ข่าว

"ภาษีคริปโต" คืออะไร เสียอย่างไร ใครต้องเสียบ้าง เมื่อ ลงทุน คริปโต

"ภาษีคริปโต" Cryptocurrency ลงทุน คริปโต แล้ว ต้อง เสียภาษี อย่างไร ใครต้องเสียบ้าง รวบรวมมาให้แล้ว สรุปครบจบที่นี่

หากพูดถึง "คริปโต" หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาระยะหนึ่งแล้ว หลังได้รับการยอมรับว่า เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง และเริ่มมีการใช้จ่ายแทนเงินสดได้บ้างแล้ว จนได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุน ถึงกับล่าสุด มีกลุ่มชายฉกรรจ์ชาวรัสเซีย 6 คน ก่อเหตุอุกอาจปล้นเงินคริปโตฯ จากเพื่อนร่วมชาติ จำนวน 50,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านบาท กลางร้านกาแฟชื่อดังบนเกาะสมุย แต่ก็เชื่อว่า ยังมีอีกหลายคน ยังไม่เข้าใจว่า คริปโต Crypto  คืออะไร สรุปมาให้เข้าใจง่าย ๆ แล้ว รวมทั้ง ภาษีคริปโต ที่ต้องทำความเข้าใจด้วย

"คริปโต" หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ สกุลเงินดิจิทัล ที่เกิดจากการรวมศัพท์ 2 คำเข้าไว้ด้วยกัน คือ Cryptography (การเข้ารหัส) และ Currency (สกุลเงิน) ดังนั้น ทางราชบัณฑิตยสภา จึงกำหนดศัพท์บัญญัติของคำนี้ไว้ว่า "สกุลเงินเข้ารหัส" โดยคริปโตเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ได้รับการออกแบบมา เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ โดยใช้วิทยาการเข้ารหัส หรือรหัสลับ (Cryptography) ในการป้องกันและยืนยันธุรกรรม อีกทั้ง ยังใช้การเข้ารหัสเพื่อควบคุมการผลิตคริปโตบางประเภทอีกด้วย 

 

 

ความแตกต่างระหว่าง "คริปโต" กับ สกุลเงินปกติ

 

  • สกุลเงินปกติ หรือที่เรียกว่า เงินเฟียต (Fiat) เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งแบบเหรียญและธนบัตร สามารถจับต้องได้ ใช้จ่ายเป็นเงินสด หรือจ่ายผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ แต่เงินเหล่านี้จะไม่มีมูลค่าในตัวของมันเองหากรัฐบาลไม่ได้รับรอง
  • สกุลเงินดิจิทัล ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเหมือนกับเงินเฟียต แต่บุคคลทั่วไปหรือภาคเอกชนเป็นผู้ออกเหรียญ ไม่ใช่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น และเป็นเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนเหรียญ-ธนบัตรทั่วไป เพราะทำธุรกรรมกันผ่านระบบบล็อกเชน ทั้งนี้ เงินดิจิทัลจะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อมีคนให้ค่าของเงินสกุลนั้น

คริปโต

"คริปโต" ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคืออะไร

 

บิทคอยน์ คือ สกุลเงินดิจิทัล ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกของคริปโตเคอร์เรนซี สร้างโดย Satoshi Nakamoto โดยเป็นสกุลเงินคริปโตแรกที่เกิดขึ้นบนโลก ตั้งแต่วันแรกที่บิทคอยน์ถูกสร้างขึ้นมานั้น หลายคนก็มองว่าบิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่เหมาะกับการสะสม และเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการติดต่อและดำเนินธุรกรรมระหว่างบุคคล เทคโนโลยีบิทคอยน์บนบล็อกเชนนั้น ทำให้ธุรกรรมระหว่างบุคคลเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัยและน่าเชื่อถือ โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนกลางมาดำเนินการ 

 

 

ตั้งแต่มีบิทคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดีเยี่ยมที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาหุ้น และสินทรัพย์ต่าง ๆ และนี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้คนนิยมลงทุนกับบิทคอยน์ นอกเหนือจากบิทคอยน์แล้วยังมีสกุลเงินในโลกของคริปโตเคอร์เรนซีมากกว่า 8,000 สกุลเงิน โดยสกุลอื่น ๆ เหล่านี้เรียกรวมกันว่า Altcoins (อัลท์คอยน์) ซึ่งย่อมาจาก Alternative Coin นั่นเอง 

 

สามารถแลกเปลี่ยน "คริปโต" เป็นสกุลเงินปกติได้หรือไม่

 

สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์ หรือ อัลท์คอยน์ แต่ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยน จะต้องได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากประเทศที่ให้บริการก่อน ในขณะนี้ Zipmex ได้รับใบอนุญาตรับรองจาก ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หมายความว่า Zipmex สามารถให้บริการการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซีได้ รวมไปถึงการเทรดบิทคอยน์เป็นเงินบาทสำหรับนักเทรดชาวไทยอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัท ร้านค้าหลายแห่งในประเทศไทย รับชำระเงินด้วย "คริปโต" เช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์, เดอะมอลล์, ร้านกาแฟอินทนิล, ปั๊มน้ำมันบางจาก แม้กระทั่งวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างอนันดา หรือ SC Asset แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่สนับสนุนให้นำคริปโตมาใช้จ่ายได้เสมือนเงินจริง เนื่องจาก

 

  • ราคาเหรียญมีความผันผวนสูง ทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ซื้อ หรือรายรับของผู้ขายมีความไม่แน่นอน
  • เพิ่มความเสี่ยงในการฟอกเงิน และซื้อ-ขายสินค้าผิดกฎหมาย เพราะกระเป๋าเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน
  • เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เพราะยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการชำระเงิน
  • เพิ่มต้นทุนในการชำระเงิน จากการต้องแลกเปลี่ยนไป-มา หรือปรับระบบให้รองรับสินทรัพย์ประเภทนี้
  • ลดเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เพราะแบงก์ชาติไม่สามารถดูแลสภาวะการเงินและระดับราคาสินค้าที่ไม่ใช่เงินบาทให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้
  • การที่ประเทศใช้เงินหลายสกุลยังส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
  • ไม่มีแหล่งสภาพคล่องในกรณีวิกฤต เนื่องจากแบงก์ชาติไม่สามารถปล่อยสภาพคล่องในรูปเงินที่ไม่ใช่เงินบาทได้

          

หลังกรมสรรพากรประกาศว่า จะเรียกเก็บ "ภาษีคริปโต" ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นไป แล้ว ภาษีคริปโต Cryptocurrency เสียยังไง เสียแบบไหน รายได้แบบไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี คมชัดลึกออนไลน์ สรุปมาให้แล้ว

 

โดยพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งระบุรายละเอียดในเนื้อหาว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไร หรือมีผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโตฯ จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดย พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ได้หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกําหนดฉบับนี้ คือ

 

โดยที่ในปัจจุบันได้มีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ โทเคนดิจิทัล ซึ่งเงินได้จากกรณีดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษี แต่โดยที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการจัดเก็บ ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี เงินได้จาก คริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล เป็นการเฉพาะเป็นเหตุให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน

 

แบบไหนต้องเสีย "ภาษีคริปโต" เริ่มต้นด้วยหลักการของกฎหมาย 3 ข้อ คือ

 

  1. ส่วนแบ่งกำไรที่ได้ต้องเสียภาษี
  2. ผลประโยชน์ที่เกิดจากการโอนต้องเสียภาษี
  3. ให้ผู้จ่ายเงินได้หัก 15% เมื่อมีการจ่ายเงินได้ และหักแล้วไม่สามารถใช้สิทธิ Final TAX
     

 

กรณีเป็นเงินได้จากต่างประเทศจะไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย

 

  1. อยู่ในไทยในปีนั้นไม่ถึง 180 วัน
  2. ไม่ได้นำเงินได้เข้ามาในปีที่เกิดเงินได้
     

* คำแนะนำ ถ้าหากเทรดที่ต่างประเทศแล้วถือกำไรไว้ เอาเข้ามาปีถัดไป จะไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

 

แต่หากเทรดที่ไทย ตีความรายได้เป็น 3 ทาง ดังนี้

 

  1. กรณีที่เทรด (กำไรจากการแลกเปลี่ยน) สรรพากรตีความว่าคิดตาม Transaction ที่มีกำไร โดยไม่ให้นำขาดทุนที่เกิดขึ้นมาหักออกได้เลย และหากมีการซื้อขายที่กระดานเทรด (Exchange) หากเกิดรายได้ (กำไร) เมื่อไร ก็ถือว่าเป็นรายได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องถอนเงินออกมาเข้าบัญชีธนาคาร
  2. กรณีที่รับผลตอบแทน (ล็อกเหรียญ / Staking) มองเหมือนการได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร ผลตอบแทนต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลด้วยเช่นกัน โดยทั้งข้อ 1 - 2 ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4
  3. กรณีขุด (Mining) จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 เหมือนการผลิตสินค้าเพื่อขาย โดยจะเป็นรายได้ ก็ต่อเมื่อมีการขายให้กับทางผู้ซื้อแล้วเท่านั้น และให้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายตามจริงได้ (ไม่มีสิทธิหักเหมา)
     

* หากผู้จ่ายมีการจ่ายเงินได้ให้ผู้รับเงิน ก็ต้องหักภาษี 15% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

 

ทั้งนี้ ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่กรมสรรพากรได้เสนอไว้ โดยจะผ่อนปรนการเก็บภาษีภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ดังนี้

  1. ภาษีเงินได้: การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมินหรือกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น
  2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย: กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
  3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม: ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Retail CBDC) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566

 

สรุปง่าย ๆ คือ สำหรับธุรกรรมที่ทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. นั้น กรมสรรพากรจะยังไม่เก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงนักลงทุนสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรในปีภาษีเดียวกันได้

 

ตัวอย่างการคิด "ภาษีคริปโต" แบบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

เราแลกเปลี่ยนซื้อขายเหรียญดิจิทัลได้กำไรมา 10,000 บาท เราต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อน 15% = 10,000 x 15% = 1,500 บาท สรุปได้ว่าจากการซื้อ-ขายเหรียญดิจิทัลในครั้งนี้ เราจะเหลือกำไรคือ 10,000 - 1,500 = 8,500 บาท และการหักภาษี 15% ตรงนี้ ยังไม่ได้ถือว่าเป็น Final tax เพราะในรอบการยื่นภาษีในรอบปีภาษีใหม่ เรายังต้องนำส่วนแบ่งกำไร หรือกำไรจากการขายเหรียญดิจิทัลมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย หากไม่นำมายื่นอาจมีความผิดในการหลบเลี่ยง หรือแสดงรายการยื่นภาษีไม่ครบ ก็อาจโดนบทลงโทษต่อไป

 

อ่านรายละเอียดการเสียภาษีคริปโต กรมสรรพากร คลิกที่นี่

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่

Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote  

https://www.komchadluek.net/entertainment/524524

ข่าวยอดนิยม