ข่าว

"ส่วยรถบรรทุก" แฉจ่ายเงินเดือนละพันล้าน ซ้ำทำรัฐเสียเงิน 1 แสนล้านต่อปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถกแก้ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" น้ำหนักเกิน พบจ่ายเงินเดือนละพันล้าน ซ้ำทำถนนพังเสียหายรัฐต้องจ่ายเงินซ่อม 1 แสนล้านต่อปี แนะเพิกถอนใบอนุญาตจดทะเบียน และใบอนุญาตขับขี่คนขับรถน้ำหนักเกิน

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย (LTFT) แจ้งว่า ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เวลา 08.00 น. ได้จัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ "อิทธิพลส่วยรถบรรทุกกับการคอรัปชั่น" เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรคการเมืองที่มีต่อการออกกฎหมายบังคับใช้และแก้ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" เพื่อพัฒนาภาคขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยที่เป็นธรรมกับประชาชนและสอดรับกับบริบทของประเทศไทย

 

 

นาย อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" เป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในสังคมไทยมากกว่า 30-40 ปี ประกอบกับขณะนี้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง ทำให้บรรทุกน้ำหนักเกินมีจำนวนมากขึ้น จึงทำให้มีการเรียกเก็บ "ส่วยรถบรรทุก"

สำหรับการเก็บ "ส่วยรถบรรทุก" อดีตมีการจ่ายแบบราคาเหมา เช่น ผู้ประกอบการ 1 รายมีรถบรรทุก 20 คัน จะจ่าย 5,000-6,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันรูปแบบการจ่าย ส่วยรถบรรทุก ผู้ประกอบการ รถบรรทุก จะจ่ายเป็นคันราคาประมาณ 10,000-27,000 คันต่อเดือน ขึ้นอยู่ปริมาณการบรรทุกน้ำหนักของรถบรรทุก แต่ละปีพบว่า มีรถบรรทุกจ่ายส่วยประมาณ 120,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่าราคา 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาล ขณะที่ปัจจุบันรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีประมาณ 1,400,000-1,500,000 คัน ในส่วนนี้เป็นสมาชิกสหพันธ์ขนส่งฯ ประมาณ 400,000 คัน 

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" ส่งผลให้ถนนและสะพานเกิดความเสียหาย ชำรุดก่อนถึงอายุการใช้งานเร็วขึ้น โดยเฉลี่ยถนนคอนกรีตจะมีอายุการใช้งานประมาณ 30 ปี ส่วนถนนแอสฟัลท์มีอายุการใช้งาน 7 ปี ก็จะต้องซ่อมเร็วขึ้น เพราะถนนมีการออกแบบมารองรับน้ำรถบรรทุกเพียงแค่ 21-25 ตันเท่านั้น แต่พบว่ามีการบรรทุกน้ำเกินกว่ากฎหมายกำหนดประมาณ 80-100 ตัน อย่างไรก็ตามปัญหารถบรรทุกบรรทุกน้ำหนักเกิน ยังส่งผลให้ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศ ทั้งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ ท้องถิ่น มากกว่า 1 แสนล้านบาท ต่อปี

 

ทั้งนี้ตนเห็นว่าหากจะแก้ไขปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" ได้นั้น ทางภาครัฐจะต้องดำเนินการ เอาผิดผู้ว่าจ้างในการขนส่งสินค้า เช่น โรงโม่ ที่มีการให้เกิดบรรทุกน้ำหนักเกิน  ติดตั้งเครื่องประเมินน้ำหนักรถบรรทุกบนโครงข่ายทางหลวงในระยะทางกว่า 50,000 กม. ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อช่วยเข้มงวดขวดขันเรื่องกังกล่าว และไม่ควรมีการตั้งด่านตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์จากรถบรรทุก โดยเฉพาะเส้นทางหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เป็นต้น 

 

 

ด้าน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างการเสวนา ว่า ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" มีมายาวนานกว่า 30 ปี  โดยขณะนี้รถบรรทุกเกือบทั้งหมดมีการใช้ระบบการจ่ายเงิน เพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบน้ำหนัก และเลี่ยงกฎหมายจำนวนมาก  ดังนั้นหากจะมีการแก้ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" และสร้างความเท่าเทียมกับธุรกิจขนส่งของประเทศไทยจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบครอบว่า ปัญหาดังกล่าวมีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง และต้องตัดวงจรทิ้ง ผ่านแนวทาง การใช้กฎหมายเอาผิดและลงโทษเจ้าของสินค้า ผู้ประกอบการรถบรรทุก   ให้รถบรรทุกสินค้าชั่งน้ำหนักตั้งแต่ต้นทาง พร้อมกับต้องมีใบระบุน้ำหนักที่ชัดเจน  ใช้ระบบอัตโนมัติ ตรวจจับน้ำหนักขณะรถบรรทุกวิ่งผ่าน โดยการติดตั้งไว้บนผิวจราจร หรือใต้สะพานจะช่วยปัญหาได้ ควรมีการเพิกถอนใบอนุญาตการจดทะเบียน หรือควรจะมีการพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ  เพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของคนขับรถที่ขับรถยรรทุกน้ำหนักเกิน  เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "ส่วยรถบรรทุก" จะต้องถูกลงโทษทางวินัยทุกราย 

แก้ปัญหาส่วยรถบรรทุก

 

ด้าน ดร.ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย  ผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" ที่เกิดขึ้นเกิดจากการตีความของเจ้าหน้าที่และผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น กรณีที่มีการชั่งรวมน้ำหนักของผู้ที่นั่งมาด้วย หากพบว่ารถคันดังกล่าวไม่ได้จ่ายเงินค่าส่วยมาก่อน ซึ่งกฎหมายในประเทศไทยมีช่องว่างให้เกิดทุจริตเยอะมาก  ดังนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ ผู้ประกอบรถบรรทุกจะต้องไม่สมยอมในการจ่ายเงิน เพื่อให้รถของตนเองสามารถบรรทุกเกินน้ำหนักได้ หรือหากผู้ประกอบรถบรรทุกคนไหนรู้ว่ามีการเรียกรับ "ส่วยรถบรรทุก" จะต้องนำเรื่องราวตีแผ่แก่สังคมให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดการจับตามองของหลายๆ ภาคส่วน เพราะปัจจุบันนี้ กระแสสังคมช่วยทำให้ปัญหาหลายอย่างคลี่คลายลง ซึ่งหากจะรอให้มีการแก้ไขกฎหมายจำเป็นต้องใช้เวลานานเกินไป ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกที่อยู่ในสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย สามารถทำได้เลยคือ การไม่เผิกเฉยต่อการกระทำความผิดของรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน 

 

นอกจากนี้ในกิจกรรมเสวนายังมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" ได้อย่างน่าสนใจ เช่น การนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบการวัดน้ำหนักรถบรรทุก  โดยการเปิดให้ทุกหน่วยงานเห็นขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ตั้งแต่การชั่งน้ำหนัก การบรรทุกน้ำหนัก ของรถบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง เพราะเทคโนโลยีจะช่วยให้กระบวนการทำงานโปร่งใส และตรวจสอบได้มากขึ้น   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ