ข่าว

สื่อจีนสำรวจท่องเที่ยวไทยกับการต่อสู้ยุค โควิด-19 ธุรกิจอยู่รอดได้มากน้อยแค่ไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สื่อจีนสำรวจธุรกิจท่องเที่ยวไทยกับการต่อสู้ยุค โควิด-19 รอถึงวันที่ฟื้นจะอยู่รอดได้มากน้อยแค่ไหน

ท่ามกลางพื้นที่ตั้งแคมป์ที่รายล้อมด้วยผืนป่าเขียวชอุ่มของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ “พอล” เจ้าของร้านขายเทียนหอมฉีกยิ้มด้วยความโล่งใจ เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมายังอุทยานที่ถูกทิ้งร้างนานหลายเดือนจากพิษ โควิด-19

เจ้าของร้านวัย 30 ปีคนนี้ ได้รับเชิญให้มาเปิดร้านในงาน “สตีท ฟรี เฟสติวัล” (Stress Free Festival) มหกรรมแห่งความผ่อนคลาย ซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยงานการท่องเที่ยวไทย ณ อุทยานแห่งชาติ ที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

 

“ผมเริ่มทำธุรกิจนี้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ โควิด-19 ระบาดพอดี ผมจึงไม่มีเงินเช่าร้าน” ชายผู้ซึ่งตั้งแผงขายของหน้าตาน่ารักที่มีเทียนหอมทำมือวางเรียงราย พร้อมส่งกลิ่นที่หลากหลายกลางผืนป่าบรรยากาศสดชื่นกล่าวกับนักข่าว

“ผมหันมาขายทางออนไลน์แทน แล้วก็ต้องประหลาดใจเพราะยอดขายพุ่งสูงเป็น 3 เท่าของเป้าหมายที่ผมตั้งไว้” พอล กล่าวและว่า “ผมดีใจที่ได้เห็นผู้คนกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง แถมยังเยอะกว่าที่ผมคาดไว้ งานมหกรรมและวันหยุดยาวทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่นี่ จึงเป็นโอกาสดีที่จะตั้งบูธขายของ”

 

งานมหกรรมช่วงหยุดยาวชดเชยสงกรานต์เต็มไปด้วยคอนเสิร์ตหลายเวที แฟชั่นโชว์หน้ากากผ้า และกิจกรรมเวิร์กช็อป เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเคยได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่รัฐบาลได้ระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

ท่ามกลางสภาพการณ์ที่ไร้นักท่องเที่ยวซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้ รัฐบาลได้ออกแคมเปญเพื่อเติมเต็มช่องว่างและสนับสนุนให้คนไทยออกมาท่องเที่ยวในประเทศให้ได้มากที่สุด

ลึกเข้าไปท่ามกลางผืนป่าเขียวขจีของเขาใหญ่ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งซึ่งปิดไปถึง 2 เดือนจากพิษ โควิด-19 กลับมาต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

 

“ยอดจองเริ่มกลับมา เราจึงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวใหม่ทุกวันโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวและสุดสัปดาห์ แม้หน้ามะม่วงจะผ่านไปแล้วก็ตาม” วราภรณ์ เจ้าของสวนผลไม้ กล่าวครอบครัวของเธอรอดพ้นวิกฤติ โควิด-19 มาได้อย่างหวุดหวิดโดยไม่ต้องปลดพนักงานแม้แต่คนเดียว

“ตอนเราปิด มันเป็นช่วงเก็บเกี่ยวพอดี” เธอกล่าวและว่า “เราได้สรรค์สร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมจากมะม่วง เช่น น้ำผึ้งและผลไม้อบแห้ง พยายามใช้เทคโนโลยีการเกษตรรักษาความสามารถในการผลิตหลังเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งหลังฤดูมะม่วงผ่านพ้นไป”

“การขายผ่านทางออนไลน์และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมีส่วนช่วยอย่างมาก ช่วงนี้คือช่วงที่ยากลำบากจริงๆ หวังว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะหวนกลับมาได้ในอีกไม่ช้า”

 

ในทางกลับกัน วิภา เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะพะงัน ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่หมายท่องเที่ยวที่คึกคักของภาคใต้ กลับถูกโรคระบาด โควิด-19 พรากรอยยิ้มไป

หากเทียบกับเขาใหญ่ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 3 ชั่วโมงนั้น เกาะพะงันซึ่งตั้งอยู่นอกฝั่งอ่าวไทยและใช้เวลาบินจากกรุงเทพฯ 1 ชั่วโมง กำลังเผชิญกับสภาพการณ์ที่ตรงกันข้าม

วิภา เผยว่า ในช่วงวันหยุด 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. โรงแรมของเธอมีผู้เข้าพักเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

วิภา บริหารโรงแรมมานานร่วม 30 ปี “เรามีห้องพัก 124 ห้อง และพนักงานมากกว่า 90 คน แต่มีรายได้ตกเดือนละไม่ถึง 200,000 บาท ทุกเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม ลูกค้าของเราประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นต่างชาติ”

 

เกาะพะงันเป็นที่รู้จักทั้งในกิจกรรม “ฟูลมูนปาร์ตี้” และชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ เกาะพะงันจึงเป็นสวรรค์เมืองร้อนของบรรดานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ด้วยค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักที่มีราคาสูง ทำให้ชาวไทยไม่นิยมมาเที่ยว

“โรคระบาดทำรายได้หายไป หวังว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ภายในสิ้นปีนี้ ไม่อย่างนั้นเราคงต้องปิดตัว”

ณ ประเทศซึ่งได้ชื่อว่าดินแดนแห่งรอยยิ้มแห่งนี้ คนไทยได้สร้างชื่อเสียงอันเป็นที่กล่าวขานในทั้งการดำเนินชีวิตอย่างสนุกสนานและเรียบง่าย โดยมี “รอยยิ้ม” เป็นองค์ประกอบสำคัญ

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักจะได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 แต่รอยยิ้มของคนไทยก็ไม่เคยพ่ายแพ้ต่อโรคระบาด ทว่าดูเหมือนจะมีบางสิ่งขาดหายไป

 

“เราต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2 คน นับตั้งแต่คลายล็อกดาวน์ เป็นชาวกัมพูชาคนหนึ่งซึ่งโดยสารเครื่องบินส่วนตัวเข้ามาโดยใช้วีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว อีกคนหนึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทูตจากเม็กซิโกซึ่งเป็นผู้ถือบัตรอภิสิทธิ์ภายใต้การจัดการพิเศษ” ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าว

ปี 2019 ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 39.8 ล้านคน หรือเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ ด้าน ททท. คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปีนี้อาจดิ่งลงร้อยละ 80 ด้วยปริมาณการจราจรทางอากาศระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวเพียงร้อยละ 10 ของช่วงก่อนเกิดการระบาด โควิด-19

เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวที่เสียหายหนักและรักษาตำแหน่งงานหลายล้านอัตรา รัฐบาลจึงมีแผนเปิดเกาะภูเก็ตเพื่อเป็นต้นแบบในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา

 

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า แผนดังกล่าวประสบปัญหา หลังพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากในประเทศรายแรกในรอบกว่า 3 เดือน

เขา ระบุว่า มาตรการกักตัวที่เข้มงวด ความคิดเห็นของประชาชนที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย และความสามารถในการให้บริการด้านการแพทย์ คือปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา ซึ่งทำให้แผนการเปิดเกาะภูเก็ตล่าช้าออกไป

“ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่เราก็พบว่าการท่องเที่ยวในประเทศยังไม่คึกคักอย่างที่คาดแม้รัฐจะอุดหนุนแล้วก็ตาม ประชาชนยังคงชอบการเดินทางระยะสั้นนานไม่เกิน 3 ชั่วโมง สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งจึงไม่อาจสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้”

 

นอกเหนือจากการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ททท. ยังพยายามเสนอข้อเสนอพิเศษด้านการท่องเที่ยวในไทยให้แก่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศกว่า 2 ล้านคน และปัจจุบัน ททท. ยังเป็นคู่สัญญากับอาลีเพย์ (Alipay) และ ฟลิกกี (Fliggy) แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวจากจีน ในการส่งเสริมแคมเปญการท่องเที่ยวภายในประเทศสำหรับผู้อยู่อาศัยชาวจีน

“เราเชื่อว่าโรคระบาดจะผ่านพ้นไป และการท่องเที่ยวจะกลับมาเฟื่องฟูสักวันหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่ากว่าจะถึงตอนนั้น จะมีธุรกิจอยู่รอดได้มากน้อยแค่ไหน”

 

 

ท่องเที่ยวไทย, โควิด-19

 

(แฟ้มภาพซินหัว : พระอาทิตย์ตกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2001)

 

CR : xinhuathai.com

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ