"บีเจซี บิ๊กซี" ปั้น หลักสูตร BASE ติดอาวุธผู้ประกอบการค้าปลีกไทยแกร่ง
"บีเจซี บิ๊กซี" ถือเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจครบวงจร มีกิจการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือผลิตสินค้า จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า มีหน้าร้านเป็นของตัวเองผ่านห้างค้าปลีก"บิ๊กซี"
ปัจจุบันอาณาจักรธุรกิจมีมูลค่า “แสนล้านบาท” จากการค้าขายผ่านช่องทางหน้าร้านหรือออฟไลน์ แต่เทคโลโนโลยี โลกดิจิทัล พฤติกรรมการชอปปิงของผู้บริโภคเปลี่ยนจน “ดิสรัป” ช่องทางค้าเดิมๆ อีกด้านการแข่งขันค้าปลีกรุนแรงขึ้น มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เข้ามาแบ่งเค้ก ทำให้บริษัทตระหนักในการเสริมแกร่งธุรกิจ ด้วยการเปิดโปรแกรม “BASE” หรือ BJC Big C Academy of Smart Entrepreneur
ทั้งนี้ผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร BASE ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นแม่ทัพใหญ่อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน)ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประจำสำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีเจซี บิ๊กซี ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) และกุนซือข้างกาย“อัศวิน-ฐาปนี”มา 14 ปี อย่าง บุญคลี ปลั่งศิริ อดีตประธานบริษัท และที่ปรึกษาธุรกิจ
อัศวิน ฉายภาพว่า บีเจซี ดำเนินธุรกิจค้าขายสินค้ามา 140 ปี และมีค้าปลีก บิ๊กซี มา 30 ปี ปัจจุบันขุมข่ายธุรกิจกระจายจากฐานทัพไทยไปยังภูมิภาคอาเซียน ทั้งเวียดนาม ลาว มาเลเซีย เป็นต้น
ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปลี่ยน การแข่งขันสูง โดยเฉพาะ“ค้าปลีก”มีเทคโนโลยีดิสรัป และ “คู่แข่ง” ทุนข้ามชาติเข้ามา บริษัทจึงต้องการรวมตัวผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อสร้างพลังเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต
นอกจากนี้ การเปิด หลักสูตร BASE ไม่เพียงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แต่ยังคาดหวังจะเกิดการปิ๊งไอเดียใหม่ๆ ต่อยอดธุรกิจค้าปลีกของไทย โดยใช้จุดแข็งของกิจการต้นน้ำถึงปลายน้ำของ“บีเจซี บิ๊กซี”ในการ“ทดลอง”ทำโปรเจคการค้าต่างๆเชื่อมโลกได้
“ค้าปลีกเมื่อก่อนเรานำสินค้ามาเสิร์ฟให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย อนาคตอาจนำสินค้าไปหาลูกค้าบ้าง ผ่านช่องทางขายออนไลน์ ออมนิชาแนล แชทช้อป อีคอมเมิร์ซต่างๆ ยังมีหลายอย่างพัฒนาได้ทั้งประเภทสินค้า บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการทำตลาด ที่ต้องเล่าเรื่องหรือสตอรี่ เทลลิ่ง อย่างตอนนี้บิ๊กซีมีการไลฟ์ขายสินค้าประมาณ 4,500 ครั้งต่อเดือน หรือการทำร้านโดนใจ แปลงร้านค้าทั่วไปให้มีโปรแกรมขายหรือพีโอเอสยกระดับการค้า ซึ่งสุดท้ายไอเดียใหม่ๆต้องแก้ปัญหาหรือตอบเพนพอยท์ลูกค้า คู่ค้าให้ดีขึ้น”
“ออมนิชาแนล”เชื่อมโลกชอปปิงให้ไร้รอยต่อทั้งโลกออฟไลน์-ออนไลน์ผ่านร้านค้ามากมายในอาเซียน จึงมองหาเทคโนโลยีมาเสริมแกร่งจากเครือข่ายผู้เข้าเรียน BASE ด้วย ขณะที่ล่าสุดบริษัทได้ตั้งบิ๊กซี ดิจิทัลสร้างทีมใหม่ 200-300 ชีวิต พัฒนาแอปพลิเคชัน“ซีพลัส”เพื่อลุยขายออนไลน์ผลักดันการเติบโต จากปัจจุบันรายได้กว่า 1.6 แสนล้านบาท ออนไลน์ทำเงินเพียง 4,000-5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน“ซีพลัส”จะเปิดตัวเดือน พ.ย.นี้ หวังยอดดาวน์โหลด 5 ล้านครั้ง
“ตอนนี้ค้าปลีกแข่งขันสูง ผู้ประกอบการไทยมีเวลาให้ล้มน้อยมาก ล้มแล้วต้องรีบลุก หลักสูตร BASE จึงมีการถ่ายทอดบทเรียนที่พลาดมาแบ่งปันให้วงการค้าปลีก”
ด้านธนา แม่ทัพบลูบิคฯ เล่าว่า กุนซือบุญคลี ซึ่งเคยทำงานร่วมกันเมื่อครั้งอยู่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นผู้ชักชวนพัฒนาหลักสูตร BASE โดยตั้งโจทย์เกี่ยวกับ“คนเก่ง”ยุคปัจจุบันที่ต้องมี Ability to Learn สามารถเรียนรู้ ซึมซับข้อมูล ความรู้ใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม การทำหลักสูตร BASE ที่เจาะลึกรายอุตสาหกรรมไม่ง่าย โดยเฉพาะค้าปลีก การริเริ่มได้ต้องเหมือนการเกิด “สุริยคราส” ที่องค์ประกอบทุกอย่างต้องสอดประสานกันพอดี ทั้งการมีเจ้าภาพ มีกิจการครบครันให้เรียนรู้
“ธุรกิจค้าปลีกเป็น 1 ใน 4 เซ็กเตอร์ที่โดนดิสรัปหนัก การมีหลักสูตร BASE จึงมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ค้าปลีกรอบด้านทั้งการเป็นผู้นำ การตลาด การเล่าเรื่อง การขายสินค้า การเงิน เทคนิคทางบัญชี ฯ เป็นการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการค้าปลีกที่เข้าเรียน"
โดยหลักสูตรนี้จะเปิดปีละ 2 ครั้ง ค่าคอร์สอยู่ที่ระดับ 190,000 บาท รุ่นแรกเปิดรับ 120 คน โดยวิทยากรคนสำคัญที่จะประเดิมแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านธุรกิจคือ“เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”ผู้ครองอาณาจักรไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี กรุ๊ป ที่มี “บีเจซี บิ๊กซี” เป็น 1 ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลักของเครือ
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/