ในระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2566 ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำโดยนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. นำคณะสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ กว่า 30ชีวิต
เยี่ยมชมลูกค้าธนาคารในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยในวันที่ 13 ม.ค.66 เยี่ยมชมสวนส้มปรีชาฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่ดำเนินธุรกิจสวนส้มสายน้ำผึ้ง
ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจมากว่า 30 ปี ภายใต้สโลแกน”ปลูกด้วยรัก คัดด้วยใจ ใสใจทุกขั้นตอน”เพื่อให้ได้ส้มที่มีคุณภาพดีและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต
ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้เชื้อจุลินทรีย์และสารสกัดจากพืชมากำจัดและควบคุมศัตรูส้มแบบชีววิธี (Biological Controls) สามารถแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในผลส้มที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ทำให้ผลไม้ที่เป็น “นางเอก” ไม่กลายเป็นนางร้ายอีกต่อไป รวมถึงการช่วยแก้ปัญหาในเรื่องดินเสื่อมสภาพ ซึ่งเคยเป็นโจทย์สำคัญของชาวสวนส้ม ไปสู่การปลูกส้มคุณภาพที่มีความยั่งยืน
นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เผยว่า สวนส้มฝางถือเป็นต้นแบบ SMEs เกษตรที่มุ่งดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก BCG โมเดล ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต สร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของ ธ.ก.ส.
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการลงทุนที่ตอบโจทย์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้นผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร วงเงิน 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหมุนเวียนหรือลงทุนในการประกอบธุรกิจ
ในการดำเนินงาน บริษัท ส้มปรีชาฝาง 1991 จำกัด จะมีห้องปฏิบัติการและทีมงาน Research and Development สำรวจและเก็บตัวอย่างโรคพืชและศัตรูพืชในแปลงส้มมาทดลองหาสาเหตุของโรคพืช มีการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลผลิตส้มด้วยชุดตรวจสอบ (GPO-TM KST) ซึ่งพัฒนาและรับรองโดยองค์การเภสัชกรรม การวิจัยพัฒนาผลผลิตในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานดังกล่าว นำไปสู่การผลิตส้มปลอดภัยที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
ด้านการจัดการทางการตลาด สวนส้มปรีชาฝาง ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเก็บ การคัดคุณภาพและคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สวยงามทรงคุณค่า เหมาะกับการมอบเป็นของฝากและของขวัญในทุกเทศกาล
โดยเปิดจำหน่ายส้มสายน้ำผึ้ง ผ่านช่องทางออนไลน์และมีการจัดส่งถึงหน้าบ้านผู้บริโภคโดยตรง
นอกจากนี้ สวนส้มปรีชาฝางยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมงาน พร้อมถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมทักษะด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในชุมชนและผู้ที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์อีกด้วย
จากนั้นวันที่ 14 ม.ค.66 ธ.ก.ส.และคณะสื่อมวลชนเยี่ยชมกระบวนการผลิตกาแฟครบวงจรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมว่าวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟดอยช้าง เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเป็นชนเผ่าอาข่าและลีซู กว่า 1,500 ครัวเรือน
โดยรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า บนพื้นที่กว่า 24,500 ไร่ มีการพัฒนากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ทั้งการปลูก การรวบรวม แปรรูป สู่การตลาด และได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นกาแฟชนิดพิเศษคุณภาพสูง (Specialty Coffee) ซึ่งความตั้งใจในการผลิตกาแฟคุณภาพ และการเอาใจใส่ในมาตรฐาน
ช่วยเสริมสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สมาชิกมากว่า 20 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมาสมาชิกในกลุ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 และวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถส่งออกกาแฟไปยังประเทศคู่ค้า รวมถึงร้านกาแฟดอยช้างไม่สามารถเปิดให้บริการ เนื่องจากมาตรการป้องกันของรัฐบาลและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้ขาดรายได้และส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้
จากสถานการณ์ดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับชุมชนเข้าไปแก้ปัญหาผ่านโมเดล Design and Manage by Area (D&MBA) หรือการออกแบบ – การจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
พร้อมนำจุดเด่นของชุมชนมาเป็นปัจจัยในการฟื้นฟูอาชีพ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมาเติมความรู้ด้านการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการสนับสนุนด้านการตลาด รวมถึงการดำเนินมาตรการดูแลเพื่อลดภาระและความกังวลใจด้านหนี้สิน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ การลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ที่เกิดจากเหตุสุจริต สูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงและ
เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ และมีความตั้งใจที่จะชำระหนี้กลับมามีความสามารถในการประกอบอาชีพและมีรายได้ ด้วยการให้รางวัลกับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีผ่านโครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อรายให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ที่ถึงกำหนด เพื่อลดภาระในการชำระหนี้และเสริมสภาพคล่องอีกด้วย
จากมาตรการการต่างๆ ดังกล่าวจะช่วยให้สมาชิกในกลุ่มมีขวัญกำลังใจและกลับมามีศักยภาพในการประกอบอาชีพ รองรับกับการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ หลังการเปิดประเทศทั้งของไทยและทั่วโลก เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อขอใช้บริการสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call center 02 555 0555
ข่าวที่เกี่ยวข้อง