ข่าว

วิธีตรวจสอบ  'สลากกินแบ่งรัฐบาล' ของจริงหรือไม่ ย้ำ ปลอมแปลงไม่ได้แน่นอน

วิธีตรวจสอบ 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' ของจริงหรือไม่ ย้ำ ปลอมแปลงไม่ได้แน่นอน

12 ก.พ. 2566

เปิดวิธีตรวจสอบ 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' ว่าเป็นของจริงหรือไม่ ย้ำ มีมาตรฐาน ปลอมแปลงไม่ได้แน่นอน เตือนผู้ค้าหลีกเลี่ยงซื้อ สลากฯ ไปขายต่อ ห่วงถูกหลอก

สืบเนื่องจากข่าวที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน กรณีแม่ค้าขาย 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' ไปซื้อสลากงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 4 เล่ม รวม 400 ใบ ราคาใบละ 90 บาท จากตลาดที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อนำไปจำหน่าย ต่อมาพบว่าเนื้อกระดาษไม่เหมือนกับสลากฯที่จำหน่ายอยู่ จึงนำมาตรวจสอบที่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และพบว่าเป็นสลากฯปลอมทั้งหมดนั้น

 

 

พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงานสลากฯ ดำเนินการตรวจสอบสลากทั้ง 400 ใบ ที่ผู้เสียหายนำมาและพบว่าเป็นสลากฯปลอม จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่พาผู้เสียหายไปแจ้งความที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ดังนั้น จึงขอเตือนตัวแทนจำหน่ายสลาก และผู้ซื้อจองล่วงหน้าฯ ให้ใช้ความระมัดระวังในการไปซื้อสลากฯจากบุคคลอื่นเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ

 

ทั้งนี้ หากได้รับการจัดสรรสลากแล้ว หรือเป็นผู้ซื้อจองล่วงหน้าฯ ที่ทำรายการได้แล้ว ควรจำหน่ายเฉพาะสลากที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานสลากฯ เท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก 

 

 

ผู้อำนวยการสำนักงาน 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' ได้กล่าวถึง วิธีสังเกตเพื่อตรวจสอบสลากฯในมือว่าเป็นของจริง หรือของปลอมว่า ตรวจดูคุณลักษณะทั่วไปของสลากฯ

 

  • ความหนาบางของกระดาษ
  • รูปภาพสลาก
  • ขนาดของตัวเลข และขนาดของตัวอักษร

 

 

ตรวจสอบคุณลักษณะพิเศษของสลากฯ

 

  • กระดาษที่ใช้พิมพ์สลากจะมีลายน้ำในเนื้อกระดาษเมื่อส่องกับแสงไฟสีขาว หรือแสงสว่างจะมองเห็นลายน้ำรูปนกวายุภักษ์ในเนื้อกระดาษ
  • เมื่อส่องกับแสงไฟสีม่วง (แสงยูวี) จะมองเห็นเส้นไหม และเส้นที่พาดผ่านตัวเลข

 

ขณะเดียวกัน สำหรับประชาชนผู้ซื้อ 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' ขอให้มั่นใจว่า สลากทุกใบของสำนักงานพิมพ์ด้วยระบบที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามหลักมาตรฐานสากล ISO 9001:2015 ทำให้ไม่สามารถปลอมแปลงได้ นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อ สลากดิจิทัล ผ่านแอพลิเคชัน เป๋าตัง ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 17 ล้านใบ เป็นสลากของแท้จากสำนักงานสลากฯ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนอีกด้วย

 

 

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อรางวัล ก็ขอให้ใช้ความระมัดระวัง ในการตรวจสอบสลากฯ ที่มีผู้มาขึ้นเงินรางวัล โดยในเบื้องต้นให้ใช้วิธีการเปรียบเทียบกับสลากของจริงของสำนักงานสลากฯ ในงวดนั้นๆ เพื่อหาความแตกต่างกับสลากที่ต้องการตรวจพิสูจน์ เช่น มีลักษณะเรืองแสง หรืออาจใช้น้ำสะอาดมาถูบนสลากฯ ซึ่งหมึกที่ใช้พิมพ์ตัวเลขสลากของจริงเมื่อถูกน้ำจะไม่ละลาย

 

 

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีตรวจหาร่องรอยการแก้ไขหรือการตัดแปะตัวเลขบนสลากฯได้โดยใช้กล้องหรือแว่นขยายส่องบริเวณจุดที่สงสัยว่าจะมีการแก้ไข เช่น บริเวณหมายเลขสลากฯ หรืองวดวันที่ โดยนำตัวเลขจากฉบับอื่นมาปะทับบนตัวเลขที่ไม่ต้องการ หรือตัวเลขที่ไม่ถูกรางวัลเพื่อให้ได้หมายเลขตรงกับสลากที่ถูกรางวัล รวมทั้งการแก้ไขด้วยวิธีขูด ลบ ลอก ตัวเลขเดิมที่ไม่ต้องการออก แล้วนำตัวเลขจากสลากฯฉบับอื่นมาปะแทนเพื่อให้ได้หมายเลขตรงกับสลากฯที่ถูกรางวัล เป็นต้น