ชีวิตดีสังคมดี

'สภาพัฒน์' รายงานภาวะสังคม หนี้ครัวเรือน-หนี้เสียพุ่ง เด็กจบใหม่ตกงานอื้อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สภาพัฒน์' รายงาน ภาวะสังคม 2565 หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.9 % ลูกหนี้เสียเพิ่มขึ้นเพราะโควิด หนำซ้ำเด็กจบใหม่ตกงานอื้อสะท้อนงานหายาก สาขาบริหารไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน พบป่วยซึมเศร้าสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา

สภาพัฒนาการเศรษษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ "สภาพัฒน์" รายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 4  และ ภาพรวมปี 2565  โดยภาพรวม ภาวะสังคมไทย 2565 พบว่า การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลงโดยมีอัตราการว่างงาน 1.15%  ขณะที่ภาพรวมทั้งปีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.32 % ด้านหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 พบขยายตัวเพิ่มมากขึ้น 

 

 

สำหรับในปี 2566 ยังคงมีเรื่องที่ต้อให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาทักษาะแรงงานไทย เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง  การจ้างงานและหาช่องทางโอกาสให้เด็กจบใหม่  รวมไปถึงการแก้ปัญหาความขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว

 

 

โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ได้กล่าวถึงรายละเอียด ภาวะสังคม 2565 ว่า  สำหรับอัตราการว่างงานปรับตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยอัตราการว่างงานไตรมาส4ปี 2565 อยู่ที่ 1.15 %ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน หรือคิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน4.6 แสนคน ลดลงทั้งจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อนที่ 41.4 %และ 13.1 ตามลำดับ

 

สำหรับผู้ว่างงานระยะยาวมีจำนวนทั้งสิ้น 1.1 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.7%ขณะที่การว่างงานตามระดับการศึกษายังคงลดลงในทุกระดับ สอดคล้องกับสถานการณ์การว่างงานในระบบ ที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในไตรมาส4 ปี 2565 มีจำนวน 1.96 แสนคนหรือคิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบที่ 1.69% ลดลงจาก 2.27%ในช่วงไตรมาสสี่ ปี 2564

 

ภาวะสังคมไทย

 

  • สถานการณ์แรงงานไทยเด็กจบใหม่ยังหางานทำไม่ได้

 

ส่วนภาพรวมสถานการณ์ด้าน แรงงาน ปี 2565 "สภาพัฒน์" รายงานว่า อัตราการมีงานทำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ เดียวกับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ 98.3 %เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 97.5 %โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัว 1.0 %เป็นผลจากการจ้างงานนอก ภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการส่งออกทั้งปีที่ขยายตัว 5.5%เมื่อเทียบกับปี 2564 และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในสาขาก่อสร้างหดตัว 3.5 % เนื่องจากยังมีข้อจำกัดของต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ 

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ในไตรมาส4 ปี 2565 ผู้ว่างงานที่เป็น เด็กจบใหม่ มีจำนวน 2.3 แสนคน โดยในจำนวนนี้ 64.5%ระบุสาเหตุที่ว่างงานว่า หางานแล้วแต่ยังไม่ได้งาน สะท้อนให้เห็นการหางานที่ยากขึ้น โดยจากข้อมูลระบุว่าสาขาที่ค่อนข้างหางานได้ยาก คือสาขาที่เกี่ยวกับการบริหารทั่วไป แต่หากเป็นสาขาการเงิน หรือสาขาที่มีความเฉพาะเจาะจงยังคงมีแนวโน้มที่จะหางานได้มากกว่า ส่วนสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานคือสาขาที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม "สภาพัฒน์" เห็นว่าในอนาคตตลาดแรงงานจะต้องการคนที่มีความสามารถเฉพาะด้าน และเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

 

  • ปี 2565 คนไทยเป็นหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.9%.

 

นายดนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับ หนี้สินครัวเรือน ไตรมาส3ปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.9%คิดเป็นสัดส่วน 86.5% ต่อ GDP ทั้งนี้พบว่า ไตรมาส 3 มียอดคงค้างหนี้ NPL มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท แต่หนี้เสียดังกล่าวอยู่ระหว่างการประบโครงสร้างหนี้กว่า 7.8 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าลูกหนี้เสียส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ยังมีปริมาณมากแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นก็ตาม

 

ส่วน หนี้สินครัวเรือน ขยายตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่มีการขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ขยายตัวถึง 11.8 %และ 21.4 %ขณะที่สินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราต่ำ ได้แก่ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 4.1 %สินเชื่อยานยนต์ขยายตัว 1.2 %และ สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจขยายตัว 3.4 %

 

ทั้งนี้ การขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดการใช้เงินสดมากขึ้นขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย มีเงื่อนไขการสมัครไม่มากวงพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม

 

  • โรค NCDS ลดลงแต่แนวโน้มป่วยซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น  คนดื่มเหล้า สูบบุหรี่พุ่ง

 

สำหรับภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น 308.4%เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ภาพรวมปี 2565 เพิ่มขึ้น 134.9%และการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ลดลง ขณะที่ผู้ป่วย ด้วยโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยพบว่าในปี 2564 ไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มเป็น 358,267 ราย  เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ประมาณ 355,537  ราย อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.38 รายต่อประชากรแสนคน

 

ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 3.7% ตามภาวะเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้จำเป็นต้องเร่งปราบปรามบุหรี่หนีภาษีที่กำลังแพร่ระบาดบนโลกออนไลน์อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ของเด็กและเยาวชน

 

ภาวะสังคมไทย

 

  • ภัยอาญชากรรมทางเทคโนโลยียังเป็นปัญหากวนใจประชาชน

 

จากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีการปรับกลยุทธ์กลโกงในหลายรูปแบบ ซึ่งประชาชน จำเป็นต้องตระหนักและรู้เท่าทันการรับแจ้งอุบัติเหตุผู้ประสบภัยสะสมและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.1% และ 3.6 ตามลำดับ ซึ่งรถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และเพื่อให้สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การออกแบบถนนที่คำนึงถึงความปลอดภัยและเสริมสร้างวินัยจราจรแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

 

  • 3 ประเด็น สภาพัฒน์ ต้องเร่งพัฒนาและให้ความสำคัญในปี 2566

 

ทั้งนี้ในปี2566 "สภาพัฒน์" ยังคง ให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งมีสาเหตุจากทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้การส่งออกเริ่มหดตัวมาตั้งแต่เดือนต.ค.2565 และอาจส่งผลต่อการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการหางานของเด็กจบใหม่เนื่องจากผู้ประกอบการอาจชะลอการจ้างงานเพิ่มและเลือกที่จะเพิ่มชั่วโมงการทำงานหรือเพิ่มหน้าที่ให้แก่ แรงงานเดิม

 

2.ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงานปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 5.02 และมีแนวโน้มที่จะยังคงสูงกว่าระดับปกติที่อยู่ในช่วง 1 - 2%เนื่องจากอิทธิพลจากภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามระหว่างประเทศ

 

3.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจากผลสำรวจของกระทรวงแรงงาน พบว่า ปัจจุบันกิจการประเภทโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณ 1 หมื่นตำแหน่งใน 60 จังหวัด ขณะที่ปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 28ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 70%ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 ซึ่งภาครัฐยังคงต้องมีบทบาทในการจับคู่แรงงานกับสถานประกอบการ รวมถึงพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานให้ตอบโจทย์ตำแหน่งงานต่าง ๆอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ