มติครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีอยู่เรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างเรา คือ "ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ..."
ซึ่งครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ เป็นการปัดฝุ่นกฎหมายเก่า ที่สคบ.เคยเสนอเมื่อปี 2560 เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
โดยเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความชำรุดบกพร่องของการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้าบางประเภท ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล และสินค้าอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อดีคือ เป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุดบกพร่องให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
เพราะปัจจุบันนี้ เรามักจะเจอข่าว ชาวบ้านซื้อรถยนต์ใหม่ๆไปแดงแล้วเจอปัญหา ต้องมาทุบรถโชว์ร้องสื่อ แต่ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เป็นข่าวแล้วก็จบกัน รถยนต์ก็ไม่ได้ใช้ เผลอๆต้องผ่อนค่างวดต่อไปด้วยซ้ำ
หรือกรณีที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที ที่ราคาถูก แต่คุณภาพห่วย ใช้งานไปไม่นานก็พัง แต่ผู้บริโภคบางท่านอาจจะคิดว่า เอาน่า ไม่เป็นไร ราคาถูกแบบนี้มันพังก็สมควรแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริง สินค้าควรมีคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง
ซึ่งสรุปง่ายๆคือ กฎหมายฉบับนี้ ให้การคุ้มครองรับประกันสินค้า ที่อยู่ในเวลาส่งมอบและปรากฏขึ้นภายใน 2 ปีนับแต่วันส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม
โดยในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายใน1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง
ผู้บริโภค สามารถเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า เปลี่ยนสินค้า ขอลดราคาสินค้า และเลิกสัญญาได้
แต่มีข้อยกเว้นคือ ถ้าผู้บริโภครู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง นำดัดแปลงสินค้าโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นที่ระบุในคู่มือการใช้งาน ก็จะไม่ได้การคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้
เอาเป็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ไม่รู้จะไปถึงฝันหรือไม่ เพราะต้องอาศัยกลไกสภาผู้แทนฯ ที่กำลังจะหมดวาระ ในการตรากฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง