ข่าว

ส่องรายได้ ‘โรงงานยาสูบ’ กำไรหด แต่แจกโบนัสทุกปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันงดสุบบุหรี่โลก 2566 : ส่องผลประกอบการของ การยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ โรงงานยาสูบ มีรายได้ กำไร เท่าไร แต่ที่แน่ๆ 3 ปี ที่ผ่านมาพบแจกโบนัสพนักงานทุกปี และมีปัญหาอะไรบ้างกับอุตสาหกรรมนี้ ดูรายละเอียดได้ที่นี่ 

วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) เพื่อให้เห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพและโทษของบุหรี่ การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก

 

เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2566 “คมชัดลึก” ทำการรวบรวมข้อมูลของการยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า โรงงานยาสูบ 1 ในรัฐวิสาหกิจของไทย เพื่อให้เห็นภาพของรายได้ กำไร ที่บอกได้ถึงแนวโน้มสถานการณ์การสูบบุหรี่ของประเทศไทย

ส่องรายได้ ‘โรงงานยาสูบ’ กำไรหด แต่แจกโบนัสทุกปี

ประวัติย่อๆจากโรงงานยาสูบทรานฟอร์มสู่การยาสูบแห่งประเทศไทย

 

การยาสูบแห่งประเทศไทย (Tobacco Authority of Thailand) ชื่อย่อ ยสท. (TOAT) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบุหรี่สำเร็จรูป 

 

ปัจจุบันผลิตบุหรี่ทั้งสิ้น 18 ตรา และเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องนำรายได้งเป็นรายได้ของรัฐเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 โดยการยกฐานะ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง (Thailand Tobacco Monopoly) ชื่อย่อ รยส. (TTM) ขึ้นเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561

ส่องรายได้ ‘โรงงานยาสูบ’ กำไรหด แต่แจกโบนัสทุกปี

ยุคการยาสูบแห่งประเทศไทย

 

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ "พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561" มีผลใช้บังคับในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ระบุเหตุผลในการประกาศใช้ว่า "โดยที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่ไม่เป็นนิติบุคคล ทำให้มีข้อจำกัดบางประการในการดำเนินกิจการ 

 

ประกอบกับการผลิตบุหรี่ซิกาแรตเป็นกิจการผูกขาดของรัฐ สมควรดำเนินการโดยนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะ และกำหนดให้มีคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทยซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่และมีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการอันจะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมและขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

 

รวมทั้งส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงและควบคุมมาตรฐานการผลิต โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมจึงจำเป็นต้องตรากฎหมายนี้"

 

เปิดสถิติรายได้การยาสูบแห่งประเทศไทย (โรงงานยาสูบ)

 

2560 

  • รายได้ 68,175 ล้านบาท 
  • กำไร 9,343 ล้านบาท

 

2561 

  • รายได้ 51,566 ล้านบาท 
  • นำส่งรัฐ 49,762 ล้านบาท 
  • กำไร 843 ล้านบาท

 

2562 

  • รายได้ 50,292 ล้านบาท 
  • นำส่งรัฐ 48,478 ล้านบาท
  • กำไร 513 ล้านบาท

 

2563 

  • รายได้ 45,462 ล้านบาท 
  • นำส่งรัฐ 42,315 ล้านบาท
  • กำไร 550 ล้านบาท

 

2564

  • รายได้รวม 48,025 ล้านบาท
  • นำส่งรัฐ 47,246 ล้านบาท
  • กำไรรวม 1,920 ล้านบาท 

 

2565 

  • รายได้ 39,119 ล้านบาท 
  • นำส่งรัฐ 39,089 ล้านบาท
  • กำไร 120 ล้านบาท

 

ส่องข้อมูลการแจกโบนัสพนักงาน

 

การแจกโบนัสพนักงานการยาสูบฯ แบ่งมาจากกำไรสุทธิ ซึ่งข้อมูล 3 ปี ย้อนหลังพบว่าการยาสูบแจกโบนัสพนักงานทุกปี ดังนี้

  • 2565 จำนวนโบนัสรวม  8.70 บาท (พนักงาน 2,376 คน)
  • 2564 จำนวนโบนัสรวม 108.58 ล้านบาท จำนวนพนักงาน 2,463 คน
  • 2563 จำนวนโบนัส 106.67 ล้านบาท จำนวนพนักงาน 2,574 คน 
  •  

ส่องรายได้ ‘โรงงานยาสูบ’ กำไรหด แต่แจกโบนัสทุกปี
 

เหตุผลที่กำไรลดลง

 

คมชัดลึก รวบรวมข้อมูลจากรายงานประจำปียาสูบ 2565 ระบุถึงปัจจัยที่มีผลกระทบหลักต่อกิจการ ดังนี้

 

การปรับอัตราภาษีที่จะทำให้บุหรี่มีราคาใกล้เคียงกันหมดในปีงบประมาณ 2565 ภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่ประกาศใช้ในเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2560 นั้นทำให้บุหรี่ถูกจัดเก็บภาษีเป็นสองกลุ่มโดยมีราคากลาง 60 บาทเป็นตัวแบ่งกลุ่ม 

 

แต่ในปีงบประมาณ 2565 บุหรี่ทั้งหมดจะต้องจัดเก็บภาษีที่อัตราเท่ากันซึ่งจะทำให้บุหรี่ทุกกลุ่มที่ตราที่เคยมีความแตกต่างกันด้านราคาจากคุณภาพและภาพลักษณ์มีราคาใกล้เคียงกันหมดโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เคยจัดอยู่ในกลุ่มราคาประหยัดจะมีราคาใกล้เคียงกับบุหรี่ราคาสูงก่อนการประกาศใช้อัตราภาษีใหม่ กระแสผลักดันให้ห้ามผลิตบุหรี่เมนทอลใน WHO และ FCTC

 

กระแสการต่อต้านให้รัฐสมาชิกสั่งห้ามบุหรี่เมนทอลทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆในช่วงไม่กี่ปีมานี้และคาดว่าจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในอนาคตอันใกล้องค์การระหว่างประเทศซึ่งพยายามต่อต้านการบริโภคยาสูบมีความเห็นว่าการใช้สารปรุงแต่งกลิ่นรสประเภทใดๆ ที่ทำให้การสูบบุหรี่“ง่าย”ขึ้นหรือมีกลิ่นอายรสชาติดีขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถเลิกบริโภคบุหรี่ได้

 

โดยมีเป้าหมายสำคัญคือบุหรี่เมนทอลที่ทำให้บุหรี่มีความเย็นและไม่ระคายคอ การเปิดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่ใช่บุหรี่เป็นสิ่งถูกกฎหมาย

 

ในปัจจุบันท่าทีของการควบคุมยาสูบในประเทศไทยยังคงยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ทดแทนบุหรี่รูปแบบใหม่เป็นอันตรายและห้ามจำหน่ายในประเทศ 

 

กระนั้นประชาคมระหว่างประเทศเริ่มเห็นพ้องต้องการจากหลักฐานทางวิชาการต่าง ๆ ว่าผลิตภัณฑ์ทดแทนไม่ได้มีอันตรายมากไปกว่าบุหรี่และสมควรเปิดให้มีการจำหน่ายและบริโภคเพื่อลดการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิมที่อันตรายกว่า 

 

ซึ่งคาดว่าหากกระแสโลกยังคงเป็นไปในทางนี้ประเทศไทยย่อมไม่สามารถฝืนความต้องการของผู้บริโภคและหลักฐานงานวิจัยต่าง ๆ ได้และต้องเปิดเสรีให้มีการจำหน่ายและบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่ใช่บุหรี่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ส่องรายได้ ‘โรงงานยาสูบ’ กำไรหด แต่แจกโบนัสทุกปี

 

พบปัญหาด้านการจำหน่าย

ข้อมูลจากรายงานของการยาสูบระบุด้วยว่า นโยบายภาครัฐที่มีผลอย่างมากต่อธุรกิจบุหรี่ในประเทศไทย คือ นโยบายภาษีเพื่อสุขภาพ หรือ HealthTax ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้เพิ่มภาระภาษีและราคาของสินค้าที่ให้โทษต่อสุขภาพของประชาชน เช่น สุรา ยาสูบ น้ำหวาน เป็นต้น 

 

ซึ่งในด้านหนึ่งรัฐต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น จะได้ลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุข (Public Health Financing) แต่ในอีกด้านหนึ่งนโยบายภาษีเป็นเครื่องมือในการหารายได้เข้ารัฐเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและการพัฒนาประเทศ โดยภาษียาสูบเป็นหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญสำหรับประเทศไทยซึ่งมีประชากรไม่ถึงร้อยละ 10 ที่เสียภาษีเงินได้ทำให้ ยสท. ต้องรับภาระในการนำส่งรายได้ผ่านการจัดเก็บภาษีรูปแบบต่างๆ

 

ทั้งนี้จากการประกาศอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ของกรมสรรพสามิตที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม2564 ถือเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจบุหรี่ของ  ยสท. เพราะการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบทำให้บุหรี่ถูกกฎหมายทุกตราในตลาดปรับราคาเพิ่มขึ้น

 

โดยบุหรี่ซิกาแรตที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน ซองละ 72 บาท ตามมูลค่าให้ใช้อัตราภาษี 25% และตามปริมาณ 1.25     บาทต่อมวน ราคาขายปลีกแนะนำเกินซองละ 72 บาท ตามมูลค่าให้ใช้อัตราภาษี 42% และตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน

 

การที่บุหรี่ถูกกฎหมายทุกตราในตลาดปรับราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ขนาดตลาดบุหรี่ในประเทศโดยรวมหดตัวลดลงร้อยละ 18 โดยเฉพาะบุหรี่ ยสท. ที่หดตัว ทั้งขนาดตลาดปริมาณและรายได้การจำาหน่ายบุหรี่ที่ลดลงอย่างมาก

 

ผ่าปัญหาลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมาย

 

นอกจากนี้ยสท. ยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศ ด้วยปัจจัยด้านราคาบุหรี่ถูกกฎหมายที่ปรับสูงขึ้นภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560เมื่อวันที่16กันยายน 2560 และปรับเพิ่มเมื่อวันที่1ตุลาคม 2564 ทำให้มีการลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของยสท.และบุหรี่หนีภาษีซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก 

 

และแนวโน้มสถานการณ์บุหรี่ผิดกฎหมายจะทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องตามตัวเลขบุหรี่ผิดกฎหมายทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่า70% 

 

จากสัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายร้อยละ6.2ในปี 2563 เป็นร้อยละ 10.3 ในปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มจำนวนที่สูงที่สุดของบุหรี่ผิดกฎหมายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี2554ร้อยละ2.3)คำนวณเป็นปริมาณประมาณ 4,000 ล้าน มวนต่อปีซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐลดลงประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี โดยพบว่าพื้นที่กว่าร้อยละ77 ที่พบมาจาก 5 จังหวัดภาคใต้รวมถึงระนองและภูเก็ต

 

ส่องรายได้ ‘โรงงานยาสูบ’ กำไรหด แต่แจกโบนัสทุกปี

 

การลักลอบนำบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. พบได้จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวชายแดนติดกับภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรีตราด สระแก้ว บุรีรัมย์สุรินทร์ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

 

โดยบุหรี่ของ ยสท. ที่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตราที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศ จำนวน 3 ตรา ได้แก่ SMS และ WONDER S มีราคาขายปลีกตามประกาศซองละ66 บาท และกรองทิพย์90 ซองละ 102 บาท แต่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยมีราคาจำหน่ายจากต้นทางประเทศเพื่อนบ้าน เพียงซองละ 12 - 13 บาท เท่านั้น

 

จากปัจจัยความต่างด้านราคาดังกล่าว ทำให้ร้านขายปลีกลักลอบนำไปจำหน่ายปะปนกับบุหรี่ถูกกฎหมายในราคาเท่ากับราคาประกาศตามกฎหมายโดยที่ผู้บริโภคตรวจสอบได้ยากและตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอม 

 

โดยในปีงบประมาณ 2563 – 2565 ยสท. มีการดำเนินคดีกับผู้ค้าบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของยสท.จำนวน 138 คดี บุหรี่ของกลาง จำนวน 168,275 ซอง

 

สำหรับบุหรี่หนีภาษีราคา ซองละ 30 - 35 บาท พบมากในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งการค้าบุหรี่หนีภาษีทำเป็นขบวนการใหญ่ ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางทะเลในปริมาณมาก หรือใช้วิธีแจ้งขนส่งไปยังประเทศที่ 3 ส่งผ่านประเทศไทย และลักลอบถ่ายลำเรือนำกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย 

 

ซึ่งเดิมบุหรี่หนีภาษีมีจำหน่ายในวงจำกัดเฉพาะอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ปัจจุบันตลาดบุหรี่หนีภาษีเติบโตและขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการสำรวจในปีงบประมาณ 2564 - 2565 พบมีร้านค้าขนาดใหญ่ที่เปิดหน้าร้านจำหน่ายบุหรี่หนีภาษีอย่างเปิดเผย ไม่เกรงกลัวกฎหมายทั้งแบบขายส่งและขายปลีก

 

ส่วนร้านขายปลีกหรือร้านขายของชำที่กระจายอยู่ในชุมชนต่าง ๆ จะลักลอบจำหน่ายปะปนกับสินค้าอื่น ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและหาซื้อได้ง่าย  แม้ว่าจะมีการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องแต่ยังมีบุหรี่ผิดกฎหมายอีกจำนวนมากที่อยู่ในตลาดการค้าบุหรี่ซึ่งเป็นภัยคุมคามของบุหรี่ ยสท. รวมถึงตลาดบุหรี่ถูกกฎหมายในประเทศทั้งระบบ ที่อาจจะหดตัวต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและจริงจัง

 

พบความนิยมบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น

 

ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2564 พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 0.14 ของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป ที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคน เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครและภาคกลางจำนวน 47,753 คน

 

ขณะที่คนไทยที่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้าเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดา คิดเป็นอัตราร้อยละ 26.7 เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่าคิดเป็นอัตราร้อยละ11.3 และเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดามีอันตรายเท่ากัน คิดเป็นอัตราร้อยละ 62.0 

 

ทั้งนี้ข้อมูลจำนวนและอัตราคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร พ.ศ.2564 ที่เก็บข้อมูลจากทั้งสิ้น 73,654 ครัวเรือนทั่วประเทศ ครอบคลุมประชากรตัวอย่าง 164,406 คน นับเป็นการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพขนาดใหญ ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยทำการสำรวจระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2564 

 

ทั้งนี้จำนวนและอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมอยู่ในอัตราและจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศ คิดเป็นอัตราร้อยละ 17.4 หรือจำนวนคนสูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน

 

ที่มาข้อมูล การยาสูบแห่งประเทศไทยหนังสือรายงานประจำปี 2565
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ