ข่าว

'ค่าไฟแพง' เช็ก 'เครื่องใช้ไฟฟ้า' แต่ละชนิด กินไฟ เท่าไร หากเปิดนาน 1 ชม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดสาเหตุ 'ค่าไฟแพง' ขึ้นแบบจุกๆ เช็ก 'เครื่องใช้ไฟฟ้า' ในบ้านแต่ละชนิด กินไฟ เท่าไร หากเปิดนาน 1 ชม. ชนิดไหน กินไฟ สูงสุด

“ค่าไฟแพง” เรื่องร้อนปรอทแตก ในช่วงเดือน เม.ย. ของทุกปี โดยเฉพาะ เม.ย. 2566 ที่สังคมโซเชียล ต่างแชร์บิล “ค่าไฟฟ้า” ที่พุ่งแทบจะทุกหลังคาเรือน การไฟฟ้าฯ เคยแจงสาเหตุ ค่าไฟแพง เพราะเข้าสู่หน้าร้อนคนใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แค่อากาศร้อนขึ้นเพียง 1 องศาฯ ก็ทำค่าไฟฟ้าพุ่งร้อยละ 3 เป็นสาเหตุให้แม้จะใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ค่าไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น

 

 

ดังนั้น ลองมาเช็กกันดูว่า ในทุก 1 ชั่วโมง “เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟเท่าไร” ชนิดไหน กินไฟ สูงสุด จะได้ช่วยประหยัดค่าไฟ ไม่ต้องเจอ “ค่าไฟแพง” ที่พุ่งสูงปรี๊ดทุกเดือน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้ข้อมูลไว้ ดังต่อไปนี้

 

เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ละชนิด กินไฟ เท่าไร

 

  1. เครื่องปั๊มน้ำ    150 - 200 วัตต์ ชั่วโมงละ 60-80 สตางค์
  2. ตู้เย็น (7-10คิว)    70 - 175 วัตต์ ชั่วโมงละ 28-58 สตางค์
  3. เครื่องทำน้ำอุ่น    3,000 - 5,000 วัตต์ ชั่วโมงละ 12-20 บาท
  4. เครื่องฟอกอากาศ   2 - 25 วัตต์ ชั่วโมงละ 0.8-10 สตางค์
  5. เครื่องปรับอากาศ   1,200 - 3,300 วัตต์ ชั่วโมงละ 5-13 บาท
  6. หลอดไฟ LED T8   16 วัตต์ ชั่วโมงบะ 6.4 สตางค์
  7. notebook   40 - 65 วัตต์ ชั่วโมงละ 16-26 สตางค์
  8. ทีวี    80 - 180 วัตต์ ชั่วโมงละ 32-72 สตางค์
  9. ชาร์จมือถือ 6 วัตต์ ชั่วโมงละ 2.4 สตางค์
  10. เตารีด 750 - 2,000 วัตต์ ชั่วโมงละ 3-8 บาท
  11. เครื่องซักผ้า 3,000 วัตต์ ชั่วโมงละ 12 บาท

 

เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟเท่าไร ใน 1 ชั่วโมง

6 วิธีเซฟ ค่าไฟแพง

 

1. ทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้า

  • เป็นวิธีแรก ที่ช่วยลดการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า และส่งผลต่อการใช้ไฟทันที ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นที่แช่ของมากมายเกินความจำเป็น แอร์ ที่นานๆ ทีจะล้างจนฝุ่นเกาะ, พัดลม, เครื่องกรองอากาศ

 

2. ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า-ถอดปลั๊กออกเมื่อไม่ใช้งาน

  • คนในบ้าน ช่วยกันสอดส่อง หลังเลิกใช้งาน ให้ปิดและถอดปลั๊ก เพื่อลดการจ่ายไฟ ทั้งที่ไม่ได้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสวิตซ์ไฟ, ปลั๊กพัดลม หรือ TV 

 

3. เลือกใช้หลอดไฟ LED

  • ได้เวลาเปลี่ยนหลอดไฟที่เป็นหลอดเก่ากินไฟ มาเป็นหลอด LED ประหยัดไฟ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบประหยัดไฟอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

4. ไม่ชาร์จโทรศัพท์มือถือข้ามคืน

  • สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องชาร์จมือถือทิ้งไว้ทั้งคืน หรือชาร์จตลอดเวลาเพื่อให้เต็มแล้ว สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ใช้ระบบ Fast Charge เพื่อประหยัดเวลา-ประหยัดไฟเวลาชาร์จด้วย

 

5. เปิดแอร์ในอุณหภูมิที่เหมาะสม หรือใช้พัดลมช่วย

  • การเปิดแอร์ กับพัดลมพร้อมๆ กัน ช่วยประหยัดไฟได้ ด้วยการเปิดแอร์ด้วยอุณหภูมิที่สูงหน่อย สัก 26-28 องศาฯ จะทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานน้อยลง จึงทำให้ใช้ไฟได้น้อยลง และการเปิดพัดลมจะช่วยเพิ่มความเร็วลม ทำให้ความเย็นกระจายตัวได้มากขึ้น เมื่อมีลมเยอะ อากาศจะลดลงกว่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ 1-2 องศา วิธีนี้จะช่วยประหยัดไฟ ในช่วงหน้าร้อนที่ต้องเปิดแอร์อยู่ตลอดได้

 

6. เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลาก ประหยัดไฟเบอร์ 5

  • เพราะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าทีได้รับการการันตีแล้วว่า ประหยัดไฟจริง ตามมาตรฐานที่ กฟผ. และกระทรวงพลังงานกำหนด

 

สาเหตุค่าไฟแพง

 

การไฟฟ้านครหลวง ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจากช่วงนี้ไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้น และใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยเห็นได้จากค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ล่าสุด มีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย. 2566 

 

สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือ เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ เช่น ในสภาวะอากาศปกติ เช่น อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากเราปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส

 

ทั้งนี้ จากการทดสอบพบว่า อุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 3 ถึงแม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม ประกอบกับในช่วงอากาศร้อน พฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

 

 

 

 

ที่การ : การไฟฟ้านครหลวง,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ