ข่าว

'เครดิตบูโร' คืออะไร ติดเครดิตบูโร กี่ปี ทำยังไงหาย เช็กที่นี่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เครดิตบูโร' คืออะไร ติดเครดิตบูโร กี่ปีหาย รวมทุกข้อข้องใจ แก้เครดิตเสีย ให้กลับมาดีอีกครั้ง ก่อนถูก แบล็กลิสต์

“เครดิตบูโร” ถูกพูดถึงบนหน้าสื่อ เมื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” ตอบโต้ธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีปล่อยคลิป กล่าวหานโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ของพรรคชาติพัฒนากล้า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ซึ่งไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง พร้อมยืนยัน ไม่ได้ยกเลิกเครดิตบูโร

 

เครดิตบูโร คืออะไร เมื่อถูกยกมาเป็นนโยบายหาเสียง ของพรรคการเมือง ในช่วงของการเลือกตั้ง 2566 คมชัดลึก รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับเครดิตบูโร ทั้งเครดิตบูโร คืออะไร ,ติดเครดิตบูโรกี่ปี หรือ เครดิตบูโรเช็กอะไรบ้าง และต่างอย่างไรกับถูกแบล็กลิสต์ รวมถึงบอกวิธีแก้เครดิตเสียให้กลับมาดีอีกครั้ง

 

เครดิตบูโรคืออะไร

 

เครดิตบูโร ดูแลโดย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อ และประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งส่งมาจากสถาบันการเงินและบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร โดยเราสามารถตรวจสอบเครดิตของตัวเองได้ในทุกๆ ปี เปรียบเหมือนการเช็กสุขภาพการเงินประจำปีของเราได้เลย โดยข้อมูลที่จัดเก็บหรือรายงานในเครดิตบูโรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

 

1. ข้อมูลบ่งชี้

 

คือ ข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ถึงตัวลูกค้า ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด (ไม่มีการจัดเก็บหมายเลขโทรศัพท์) ข้อมูลที่อยู่ที่ลูกค้าแจ้งกับสถาบันการเงิน และบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร

 

2. ข้อมูลสินเชื่อ

 

ที่ได้รับอนุมัติและประวัติการชำระหนี้ จำแนกเป็นรายบัญชีที่มีอยู่ในแต่ละสถาบันการเงินและบริษัทสมาชิก โดยมีข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้

  • สรุปข้อมูลบัญชีสินเชื่อ ซึ่งจะบอกว่าลูกค้ามีสินเชื่ออยู่ทั้งหมดกี่บัญชี มีจำนวนบัญชีที่ใช้สิทธิแก้ไขข้อมูลหรือโต้แย้งกี่บัญชี
  • ประเภทและเลขที่บัญชีของสินเชื่อ
  • ชื่อผู้ให้สินเชื่อ
  • วงเงินที่ได้รับอนุมัติ และวงเงินที่ใช้ไป
  • สถานะของบัญชี เช่น ปกติ  ปิดบัญชี พักชำระหนี้ ค้างชำระหนี้
  • รายละเอียดการชำระหนี้ ซึ่งจะแสดงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา ทั้งที่ชำระตรง ชำระล่าช้า หรือผิดนัดชำระ
  • ​ข้อมูลอื่นๆ เช่น วันที่เปิดบัญชี วันที่ชำระหนี้ล่าสุด วันที่ปิดบัญชี วันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ​

 

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการขอสินเชื่อ หรือทำบัตรเครดิตเป็นอย่างมาก เพราะทางสถาบันการเงินจะใช้สิ่งนี้พิจารณาในการอนุมัติการกู้ต่างๆ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีการผิดชำระหนี้ หรือมีประวัติชำระล่าช้า รายชื่อจะไปปรากฏอยู่ในรายงานเครดิตบูโร ซึ่งอาจมีผลต่อการปล่อยเงินกู้ หรือ ทำบัตรเครดิต ของสถาบันการเงิน

 

วิธีการตรวจเครดิตบูโร

 

1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรกรุงเทพฯ และปริมณฑล รับรายงานได้ภายใน 15 นาที

 

  • อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) เวลา 9.00-16.30 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อกชั้น 3 (BTS อารีย์ ทางออก 1)  เวลา 9.00 -18.00 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) เวลา 9.00-18.00 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • ท่าวังหลัง (บริเวณทางเข้า-ออก ท่าเรือ และใกล้ประตู 8 ของโรงพยาบาลศิริราช) เวลา 9.00-18.00 น. ทุกวัน
  • สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต (ภายในสถานี) 9.00-18.00 น. ทุกวัน
  • ห้างเจเวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม เวลา 9.00 น.-18.00 น. ทุกวัน 

 

2. ที่ทำการไปรษณีย์ เฉพาะสาขาที่ให้บริการ

 

  • ติดต่อสอบถาม Contact Center โทร.1545 หรือ www.thailandpost.com (แบบส่งรายงานกลับไปให้ภายใน 7 วัน ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนค่าบริการ 150 บาท)

 

3. ธนาคารที่เป็นตัวแทนรับคำขอตรวจเครดิตบูโร (เฉพาะกรณีบุคคลธรรมดาเท่านั้น) รับรายงานทางไปรษณีย์ภายใน 7 วัน

 

4. บริการยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่านตู้ ATM

 

  • โดยมีบัตรธนาคารไหนใช้ตู้ ATM ธนาคารนั้น บริการผ่านตู้ ATM กรุงไทยและไทยพาณิชย์เพียงเสียบบัตรทำรายการผ่านหน้าจอเลือกเมนู "ตรวจเครดิตบูโร" จัดส่งรายงานกลับภายใน 7 วันทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ค่าบริการ 150 บาท

 

5. ตรวจเครดิตบูโรผ่าน Mobile Banking

 

  • สามารถการยื่นคำรายงานเครดิตบูโรได้ผ่านระบบ Mobile Banking ของธนาคารต่าง ๆ เช่น MyMo (ธนาคารออมสิน) , Krungthai NEXT (ธนาคารกรุงไทย) , ttb touch (ธนาคารทีทีบี) , KKP Mobile (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) เป็นต้น

 

หลักเกณฑ์ในการประเมินผู้ติดเครดิตบูโร

 

  • หมายเลข 10 = ผู้ใช้บัตรเครดิตบัญชีนี้ มีสถานะ “ไม่ติดเครดิตบูโร” มีพฤติกรรมจ่ายเงินตามนัดหมายครบถ้วน ตรงต่อเวลา และไม่มียอดหนี้ชำระค้างใดๆ
  • หมายเลข 11 = ผู้ใช้บัตรเครดิตบัญชีนี้ มีสถานะ “ปิดบัญชี” มีประวัติติดเครดิตบูโร แต่ชำระเครดิตบูโรกับการขอสินเชื่อที่ค้างไว้หมดสิ้นจนปิดบัญชีเรียบร้อย
  • หมายเลข 12 = ผู้ใช้บัตรเครดิตบัญชีนี้ มีสถานะ “พักชำระหนี้” ภายใต้โครงการของรัฐ จึงทำให้ไม่ติดเครดิตบูโร
  • หมายเลข 20 = ผู้ใช้บัตรเครดิตบัญชีนี้ มีสถานะ “มีหนี้ชำระค้าง” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอยู่ ทำให้ผู้ได้รับหมายเลขนี้ติดเครดิตบูโร และถูกปฎิเสธการทำสินเชื่อกับธนาคารสูง

 

ติดเครดิตบูโรต้องรอกี่ปี

 

คำถามยอดฮิต คือ ติดเครดิตบูโรกี่ปีหาย ใช่ 3 ปี หรือเปล่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดกันเยอะมากๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วนั้น เวลาจะผ่านไป 10-20 ปี ประวัติก็จะยังติดอยู่ในระบบอยู่ แต่มี 2 วิธีหลักๆ ในการแก้ติดเครดิตบูโร ดังนี้

 

  • วิธีที่ 1 ผู้ทำเรื่องที่ต้องการทำเรื่องสินเชื่อกับธนาคารด่วน ต้องชำระหนี้ปัจจุบันทั้งหมดให้หมด ภายในระยะเวลา 3 ปีถ้วน เมื่อเคลียร์หนี้ครบหมดแล้ว ทางหน่วยงานติดเครดิตบูโร จะทำการยืนยันสถานะบัตรเครดิตของคุณเป็นหมายเลข 11 ซึ่งหมายถึง “ปิดบัญชี”
  • วิธีที่ 2 ผู้ทำเรื่องที่ต้องการทำเรื่องสินเชื่อกับธนาคาร แต่ไม่มีความรีบร้อนในการทำเรื่อง สามารถรอเวลา 3 ปี เพื่อให้ประวัติติดเครดิตบูโรบัตรเครดิตที่ค้างชำระอยู่นั้น จะถูกลบออกจากระบบศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติอัติโนมัติ

 

แบล็กลิสต์ คืออะไร

 

แบล็กลิสต์ (Blacklist) คือ มีการผิดชำระหนี้ หรือชำระหนี้ล่าช้ากับทางสถาบันการเงินบ่อยเกินไป โดยที่ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งถ้าผิดชำระเพียงแค่งวดเดียว ก็สามารถสร้างประวัติเสียได้เลย ซึ่งสิ่งนี้จะไปปรากฏอยู่ที่ฐานข้อมูลเครดิตบูโร รวมไปถึงการพักชำระหนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจะมีหน้าที่รายงานความเคลื่อนไหวของข้อมูลเครดิต จึงเป็นสาเหตุให้ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อหรือทำบัตรเครดิตในครั้งถัดไป

 

 

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ