ข่าว

เช็ก 10 จังหวัด 'เงินฝาก' สูงสุด-ต่ำสุด ในไทย พบ 88.88% ไม่ถึง 50,000 บาท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธปท. เปิดข้อมูล 10 จังหวัด ที่มี 'เงินฝาก' สูงสุด-ต่ำสุด รอบปี 2565 ในประเทศไทย พบ เงินฝาก ไม่ถึง 50,000 บาท ถึง 98.52 ล้านบัญชี

การฝากเงิน กับธนาคาร นับเป็นการออมเงิน รูปแบบหนึ่ง ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐาน โดยปัจจุบัน เงินฝากธนาคาร จะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารละ 1 ล้านบาทด้วย

 


ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์เงินฝากในประเทศ พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,897,574 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมาจากแรงส่ง ทั้งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

จากข้อมูลสถิติของ ธปท. พบว่า 10 จังหวัดที่มียอดเงินฝากสูงสุดในปี 2565 ได้แก่

 

  1. กรุงเทพมหานคร ยอดเงินฝากมากที่สุด 10.58 ล้านล้านบาท
  2. นนทบุรี 586,002 ล้านบาท
  3. สมุทรปราการ 583,762 ล้านบาท
  4. ชลบุรี 551,649 ล้านบาท
  5. ปทุมธานี 345,482 ล้านบาท
  6. เชียงใหม่ 291,601 ล้านบาท
  7. นครปฐม 230,548 ล้านบาท
  8. สมุทรสาคร 196,036 ล้านบาท
  9. สงขลา 194,187 ล้านบาท
  10. ระยอง 190,014ล้านบาท

นอกจากนี้ ธปท. ได้แยกยอดรวมเงินฝากออกเป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) ยอดเงินฝาก มูลค่า 3,665,613 ล้านบาท,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 956,765 ล้านบาท,ภาคเหนือ 835,805 ล้านบาท,ภาคใต้ 861,239 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลเงินรับฝากของธนาคารจำแนกตามจังหวัด จากข้อมูล ธปท.พบว่า จังหวัดที่มีเงินรับฝากน้อยสุดใน 10 จังหวัดแรกในประเทศไทย ณ เดือนธันวาคม 2565 ประกอบด้วย

 

  1. แม่ฮ่องสอน 7,452 ล้านบาท
  2. อำนาจเจริญ 9,295 ล้านบาท
  3. บึงกาฬ 9,837 ล้านบาท
  4. สตูล 10,966 ล้านบาท
  5. หนองบัวลำภู 14,052 ล้านบาท
  6. มุกดาหาร 15,703 ล้านบาท
  7. อุทัยธานี 15,903 ล้านบาท
  8. น่าน 16,188 ล้านบาท
  9. ชัยนาท 18,060 ล้านบาท
  10. ยโสธร 18,149 ล้านบาท

 

โดย ณ สิ้นปี 2565 คนไทยมีบัญชีเงินฝากจำนวนทั้งสิ้น 121.40 ล้านบัญชี โดยเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 110.84 ล้านบัญชี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ถึงจำนวน 98.52 ล้านบัญชี หรือ 88.88% และมีบัญชีผู้ฝากเงินเกิน 500 ล้านบาท อยู่ที่จำนวน 1,023 บัญชี

 

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทำอะไร

 

  1. คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน โดยจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากโดยเร็ว เมื่อสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต
  2. เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อสะสมไว้เป็นกองทุนคุ้มครองเงินฝาก สำหรับใช้ในการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามวงเงินและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต
  3. ชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชี จ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากในกรณีที่มีเงินฝากเกินวงเงินที่กำหนด


ประโยชน์ของการมีระบบคุ้มครองเงินฝาก

 

  • ประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน : เงินฝากในสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ระบบนี้ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฯ โดยอัตโนมัติ ผู้ฝากไม่ต้องกังวล หรือ ดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก เมื่อสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง จะส่งเสริมให้ผู้ฝากเงินติดตามข่าวสารหาข้อมูลทางการเงินมากขึ้น
  • ประโยชน์ต่อระบบการเงิน : สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มีการแข่งเสรีตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินมีความเหมาะสม
  • ประโยชน์ต่อภาครัฐ : ภาครัฐไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝาก
     

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ