง ใน 2 กรณี คือ

 

  1. กลุ่มประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไป
  2. กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไป หากรัฐจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย คาดว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐรวม 5,446 ล้านบาท/ปี ส่วนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดว่า จะต้องใช้เงินจากภาครัฐอุดหนุนรวม 307.86 ล้านบาท/ปี

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : กรุงเทพธุรกิจ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ