ข่าว

"ค่าไฟแพง" คนไทยต้องเผชิญไปอีกนานแค่ไหน ส่งสัญญาณ ปีหน้า สินค้า ราคาพุ่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ค่าไฟแพง" คนไทย ต้องเผชิญไปอีกนานแค่ไหน เอกชน ผนึกกำลัง เบรกรัฐ หวั่น ปี 2566 สินค้า ราคาพุ่ง สอบ. จี้ 5 ข้อ แก้ปัญหา

หลังจากที่ กกพ. ประกาศตรึงค่า Ft งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ซึ่งเป็นผลดีสำหรับค่าไฟบ้าน ที่จะยังอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย แต่ในส่วนของผู้ประกอบการเอกชน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมนั้น ขึ้นมาเป็น 5.69 บาท/หน่วย ซึ่งปัจจัยหลักที่กระทบอัตรา ค่า FT ในรอบนี้ มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ที่ต้องนำเข้ามาทดแทน การลดลงของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และ ก๊าซธรรมชาติ ในสหภาพพม่า และ ภาระการทยอยจ่ายคืนหนี้คืนให้ กฟผ.

 

ทำให้ภาคเอกชนต้องเผชิญกับภาวะค่าไฟแพง สวนกระแสเศรษฐกิจที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนหลัก ของภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชน ได้เรียกร้องให้ ชะลอการปรับขึ้น "ค่าไฟฟ้า" หลังปรับขึ้นมา 2 งวด ติดต่อกัน

 

 

วิกฤตพลังงานครั้งนี้ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เคยบอกว่า แนวโน้มค่าไฟแพง จะยังอยู่ไปอีก 1-2 ปี

 

การตรึงค่า FT ที่ดันให้ค่าไฟในภาคธุรกิจ พุ่งสูงขึ้น ทำให้บิ๊กธุรกิจ จากทั้ง ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าฯ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และ สมาคมโรงแรมไทย ต้องตั้งโต๊ะเรียกร้องรัฐบาล ขอของขวัญปีใหม่เพิ่ม เพราะถ้าหากค่าไฟ ขึ้นพรวดเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย จะดันให้สินค้าพาเหรดขึ้นราคา 5-12%

 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมนับเป็น great multiplayer เป็นธุรกิจสำคัญที่กระจายรายได้สู่ภาคครัวเรือน และเชื่อมโยงกับภาคขนส่ง ภาคค้าส่ง ค้าปลีก และภาคเกษตรกรรม ซึ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีต้นทุนภาระหนี้สินที่รอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

 

โดยค่าไฟเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ซึ่งปกติไม่เกิน 5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันปรับสูงถึง 6-8% และก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่าไฟสัดส่วนของต้นทุนเท่ากับ 5% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ซึ่งไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ แตกต่างจากธุรกิจอื่น ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจนี้ยังคงอยู่รอด จึงอยากขอของขวัญจากรัฐบาล ในการช่วยตรึงค่าไฟฟ้าตลอดปี 2566

 

สอดรับกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ที่ระบุว่า การปรับขึ้นค่าไฟในส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ อาจจะยังส่งผลกระทบต่อประชาชนอยู่ดี เนื่องจากหากผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว อาจเกิดการกระจายภาระในด้านต้นทุนสินค้า ซึ่งจะต้องกระทบต่อค่าครองชีพในชีวิตประจำวันของประชาชน จนกลายเป็น "ผีซ้ำด้ำพลอย" ต่อภาวะเศรษฐกิจในปีหน้า

 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา 148 องค์กร นำโดย รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่น 5 ข้อเสนอถึงกระทรวงพลังงาน แก้ปัญหาค่าไฟแพง เพราะประชาชนทุกภาคส่วน ต้องแบกรับภาระค่าไฟ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยระบุว่า ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น เป็นเพียงปัจจัยปลายเหตุเท่านั้น และแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

 

พร้อมยื่นข้อเสนอถึงกระทรวงพลังงานเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง 5 ข้อ ดังนี้

 

  1. ขอให้ตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคเกษตรกรรม
  2. ขอให้หยุดอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่ ทั้งในประเทศและการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะขณะนี้มีปัญหาไฟฟ้าล้นระบบ ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง
  3. รัฐต้องบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ โดยกำกับดูแลให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ จัดหาก๊าซธรรมชาติและจำหน่ายให้รัฐวิสาหกิจด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวม
  4. ขอให้ทบทวนและปรับปรุงต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) เพื่อลดหรือยกเลิกเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าที่ระบุว่า “ไม่มีการผลิตก็ต้องจ่าย (take-or-pay)” ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นักลงทุนเกินสมควร จนสร้างภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน
  5. เร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (โซลาร์รูฟท็อป) และใช้ระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ในการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งานกลับเข้าสู่ระบบ

 

สาเหตุทำค่าไฟแพง

 

สาเหตุของราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจนสร้างภาระกับประชาชน นางรสนา ระบุว่า การให้เอกชนมาร่วมผลิตไฟ และขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) แต่ขณะนี้มีปริมาณการสำรองไฟที่ล้นเกินไปถึงประมาณร้อยละ 50 เมื่อนำมาหักลบตามการสำรองไฟตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น คือ ร้อยละ 15 ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการสำรองไฟเกินไปเกือบร้อยละ 40 เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่า Ft พุ่งสูงขึ้น และอีกสาเหตุ คือ การใช้ก๊าซของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีสัดส่วนและมีโอกาสได้ใช้ก๊าซธรรมชาติมากกว่าประชาชนทั่ว ๆ ไป โดยอิงราคาในประเทศซึ่งมีราคาถูก ขณะที่ประชาชนกลับได้ใช้ก๊าซ LNG ที่นำเข้ามาในราคาแพง จึงทำให้ค่า Ft ราคาสูงขึ้น

 

"ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง คือ การที่รัฐยังไม่ทำหน้าที่ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยการทำให้กิจการพลังงานไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน" รสนา ระบุ

 

ปี 2565 ค่าไฟ ปรับขึ้นกี่ครั้ง

 

 

  • 17 มี.ค.2565 มติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เห็นชอบปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์/หน่วย เป็น 4 บาท/หน่วย
  • 15 สิงหาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับขึ้นค่า FT งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 อีก 68.66 สตางค์ รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย
  • และล่าสุด 15 ธันวาคม 2565 กกพ. เห็นชอบตรึงค่าไฟ ประจำงวดเดือน มกราคม - เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ ไฟฟ้า ประเภทบ้านอยู่อาศัย อยู่ในระดับเท่าเดิม ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น รวมทั้งภาคอุตสาหรรมจะมี "ค่าไฟฟ้า" เฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ