ข่าว

เปิดฉากยิ่งใหญ่ "รัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค" 2022

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เริ่มแล้ว เกษตรฯ เปิดฉากยิ่งใหญ่ เจ้าภาพเอเปค 2022 เปิดแลนด์มาร์ค หัวหินไทยแลนด์ ประชุม "รัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค" ครั้งที่ 7

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดฉากเจ้าภาพจัดการประชุม "รัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค" ครั้งที่ 7 (The Seventh APEC Virtual Food Security Ministerial Meeting) ร่วมกับสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ณ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ความปลอดภัยอาหาร การค้าระหว่างประเทศ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนร่วมกัน

 

ยืนยันไทยพร้อมจับมือร่วมเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการของแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ ค.ศ. 2030 ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

     เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ

 

โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวต้อนรับ "คณะรัฐมนตรี" และ "สมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ" พร้อมกล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ว่า ประเทศไทย มุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้เอเปค มีการเจริญเติบโตในระยะยาว มีภูมิคุ้มกัน มีความครอบคลุม ความสมดุล และความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ.2040 แผนปฏิบัติการเอาเทอรัว

     ความมั่นคงทางด้านอาหาร

 

รวมถึงหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยคือOPEN,CONNECT, BALANCE  หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล  และแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว Bio – Circular - Green Economy หรือ BCG Model

      ความมั่นคงทางด้านอาหาร

 

การประชุมระดับ "รัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร" นับเป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็งและสามารถมีส่วนร่วมสนับสนุน "ความมั่นคงอาหาร" ให้กับประชาคมโลก ในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่ ของโลก

 

จากสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารปัจจุบัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ. 2573 ประชาชนประมาณ 670 ล้านคน จะยังคงขาดสารอาหาร

 

นอกจากนี้ ผลกระทบและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นต่อระบบอาหารทั่วโลก เช่น วิกฤตด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เอเปค ต้องปรับบทบาทและแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน  

 

การประชุมครั้งนี้สมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ยังได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค  ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นทางการเมืองในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาคโดยในร่างปฏิญญาฯ ได้ผลักดันนโยบายสำคัญ 4 ด้าน

 

ประกอบด้วย 1) ด้านความปลอดภัยอาหาร เน้นการผลิตที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและสุขอนามัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้ามาที่ผู้ผลิตที่ต้นทางได้

 

2) ด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร ด้วยสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคี  

 

3) ด้านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการผลิตที่ยั่งยืน และใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างคุ้มค่า

 

และ 4) ด้านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงตลาด 

 

นอกจากนี้ ภาคเอกชนนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการร่วมเสริมสร้าง "ความมั่นคงด้านอาหาร" โดยประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค ประจำปี 2565 ได้ให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ได้แก่ การสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้า

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล  การประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร การส่งเสริมการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับการเกษตรและการค้าอาหาร และการนำโมเดลแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน  และเศรษฐกิจสีเขียว หรือโมเดล BCG มาปรับใช้  

 

ทั้งนี้ เชื่อมั่นได้ว่า ร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและอาหารของไทย นอกจากนี้ การสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคี จะทำให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น

 

พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ยังผลักดันการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย 3S ทั้งเรื่อง Safety Security และ Sustainability ส่งเสริมความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐานสากล ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงการพัฒนาฐานข้อมูลด้วยระบบ Big Data ด้านดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดของพืชและสัตว์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนภาคเกษตร ด้วย BCG Model  

 

และที่สำคัญ ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางนโยบายเสริมสร้างบทบาทสตรีให้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยใช้แผนขับเคลื่อนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ให้เป็น Smart group เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

 

นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการเกษตรให้มีความทันสมัย สามารถวิเคราะห์และวางแผนการผลิต  รวมถึงการเข้าถึงตลาด         ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน 

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ยังให้ความสำคัญด้านการพัฒนากำลังคนภาคเกษตร พัฒนากระบวนการทำงานด้วยเช่นกัน รวมถึงผลักดันวิจัยและนวัตกรรมเกษตร และยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน

 

โดยเฉพาะด้านนโยบายความยั่งยืนในระบบอาหารสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิตทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ ซึ่งหัวใจสำคัญในการผลักดันความยั่งยืน คือ การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน และลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการพันธุ์พืช ตลอดจนการทำเกษตรโดยใช้ตลาดนำการผลิต 

 

ผมขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณนิวซีแลนด์ ที่มุ่งมั่น และทำงานหนักร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปค ในการจัดทำแผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ซึ่งได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2564 แม้ช่วงเวลานี้ เอเปค ต้องเผชิญความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากในหลาย ๆ บริบท แต่เชื่อมั่นว่า เราจะเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ไปด้วยกัน เพื่อสร้างระบบอาหาร ภูมิคุ้มกัน

 

และสร้างความมั่นใจว่า ทุกคนจะสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ และไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค จัดการกับความท้าทายต่างๆ ขับเคลื่อนการดำเนินการของแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ ค.ศ. 2030 ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว

 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมประมง ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบเอเปค มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากการประชุมเอเปคพร้อมกันทั้งประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค และได้มีการจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องต่างๆ อีก 12 การประชุมเรื่อยมา

 

แน่นอนว่า การประชุมรัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจร่วมกันครั้งนี้ เป็นการแสดงวิสัยทัศน์และแนวนโยบายการผลักดัน "ความมั่นคงทางอาหาร" ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นนโยบาย BCG และ 3s รวมถึงนโยบายต่างๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า สินค้าเกษตรและอาหารไทย ในฐานะ ครัวโลก มีการผลิตที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน ผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้ประชากรในภูมิภาคเอเปคและโลกเพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่งออกสินค้าเกษตรไปยังคู่ค้าในเอเปคได้มากขึ้น

 

สำหรับความมั่นคงอาหารในประเทศไทย มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ โดยผ่านกลไกคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯโดย สศก. ได้จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) เพื่อคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายชนิดสินค้า ที่จะออกสู่ตลาดเป็นรายเดือนตลอดปีเพาะปลูกล่วงหน้าในแต่ละจังหวัด อำเภอและตำบล

 

รวมทั้งจะทำให้ทราบปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดด้วย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต โดยปัจจุบัน มีการรวบรวมสินค้าพืช 50 ชนิด ปศุสัตว์ 10 ชนิด และประมง 10 ชนิด แสดงทั้งปริมาณผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ข้อมูลความพอเพียงหมู่โภชนาการต่อประชากรในจังหวัด สัดส่วนของเกษตรกรในแต่ละชนิดสินค้า ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน และสัดส่วนการกระจายผลผลิตภายในและภายนอกจังหวัดเป็นรายสินค้าและรายจังหวัด ซึ่งเป็นการบริหารจัดการและสร้างความเชื่อมั่นความมั่นคงอาหารในประเทศ

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค เป็นการรวมตัวระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

 

ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ซึ่งเอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP รวมกันมากกว่า 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลก

 

การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 ครั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด - 19 และพร้อมผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายความมั่นคงด้านอาหาร ในฐานะครัวไทยสู่ครัวโลกโดยสหรัฐอเมริกา จะรับไม้ต่อจากประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ปี ค.ศ. 2023

 

ติดตามคมชัดลึก ได้ที่ 

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่   

 (https://awards.komchadluek.net/#)

 

                                          

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ