กรมวิชาการเกษตร ดันนวัตกรรมตรวจวิเคราะห์จีเอ็มโอลดต้นทุน-ขั้นตอนการตรวจ
กรมวิชาการเกษตร ดันนวัตกรรมตรวจวิเคราะห์จีเอ็มโอลดทั้งต้นทุนและขั้นตอนการตรวจ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าเกษตรรวมไปถึงประชาชนหรือกลุ่มเกษตรกรที่อุปโภคสินค้ามีความปลอดภัยต่อการบริโภคอาหารของประเทศไทย
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 13 ของโลก แต่ปัจจุบันสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศภายใต้ความท้าทายที่มากขึ้นในหลายมิติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเกิดโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความเข้มงวดของกฎระเบียบทางการค้าและข้อตกลงระหว่างประเทศ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่มีหน้าที่กำกับดูแลการนำเข้าพืชที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ซึ่งกำหนดให้พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรมจากทุกแหล่งเป็นสิ่งต้องห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2553
ล่าสุดได้มีการพัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์พืชและสินค้าพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 เป็นมาตรฐานสากล ในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดเวลาและต้นทุนค่าตรวจวิเคราะห์ ทำให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2561 ระดับชมเชย ประเภทงานด้านบริการวิชาการ ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการส่งออก-นำเข้าสินค้าของตนเอง เป็นการเพิ่มศักยภาพการส่งออกให้กับผู้ประกอบการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าเกษตรรวมไปถึงประชาชนหรือกลุ่มเกษตรกรที่อุปโภคสินค้ามีความปลอดภัยต่อการบริโภคอาหารของประเทศไทย
สำหรับ มาตรฐาน ISO/IEC 17025 เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นสามารถลดขั้นตอนการทำทดสอบซ้ำจากเดิมทำ 3 รอบเหลือเพียงรอบ เดียว ทำงานได้รวดเร็วขึ้น สามารถควบคุมคุณภาพผลการทดสอบให้ได้ค่าที่ถูกต้องแม่นยำ และน่าเชื่อถือ ป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทดสอบทุกขั้นตอน เฝ้าระวังความใช้ได้ของวิธีการทดสอบ ครอบคลุมการควบคุมปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกได้ และเพื่อความสะดวก รวดเร็ว กรมวิชาการเกษตร ให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอและออกใบรับรอง พืชที่ตัดต่อและไม่ตัดต่อสารพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ผ่านระบบ Nation Single Window (NSW)
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการขยายผลให้ครอบคลุมชนิดตัวอย่างกลุ่มพืชที่สำคัญ ได้แก่ การตรวจยีนจำเพาะ เช่น ถั่วเหลือง Roundup Ready, ข้าวโพด Mon810, NK603 เป็นต้น เพื่อตรวจคัดกรองสินค้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่รวดเร็ว แม่นยำ ได้มาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรให้มีระบบการผลิตที่เข็มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและดีต่อสุขภาพ และยังสามารถส่งออกอาหารคุณภาพเพื่อผู้บริโภคทั่วโลก