ข่าว

ส่อง TOR ประมูลโรงไฟฟ้าขยะภูเก็ต ส่อล็อคสเปครายใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดร่าง TOR โรงไฟฟ้าขยะภูเก็ต หลังเปลี่ยนทีมบริหารเทศบาลฯ ส่อล็อคสเป็ครายใหญ่ กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งมีลักษณะที่เอื้อต่อเอกชนบางราย พบตั้งคุณสมบัติไว้สูงเกินไปหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลนครภูเก็ต กำลังดำเนินโครงการให้เอกชนร่วมดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าแห่งใหม่ของภูเก็ต กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์ โดยมีการเปิดประมูลบนหน้าเว็บไซต์ เทศบาลนครภูเก็ต www.phuketcity.go.th 

 

ซึ่งเส้นทางของโครงการนี้มีข้อมูลระบุว่า ในปี 2559 นายสมใจ สุวรรณศุภนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ขณะนั้น ระบุว่าปริมาณขยะในพื้นที่ภูเก็ตปี 2558 อยู่ที่ 750 ตันต่อวัน  เติบโตขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี จากจำนวนประชากร 360,000 คน และมีนักท่องเที่ยว 12 ล้านคนต่อปี  โดยคาดว่า ในปี 2562 จะมีปริมาณขยะเพิ่มถึง 987 ตันต่อวัน และในอีก 11 ปีหรือในปี 2570 ปริมาณขยะจะเพิ่มถึง 1,735 ตันต่อวัน จึงต้องการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาขยะในชุมชน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ต่อมาปี 2562 เทศบาลนครภูเก็ต จึงจัดจ้างมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าขยะขนาดกำลังการผลิต 8MW  และปี 2563 ซึ่งนายสมใจ สุวรรณศุภนา ให้ทีมงานร่าง TOR ออกมา


ปี 2564 นายสมใจ แพ้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ให้กับนายสาโรจน์ อังคณาพิลาส และต่อมาได้มีความพยายามในการสั่งการเพื่อปรับแก้ TOR ให้มีความเป็นธรรมและเปิดกว้างสำหรับการประมูลมากขึ้น จึงมีความพยายามปรับปรุงเงื่อนไขใน TOR คือ

 

 

แต่ทว่าโครงการดังกล่าว เกิดคำถามว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลโครงการ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดหรือไม่ หลังจาก เทศบาลนครภูเก็ต ได้พัฒนานวัตกรรมพลังงาน โดยมุ่งหวังที่จะช่วยให้ภูเก็ต เป็นเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด โดยมีโรงเตาเผาขยะมูลฝอย 2 โรงถือเป็นศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจรแห่งแรกของไทย 

 

โดยโรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชน 1 เป็นเตาเผาที่กรมโยธาธิการและผังเมืองถ่ายโอนให้เทศบาลนครภูเก็ตดูแล งบประมาณ 788 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 2.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 144 หน่วย/ตันขยะ ปัจจุบันหยุดการดำเนินการ อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติให้เอกชนร่วมดำเนินการ 

 

ส่วนอีกโรงเป็นเตาเผาที่บริษัท พีเจทีเทคโนโลยี เป็นผู้รับสัญญาดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 งบประมาณ 994 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 12 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 350 หน่วย/ตันขยะ 


และข้อมูลระบุอีกว่า เนื่องจากคณะกรรมการร่าง TOR ในปัจจุบันนั้นยังเป็นทีมงานเก่าที่มีก่อนการเลือกตั้งนายกฯ  ทำให้การรับฟังความคิดเห็นร่าง TOR ที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง ทางคณะกรรมการแทบจะไม่ได้ทำการแก้ไข TOR โดยเฉพาะเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งมีลักษณะที่เอื้อต่อเอกชนบางราย เพราะตั้งคุณสมบัติไว้สูงเกินไป เช่น


ในข้อกำหนดที่ 2 ตารางที่ 1 ข้อที่ 1 ผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องมีผลงานและประสบการณ์โรงไฟฟ้าขยะชุมชนแบบเตาเผาตะกรับ เดินระบบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี รองรับขยะไม่น้อยกว่า 250 ตัน/วัน และหากมีประสบการณ์บริหารโรงไฟฟ้าขยะขนาดดังกล่าวมาแล้ว 3 โครงการจะได้คะแนนเต็มในข้อนี้หรือในข้อกำหนดที่ 2 

 

ตารางที่ 1 ข้อที่ 2 ที่ระบุให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีใบสิทธิบัตร หรือใบรับรองการถ่ายโอนเทคโนโลยีผู้ผลิตเตาเผาตามมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีโครงการผลิตไฟฟ้าของไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพราะเป็นเพียงผู้ใช้งานเท่านั้น 

 

แหล่งข่าวระบุว่า ยังไม่มีโครงการโรงไฟฟ้าขยะของจังหวัด ใดๆ ในประเทศไทย ที่ทำการประมูลโดยมีข้อกำหนดในลักษณะล็อคสเป็คขนาดนี้ หากคณะกรรมการร่าง TOR มีความเป็นกลางและเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง   ควรดำเนินการพิจารณาแก้ไข TOR ให้สมเหตุผลและเปิด กว้างมีความเป็นกลางมากที่สุด

 

ที่มาข้อมูล : posttoday

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ