ข่าว

เกาะติดภารกิจ”กองตรวจสอบและปฏิบัติการ” 'สายตรวจมือปราบ' กรมการค้าภายใน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกาะติด ปฏิบัติ กองตรวจสอบและปฏิบัติการหรือ ตป. เป็น 1 ใน 14 หน่วยงานในสังกัดกรมการค้าภายในหรือคน. กระทรวงพาณิชย์

กองตรวจสอบและปฏิบัติการหรือ ตป. เป็น 1 ใน 14 หน่วยงานในสังกัดกรมการค้าภายในหรือคน. กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจสำคัญในการติดตาม กำกับ ดูแลสถานการณ์สินค้าให้มีปริมาณเพียงพอ

 

ป้องกันและปราบปรามมิให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

เกาะติดภารกิจ”กองตรวจสอบและปฏิบัติการ” 'สายตรวจมือปราบ' กรมการค้าภายใน

มีการติดตามตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยรับเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือผ่านเครือข่ายอาสาธงฟ้าทั่วไทยและอื่น ๆ

ตป. จึงเปรียบเสมือนหน่วยเฉพาะกิจที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อคุ้มครองดูแลประชาชนผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม จากการซื้อสินค้าหรือบริการ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ

เกาะติดภารกิจ”กองตรวจสอบและปฏิบัติการ” 'สายตรวจมือปราบ' กรมการค้าภายใน

จึงไม่แปลกหากพบเห็นเจ้าหน้าที่ตป.หรือสายตรวจพาณิชย์ทุกครั้งในทุกพื้นที่เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียน หรือเบาะแสการพบเห็นผู้กระทำผิด จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ

"ตป.ก็เหมือนตำรวจกองปราบที่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้ทั่วราชอาณาจักร เพียงแต่ถือกฎหมายคนละฉบับ ตป.จะเน้นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542”

 

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงภารกิจกองตรวจสอบและปฏิบัติการหรือตป. หน่วยงานสำคัญสังกัดกรมการค้าภายในว่ามีหน้าที่ในการกำกับดูแลสินค้า โดยจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจสอบสถานการณ์และราคาสินค้าเพื่อป้องกันและปราบปรามมิให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและเกษตรกร และการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม กำกับดูแลสินค้าให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค รวมทั้งตรวจสอบติดตามให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เกาะติดภารกิจ”กองตรวจสอบและปฏิบัติการ” 'สายตรวจมือปราบ' กรมการค้าภายใน

โดยการตรวจสอบนั้นจะดำเนินการเชิงรุกอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังและเป็นการคาดการณ์เตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่สินค้าและบริการจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา

 

นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบตามคำร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมการค้าภายในสายด่วน 1569 และช่องทางอื่น ๆ เช่น มาร้องเรียนด้วยตนเองที่กรมการค้าภายใน หรือทาง line OA ทางอีเมล จดหมาย โทรสารหรือตู้ปณ1 ปณฝ.กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น 

 

หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลตามที่ร้องเรียนในทันที ถ้าเป็นเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมและข้อเท็จจริงไม่ยุ่งยากซับซ้อนนักจะรีบดำเนินการโดยเร็ว

 

ไม่ว่าจะเป็นการไม่ปิดป้ายแสดงราคา การค้ากำไรเกินควร หรือแม้กระทั่งการกักตุนสินค้าและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากความผิดที่มีอัตราโทษเปรียบเทียบปรับสถานเดียว และผู้กระทำผิดรับสารภาพ กฎหมายก็จะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการเปรียบเทียบปรับได้ แต่หากเป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูงหรือมีอัตราโทษจำคุกด้วยก็จะส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป แต่หากอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นก็จะแจ้งให้หน่วยงานนั้นรับทราบภายใน 1 วันทำการเพื่อดำเนินการต่อไป 

 

รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวต่อว่าสำหรับการปฏิบัติงานนั้นจะมีทั้งทีมเจ้าหน้าที่ของกรมดำเนินการเองและสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจคุ้มครอบผู้บริโภค ตำรวจทางหลวง กอ.รมน.และฝ่ายปกครอง ในการบูรณาการทำงานร่วมกัน

 

กรณีมีการลักลอบขนย้ายสินค้าเกษตรผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือด้วยดี นำมาซึ่งการจับกุมผู้กระทำผิดได้ในที่สุด

             

ด้าน นายสมชาย รัตนสุภา ผู้อำนวยการกองตรวจสอบและปฏิบัติการ กรมการค้าภายใน กล่าวถึงสถิติการได้รับเรื่องร้องเรียนการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยในปี 2566 ผ่านมาตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 22 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียนแล้วทั้งสิ้น 926 เรื่อง หมวดบริการมากที่สุด 279 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นกรณีบัตรคอนเสิร์ตและบริการเสริมสวย รองลงมาเป็นหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 179 เรื่อง

 

ตามด้วยหมวดของใช้ส่วนบุคคล 64 เรื่อง หมวดของใช้ประจำบ้าน 44 เรื่อง หมวดยานยนต์และอุปกรณ์ 40 เรื่อง หมวดการเกษตร 29 เรื่อง หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 26 เรื่อง หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 26 เรื่อง หมวดวัสดุก่อสร้าง 7 เรื่องและหมวดอื่น ๆ อีก 232 เรื่อง ซี่งเพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 ช่วงเวลาเดียวกันที่มีจำนวนทั้งสิ้น 804 เรื่อง

 

ส่วนพฤติการณ์ความผิด 3 อันดับแรกพบว่า ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย(ปลีก)มากที่สุด รองลงมาจำหน่ายราคาแพงเกินควร และการปิดป้ายราคาจำหน่ายไม่ตรงกับราคาที่จำหน่ายจริง  

 

นับเป็นอีกหน่วยงานสำคัญของกรมการค้าภายในที่มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์สินค้าและบริการ พร้อมติดตามจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ