และเมื่อพูดถึง อีวี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่ทำให้ตลาดนี้คึกคักขึ้นมาอย่างชัดเจน ก็คือ เอ็มจี
ทั้งนี้ อีวี นั้นเริ่มต้นจำหน่ายในไทยมาก่อนหน้านี้หลายปี แต่ตลาดยังมีขนาดที่เล็กมาก ในระดับหลักสิบคันหรือหลักร้อยต้นๆ เท่านั้นเอง
ก่อนที่ในปี 2562 เอ็มจี จะตัดสินใจเปิดตลาดอีวีรุ่นแรกในไทย คือ MG ZS EV ได้รับการตอบรับที่ดีเป็นอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว และมีผลผลักดันตลาดรวมอีวีในไทยให้ขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน สู่ระดับหลักพันคันเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมา ตลาดอีวีก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเมื่อบวกกับการมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มในตลาดอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้การขยายตัวโดดเด่นมากขึ้น
การมีผู้เล่นในตลาดจำนวนมากขึ้น ในแง่ดีคือเป็นการร่วมกันผลักดันการเติบโต และเพิ่มขนาดของตลาดรวม ซึ่งส่งผลดีกับผู้ทำตลาดทุกราย
แต่แน่นอนก็ต้องยอมรับว่า มีการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อชิงพื้นที่ ชิงส่วนแบ่งในเค้กก้อนใหม่ที่กำลังหอมหวาน เพราะแม้ขนาดตลาดจะใหญ่ขึ้น แต่ทุกคนก็ต้องการพื้นที่ตลาดเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในส่วนของเอ็มจี ก็มองในเรื่องของการมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นว่า เป็นสิ่งที่จะทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น และเป็นหน้าที่ของแต่ละค่ายที่จะชิงชัยในตลาดที่เพิ่มขึ้นนี้
และเอ็มจี เชื่อว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งในตลาดเพียงพอที่จะแข่งขันกับคู่แข่งขันทั้งรายเดิมและรายใหม่ จากการเป็นผู้ทำตลาดที่มีสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นแรกที่เปิดตัว และผ่านการไมเนอร์เชนจ์เมื่อไม่นานนี้อย่าง MG ZS EV รถไฟฟ้าในรูปแบบเอสยูวี ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และก็ยังมี MG EP รถไฟฟ้าในรูปแบบสเตขั่น แวกอน ที่มีระดับราคาเข้าถึงได้ง่าย และยังมีจุดเด่นในการเป็นรถที่ใช้งานได้สะดวก ประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย และสามารถจับตลาดได้ทั้งลูกค้าทั่วไป และลูกค้าเชิงพาณิชย์ เช่น แท็กซี่ รวมถึงตลาดฟลีทได้อีกด้วย
อีกรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับที่ดีอย่างรวดเร็ว คือ MG4 Electric รถยนต์นั่งในรูปแบบตัวถังแฮทช์แบ็ค ที่ได้สร้างสีสันให้กับตลาด ด้วยการเป็นรถไฟฟ้าที่มีระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ให้อารมณ์สปอร์ตในการขับขี่ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ได้เคยทดลองขับ จากการเป็นรถที่มีการควบคุมที่ดี ขับสนุก ในระดับราคาไม่ถึงล้าน
และช่วงงานมอเตอร์โชว์ 2023 ที่ผ่านมา เอ็มจี เคลื่อนไหวในตลาดอีวีครั้งใหญ่ ด้วยการแนะนำรถไฟฟ้ารุ่นใหม่มากถึง 2 รุ่น คือ MG ES รถยนต์นั่งในรูปแบบสเตชั่น แวกอน และลงมาเล่นตลาดพรีเมียมด้วยรุ่น MG MAXUS9 ซึ่งเป็นรถกลุ่มเอ็มพีวี
และเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่รถทั้ง 2 รุ่น ได้รับความสนใจและการตอบรับจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว มียอดจองเข้ามาจำนวนมาก แม้ MG MAXUS9 ยังไม่ได้มีการเปิดตัว และเผยราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่ก็เปิดให้ผู้สนใจจองสิทธิ์การซื้อล่วงหน้า ซึ่งพบว่ามียอดจองสิทธิ์มากเกินความคาดหมาย และเร่งเตรียมแผนส่งมอบรถให้ลูกค้าหลังประกาศราคาโดยเร็วที่สุด
อะไร เป็นสิ่งที่ทำให้รถ 2 รุ่นใหม่ ได้รับการตอบรับที่รวดเร็ว
สิ่งแรกที่ต้องพูดถึง คือตัวรถที่สามารถขายตัวเองได้ เช่น MG ES ซึ่งเป็นรถที่ต่อยอดมาจาก MG EP แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์หน้าตา หรือว่ารายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ ทั้งขนาดความจุแบตเตอรีที่เพิ่มขึ้น ทำให้รองรับการขับขี่ในระยะทางที่ไกลขึ้น หรือ มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบาลง แต่สมรรถนะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการขับขี่ที่ดีขึ้น และมีความคล่องตัวมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นความแตกต่างชัดเจน และยังทำให้เอ็มจีสามารถทำตลาดรถทั้ง 2 รุ่นที่มีพื้นฐานเดียวกัน คือ MG EP และ MG ES พร้อมกันได้ โดยที่กลุ่มลูกค้านั้นแตกต่างกัน
ขณะที่ MG MAXUS9 ถือเป็นโมเดลที่เข้ามายกระดับรถไฟฟ้าในตลาดเมืองไทย มีจุดขายในตัวเอง และยังไม่มีคู่แข่งในกลุ่มนี้ จากการเป็นรถเอ็มพีวีแบบ 7 ที่นั่ง ที่ใส่ความลักชูวรีในทุกตำแหน่งที่นั่ง ควบคู่กับการเป็นรถพลังงานสะอาด ซึ่งตรงกับสิ่งที่ลูกค้าจำนวนมากต้องการ
ต้องยอมรับว่าในตลาดนี้ แม้จะยังมีขนาดที่ไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับตลาดรวม แต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง และพร้อมจะตัดสินใจซื้อทันทีถ้าตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง
ความต้องการที่ว่าก็คือ ฟังก์ชันที่เติมเต็มความสะดวกสบายในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นความกว้างขวางของห้องโดยสาร ใส่หลังคา Dual Panoramic Sunroof ที่ทอดยาวถึงด้านหลังทำให้ห้องโดยสารโปร่ง โล่ง ความสบายของเบาะนั่ง Captain Seat ที่มีระบบนวด สามารถปรับอุณหภูมิ ผ่านหน้าจอ Touch Screen ที่เบาะนั่งได้เลย การขึ้นลงที่สะดวกประตูสไลด์ด้านข้างที่เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า รองรับการใช้งานของกลุ่มครอบครัวได้เป็นอย่างดี สามารถจอดรถเพื่อรอรับส่งลูกโดยไม่ต้องดับเครื่องยนต์ รวมไปถึงการเป็นรถสำหรับใช้งานระดับองค์กร
ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ MG MAXUS9 ตอบสนองความต้องการได้อย่างครบถ้วน
ขณะที่ขุมพลัง มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 245 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร แบตเตอรี่มีความจุ 90 kWh รองรับการใช้งานสูงสุด 540 กม. ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (มาตรฐาน NEDC) ซึ่งถือเป็นระยะทางที่ตอบสนองการใช้งานได้จริง ทั้งการเดินทางระยะใกล้ หรือ ระยะไกลก็ตาม
อีกหนึ่งจุดแข็งของเอ็มจี คือ โครงสร้างราคา แม้เอ็มจี จะยังไม่ประกาศราคาอย่างเป็นทางการ แต่จากข้อมูลที่ลูกค้านำมาประมวลผล ก็ค่อนข้างมั่นใจว่า เป็นราคาที่สมเหตุสมผล และอยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับรถในกลุ่มเดียวกัน
นอกจากตัวผลิตภัณฑ์ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงเสริม ก็คือ ความมั่นใจที่เอ็มจี สร้างให้กับผู้บริโภค
เพราะต้องยอมรับว่า อีวี แม้จะทำตลาดมาสักพัก แต่ก็ยังมีผู้บริโภคบางส่วนที่ยังไม่แน่ใจหากต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องของคุณภาพ ความเสถียรในการใช้งาน ปัญหาในการใช้งาน รวมถึงความสะดวกในการใช้งาน รวมถึงการชาร์จไฟ
แต่การที่ เอ็มจี เป็นผู้เริ่มต้นผลักดันอีวีเข้าสู่ตลาดแมส และมีรูปแบบการทำตลาดที่ครอบคลุมในทุกมิติของ ปัจจุบัน เอ็มจี ยังคงเป็นแบรนด์รถไฟฟ้าที่ดำเนินแผนงานลงทุนด้านสถานีชาร์จอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งสถานีชาร์จในพื้นที่เครือข่ายตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ หรือการร่วมมือกับพันธมิตรสถานีบริการน้ำมันบางจาก ติดตั้งสถานีชาร์จในสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันเอ็มจี มีเครือข่ายสถานีชาร์จมากที่สุด พร้อมให้บริการแล้วกว่า 130 แห่ง และยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จต่อเนื่อง
และที่สำคัญ สถานีชาร์จของเอ็มจี เป็นสถานีชาร์จแบบชาร์จเร็ว (DC) ถือเป็นความได้เปรียบของลูกค้าที่ใช้รถไฟฟ้าของเอ็มจี มั่นใจในการใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระยะใกล้หรือการเดินทางไกลและมีเป้าหมายให้ทุกๆ 150 กม. มีสถานีชาร์จรองรับในเส้นทางหลักอย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางได้ทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนจะติดตั้งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศอีกด้วย
เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยในการใช้งานรถไฟฟ้า และสอดรับกับการเติบโตของตลาดรถไฟฟ้าซึ่งจะเห็นได้จากยอดขายอีวีของเอ็มจีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถที่ทำตลาดก่อนหน้านี้ หรือรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาเสริมตลาดก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง