ข่าว

ดัน ‘โครงการผันน้ำยวม‘ เติม ‘เขื่อน​ภูมิพล’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลักดัน โครงการผันน้ำผ่านอุโมงค์ส่งน้ำจากแม่น้ำยวม เติม "เขื่อนภูมิพล" ช่วยลดค่าความเค็ม "แม่น้ำเจ้าพระยา"

 

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางทั้ง 22 จังหวัด ทั้งภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม ช่วงที่เกิดภัยแล้งโดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นเฉลี่ยทุกห้าปี จากกระแสลมกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง 
 

 

ในบางปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้อยประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงจะได้รับผลกระทบเรื่องค่าความเค็มส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเกิดแนวคิดในการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ด้วยการผันน้ำผ่านอุโมงค์ส่งน้ำจากแม่น้ำยวมซึ่งเป็นสายน้ำในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ไหลลงแม่น้ำเมย แล้วไหลต่อไปยังแม่น้ำสาละวินบริเวณชายแดนไทย แล้วออกสู่ทะเลที่อ่าวเมาะตะมะประเทศเมียนมา โดยที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร


จึงเล็งเห็นว่าโครงการผันน้ำผ่านอุโมงค์ส่งน้ำจากแม่น้ำยวม จะผันน้ำมาเติมให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้ถึงปีละ 1,795 ล้าน ลบ.ม. ข้อมูลจากชลประทานระบุว่า ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้แบ่งออกเป็นปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร 1,495 ล้าน ลบ.ม./ปี ปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 300 ล้าน ลบ.ม/ปี นอกจากนี้ยังสามารถ นำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 417 ล้านหน่วย/ปี 
 

 

ในบางปีที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แม่น้ำเจ้าพระยาจะมีค่าความเค็มสูงจากน้ำทะเลหนุน ซึ่งทางกรมชลประทานได้มีการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลค่าความเค็มที่ได้ไปวิเคราะห์ ประกอบการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 


นอกจากนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังเป็นอีกหนึ่งแหล่งน้ำดิบ นอกจากเขื่อนแม่กลอง เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาให้กับคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลบางส่วน เมื่อถึงปีที่ต้องประสบปรากฏการณ์เอลนีโญ กรมชลประทานจะมีการเตรียมมาตรการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการผลักดันลิ่มความเค็มเจ้าพระยา (Water Hammer) การปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสัก เพื่อผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งการผันน้ำ จากแม่น้ำแม่กลอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เข้าสู่แม่น้ำ เจ้าพระยาเพื่อผลักดันน้ำ เค็มให้เจือจางลงได้ 


แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่จำกัดของเขื่อนหลัก และปริมาณน้ำที่ไหลลงต้นเขื่อนมีแนวโน้มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไม่สามารถปล่อยน้ำเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลที่เป็นหนึ่งในเขื่อนหลัก ตั้งอยู่ในจังหวัดตากสร้างกั้นแม่น้ำปิง ซึ่งมีความจุใช้งาน 9,662 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเพียงเฉลี่ยปีละ 5,626 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งจากสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2558 รวม 25 ปี เขื่อนภูมิพลมีระดับน้ำ เต็มอ่างเก็บน้ำ เพียง 3 ปี เท่านั้น คือ พ.ศ. 2545, พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2554 นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งมาจากพื้นที่ต้นน้ำมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของเมือง 
 

แนวคิดในการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ด้วยการผันน้ำผ่านอุโมงค์ส่งน้ำจากแม่น้ำยวมจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล ข้อมูลจากกรมชลประทาน ระบุว่า จะมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการผันน้ำยวม คือ โครงการชลประทานตามแนวแม่น้ำปิงตอนล่าง จังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์ และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่ทางการเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 


ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายงานสถานการณ์ค่าความเค็ม และปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
ประจำวันได้ที่ http://hydrology.rid.go.th/sediment-wq/index.php/th/
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ