ชูเมืองท่องเที่ยวพัทยาโมเดล ใช้กัญชาอย่างสร้างสรรค์
กฎหมายปรับเปลี่ยน เราปรับตัว! สถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการแพทย์ ปักหมุดชูเมืองท่องเที่ยวพัทยาโมเดล เปิดตัวคลินิก “MGT by Waldo”ใช้กัญชาอย่างสร้างสรรค์ สร้างรายได้เพื่อคนไทย"
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 สถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการแพทย์ (บริษัท วอลโด 18 จำกัด) ร่วมกับ บริษัท สยาม อิมเมจ จำกัด และ บราเธอร์เปา สหคลินิกร่วมลงนามในสัญญากิจการร่วมค้า (Incorporated joint venture) ในนาม “กิจการร่วมค้า เอ็มจีที" (Medical Gancha Thailand : MGT) ปักหมุดนำร่องเมืองพัทยา เพื่อสร้างจุดขายดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทย แนวใหม่เชิงสุขภาพ
โดยยืนยันว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนด ภายใต้การกำกับ ดูแลสั่งจ่ายกัญชา จากแพทย์ที่มีความรู้และผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เข้าร่วมในพิธีและแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก ณ LK Royal Suite ซอยบัวขาว พัทยากลาง จังหวัดชลบุรี
นางสาวปภัสร์ลภัส เศวตเลิศวาณิช หรือ มาดามอุ๊ ผู้ก่อตั้ง MGT (Medical Gancha Thailand) กล่าวว่า “ภายหลัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยกำหนดให้เฉพาะส่วนของ “ช่อดอก” เท่านั้น เป็นสมุนไพรควบคุม
เนื่องจากกฎหมายปรับเปลี่ยน ทำให้เราต้องปรับตัวเพื่อเดินต่อไปให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกเมืองพัทยา ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์คทางด้านการท่องเที่ยว สร้างจุดขายใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวประเทศไทยเพื่อการพักผ่อนอย่างมีความสุขและสบายใจ ที่สำคัญคลินิก MGT by Waldo จำหน่ายกัญชาที่ชำระภาษีเข้าระบบอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการนำเงินตราเข้าประเทศ นี่คือเจตนารมณ์ ในการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และการออกใบ Certificate of Analysis (COA) จะทำให้สามารถยืนยันแหล่งที่มาของกัญชาที่ถูกต้อง และมั่นใจได้ว่ามีคุณภาพความปลอดภัย ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเราได้ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้มีมาตรฐานความชัดเจน
แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ายังมีช่องโหว่ที่ต้องจัดการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง คือแหล่งที่มาที่ถูกต้องสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งกัญชาส่วนใหญ่ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาที่ถูกต้องได้แต่เรา MGT สามารถยืนยันออกเอกสาร GACP เพื่อยืนยันมาตรฐานคุณภาพได้ อีกทั้งยังมีช่องโหว่คือการลักลอบนำเข้าช่อดอกกัญชาเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ และคนไทยเสียโอกาสการแข่งขัน จึงต้องสร้างโมเดลธุรกิจกัญชาทางการแพทย์และแยกนันทนาการให้ชัดเจน เพื่อส่งเสริมทัวร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ถูกต้องปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของสังคมและสากล
ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังที่สุดในวันนี้ก็คือ อยากให้ผู้บังคับใช้กฎหมายเข้าใจ ยอมรับ กับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ปลดล็อกกัญชาเพื่อประโยชน์ของประชาชน ด้านการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ และเข้าใจถึงความตั้งใจของพวกเราในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจด้านกัญชา ซึ่งดำเนินกิจการทางด้านกัญชาตามนโยบายของรัฐอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดมาตั้งแต่ต้น เพราะวันนี้มีงานวิจัยมากมายถึงประโยชน์ของพืชกัญชา ที่สามารถรักษาโรคและบำบัดอาการต่างๆของร่างกาย เช่น อาการเครียด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า บรรเทาอาการเจ็บปวดได้กับผู้ป่วยมะเร็งและโรคอื่นๆ ฯลฯ
ทางด้าน นายชัชปัฐวี อัฏฐพรเมธา หรือ คุณซิดนีย์ ผู้บริหารฯ กล่าวว่า “จากการริเริ่มของสถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการแพทย์ ที่ดำเนินโครงการมากว่า 3 ปี เพื่อรองรับการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติด จนสามารถมีฟาร์มปลูกกัญชาทางการแพทย์ ระบบปิด Indoor Medical Grade ที่อาคาร Waldo 18 ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โดยมีความหลากหลายมากกว่า 30 สายพันธุ์ อาทิ สายพันธุ์ไทยต่างๆ ท็อปอินดิก้า ท็อปซาติว่า ซึ่งล้วนเป็นพันธุ์กัญชาชั้นนำที่มีคุณภาพชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในระดับสากล อีกทั้งมีเครือข่ายเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสถาบันการศึกษาให้ความสนใจร่วมมือดำเนินการปลูก ศึกษา และวิจัยกัญชาทางการแพทย์และเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการนำผลิตผลและผลิตภัณฑ์ไปสู่การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ และสถาบันฯ มีเป้าหมายมุ่งผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย”
ทางสถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการแพทย์ จึงขอให้เชื่อมั่นในการดำเนินการของคลินิก MGT by Waldo เพื่อจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์ และสุขภาพ มีระบบการลงทะเบียนยืนยันตัวตนที่ชัดเจนตรวจสอบได้ จะเป็นการใช้กัญชาอย่างสร้างสรรค์ ป้องกันเยาวชนเข้าถึงและไม่กระทบต่อสังคม สร้างประโยชน์ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้เพื่อคนไทยทุกคน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้เราจะก้าวไปสู่การผลักดันให้เป็น Soft power และทำให้ประเทศไทยเป็น "Health Cannabis Hub" ของเอเชียและของโลกให้ได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศไว้ เพื่อต่อยอดสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุขของไทย
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยมีสาระสำคัญหลัก ได้แก่
- ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2565
- ให้กัญชา เฉพาะส่วนของช่อดอก เป็นสมุนไพรควบคุม
- ผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 และผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในรายละเอียด
- ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 อยู่ก่อนวันที่ประกาศบังคับนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นสมุนไพรควบคุมตามประกาศ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ของประกาศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขข้างต้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ผลงาน และทรัพยากรทางธุรกิจต่างๆ ประกอบกัน คู่สัญญาจึงมีความประสงค์จัดตั้งกิจการร่วมค้า (Incorporated joint venture) ตามที่กฎหมายของประเทศไทยกำหนด เพื่อให้สามารถศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนตลาดการปลูกพืชกัญชา สร้างงาน สร้างอาชีพ การท่องเที่ยว การแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นพืชเศรษฐกิจของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป
นอกจากนี้ นายชัชปัฐวี ยังกล่าวถึงกรณีการผลักดันร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ว่าตนเองขอยืนยันในเจตนารมณ์เดิมที่เคยไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภา ในนา ตัวแทนสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน คือ ขอเรียกร้องให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ในการควบคุมกัญชาทางการแพทย์ กัญชา โดยขอให้ ส.ส. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) และผู้เกี่ยวข้อง โปรดวางมาตรฐานทางกฎหมายเพื่อกำกับดูแลกัญชาเสรีอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม มีขอบเขต และแก้ไขปัญหาสังคม
โดยขอให้เพิ่มเติมเนื้อหากฎหมายควบคุมกัญชานันทนาการ ที่ชัดเจนตามรูปแบบของต่างประเทศที่เป็นสากลเป็นยอมรับ โดยมีตัวบทแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างกัญชาเชิงการแพทย์ และกัญชาเพื่อนันทนาการ เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วย ผู้ใช้ ผู้จำหน่าย ควบคู่ไปกับป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนภายใต้ระเบียบควบคุมที่ชัดเจน โดยไม่สร้างเงื่อนไขหรือการกีดกันทางการค้า หรือ จำกัดสิทธิ์ใด ๆ ที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ประชาชนควรจะได้รับอย่างถูกต้องต่อไป