‘อาเซียน’ ถกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เดินหน้ารับรองแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 2 ปี
‘อาเซียน’ ถกคู่เจรจาบวกสาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รับรองแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ปี 2566-2567 ทั้งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จาก FTA กับคู่เจรจา ส่งเสริม MSMEs อำนวยความสะดวกทางการค้า พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานทดแทนและเศรษฐกิจสีเขียว ด้านสภาธุรกิจเสนอกิจกรรมสำคัญ เน้นการจัดทำ E-book สัมมนาออนไลน์ RCEP เผยผลสำรวจเอกชนหนุนการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนและด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับโมเดล BCG ของไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 25 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญ อาทิ การรับรองแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี 2566-2567 เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 และรับทราบข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (EABC) โดยเฉพาะการส่งเสริมใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
นางอรมน กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับรองแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี 2566-2567 ซึ่งเป็นแผนกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 อาทิ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับคู่เจรจา การส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเพิ่มขีดความสามารถของอาเซียนบวกสามในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวยังได้เพิ่มความร่วมมือด้านใหม่ ได้แก่ พลังงานทดแทนและเศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งนี้ สภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (EABC) ได้นำเสนอกิจกรรมสำคัญในปีนี้ โดยเฉพาะการจัดทำ E-book การจัดสัมมนาออนไลน์เกี่ยวกับความตกลง RCEP เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าใจและใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP มากขึ้น
โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://www.eabex.org โดย EABC ได้เตรียมจัดทำคลิปวิดีโอเพื่อให้ความรู้เรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและพิกัดศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้รายงานผลสำรวจภาคเอกชนของปีนี้ ซึ่งพบว่า มีบริษัทมากกว่า 50% ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG Management) โดยเฉพาะแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับแผนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ของประเทศไทย
สำหรับในปี 2564 การค้าระหว่างอาเซียนและประเทศบวกสาม มีมูลค่า 1.098 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 25.1% ของปริมาณการค้ารวมของอาเซียน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มาจากประเทศบวกสาม มีมูลค่ากว่า 32.65 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 25.4% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังอาเซียน
สำหรับในช่วง 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 2565) การค้าระหว่างไทยกับประเทศบวกสาม มีมูลค่า 126,760.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.63% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และในปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 180,284.38 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 33.45% ของมูลค่าการค้าไทยทั้งหมด
โดยแบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปยังประเทศบวกสาม มูลค่า 68,154.87 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากประเทศบวกสามมายังไทย มูลค่า 112,129.52 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา