ข่าว

'เช็กภาษีคืน 2566' หลัง ยื่นภาษี แล้ว อยากรู้ได้คืนเมื่อไร ทำอย่างไร

09 มี.ค. 2566

'เช็กภาษีคืน 2566' หลัง ยื่นภาษี แล้ว อยากรู้ได้คืนเมื่อไร ทำอย่างไร ตรวจสอบตรงไหนบ้าง ให้ได้เงินคืน เช็กขั้นตอนที่นี่

"เช็กภาษีคืน 2566" ช่องทางไหนบ้าง และมีวิธีการตรวจสอบอย่างไร หลังจากยื่นภาษีแล้ว ซึ่งการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ประจำปี 2565 แบบเอกสาร จะหมดเขตลงในวันที่ 31 มีนาคม 2566 ส่วนการยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ทำได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2566 หากพ้นกำหนดดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับอาญาไม่เกิน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.5 


ซึ่งนอกจากที่สรรพากรจะอนุญาตให้ยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว สรรพากรยังอนุญาตให้เช็กสถานะการขอคืนภาษีได้ด้วยตัวเองผ่านทาง 3 ช่องทางด้วยกัน 

ช่องทางการเช็กภาษีคืน 2566 

 

1. เว็บไซต์ของกรมสรรพากร

 

ช่องทางแรกที่ทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วก็คือ ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร คลิกที่นี่ 

 

  • เข้าไปที่ "ตรวจสอบข้อมูลทางภาษี (e-Refund)" 
  • กรอกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และข้อมูลอื่น ๆ ตามที่เว็บไซต์ให้กรอก 
  • กด "สอบถาม" ระบบก็จะแสดงรายละเอียดให้เราได้ตรวจสอบ

 

2. Call Center

 

หากใครไม่สะดวกตรวจสอบออนไลน์ จะโทรไปถาม Call Center ของสรรพากร เพื่อขอตรวจสอบก็ได้ โดยสามารถโทรไปสอบถามได้ที่เบอร์ 1161 ซึ่งเป็นเบอร์ของศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร (RD  Call  Center)จากนั้นแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขบัตรประจำตัวประชาชน)

 

3. สำนักงานสรรพากรในพื้นที่

 

ใครที่ยื่นภาษีด้วยการส่งเอกสารกับสำนักงานสรรพากรในพื้นตามภูมิลำเนา และอยากขอตรวจสอบสถานะขอคืนเงินภาษี ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะได้ที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่เรายื่นภาษีได้เลย

 

4. SMS จากกรมสรรพากร

 

แจ้งสถานะการคืนภาษีทางหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ หากไม่มีเอกสารต้องตรวจสอบ หรือ ผ่านแล้ว จะได้รับเงินคืนภายใน 3 วันผ่านระบบพร้อมเพย์ จะเร็วที่สุด

กรณียังไม่ได้รับคืนเงินภาษี

 

เมื่อยื่นภาษีแล้ว สรรพากรจะดำเนินการตามคำร้องขอคืนภาษีให้ตามขั้นตอน ซึ่งสรรพากรก็อาจจะมีการเรียกขอดูเอกสารเพิ่ม แต่หากผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้คืนเงินภาษี ซึ่งโดยมากมักเกิดขึ้นกับกรณีที่เลือกรับเงินคืนเป็นเช็ค อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ หรือเหตุผลอื่น ๆ ซึ่งสรรพากรก็เปิดโอกาสให้ขอรับเช็คใหม่ได้ โดยสามารถยื่นเรื่องกับสำนักงานสรรพากรในพื้นที่ ที่สำคัญคือ อย่าลืมเตรียมเอกสารยื่นขอรับเช็คไปด้วย โดยเอกสารที่ต้องใช้แบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ

 

  1. กรณีผู้ขอคืนภาษีไปยื่นเรื่องเอง ใช้ บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมกับสำเนาของผู้ยื่นขอคืนภาษี
  2. กรณีผู้ขอคืนภาษีไปเองไม่ได้ และต้องการให้คนอื่นไปดำเนินการแทน ให้เตรียมเอกสารดังนี้

 

  • หนังสือมอบอำนาจ
  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้ขอคืนภาษี (ผู้มอบอำนาจ)
  • บัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนาของผู้รับมอบอำนาจ                 

 

ได้เช็คเงินคืนภาษีไม่ตรงกับที่ปรากฏบนเว็บไซต์กรมสรรพากร

 

ในกรณีที่สรรพากรจ่ายเช็คเงินคืนภาษีมาแล้ว แต่ยอดเงินที่ได้ไม่ตรงกับที่ปรากฏบนเว็บไซต์กรมสรรพากร อาจเกิดจากการที่ผู้ขอคนภาษียื่นแบบมากกว่า 1 ฉบับ ทำให้ตัวเลข หรือยอดเงินที่ได้คืนมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจจะได้เงินคืนลดลง หรือเพิ่มขึ้น แล้วแต่กรณีไป ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ให้ดำเนินการติดต่อกับสำนักงานสรรพากรในพื้นที่ เพื่อทำการคืนเช็ค พร้อมตรวจสอบและแก้ไขเช็คให้ถูกต้องต่อไป

 

ขึ้นเช็คไม่ได้ เช็คหาย หรือธนาคารไม่รับเช็ค


หากได้รับเช็คเงินคืนภาษีมาแล้ว แต่เกิดทำเช็คหาย หรือชื่อ-นามสกุลในเช็คผิดพลาด ไม่ตรงกับชื่อจริง หรือเช็คมีอายุเกิน 6 เดือน ซึ่งอาจทำให้ธนาคารปฏิเสธไม่รับเช็ค หรือเอาเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ สามารถเข้าไปยื่นคำร้องขอรับเช็คใหม่ได้ โดยเดินเข้าไปติดต่อที่สรรพากรในพื้นที่ เพื่อทำการยื่นคำร้อง พร้อมกับเตรียมเอกสารประกอบการยื่นคำร้อง ดังนี้

 

  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอคืนภาษีพร้อมสำเนา
  • หนังสือแจ้งความ (กรณีเช็คสูญหาย)
  • ใบเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (กรณีชื่อไม่ตรงเพราะเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล)
  • หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขอคืนภาษี และบัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนาของผู้รับมอบอำนาจ (ในกรณีที่ผู้ขอคือภาษีมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ดำเนินการแทน)

 

ไม่เห็นด้วยกับยอดเงินคืนภาษีที่ได้รับ

 

กรณีที่ยื่นขอคืนเงินภาษีไปแล้ว และได้ทราบยอดเงินคืนภาษี แต่พบว่ายอดคืนภาษีไม่ตรงกับยอดที่ยื่นไปที่ควรจะได้รับ และไม่เห็นด้วย สามารถแย้งเรื่องนี้ได้ ผ่านการอุทธรณ์กับกรมสรรพากร โดยให้จัดทำหนังสืออุทธรณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด พร้อมกับแนบเอกสารประกอบเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะต้องทำการอุทธรณ์ภายในระยะเวลา 15 วัน หลังจากได้รับหนังสือ ค.30

 

ยื่นภาษีไม่ทัน ทำอย่างไร

 

หากยื่นไม่ทันทั้งแบบกระดาษ และ ออนไลน์ ให้ไปยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา เอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้

 

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
  • เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)
  • เงิน หากมีภาษีต้องชำระ จะถูกคิดเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน