ข่าว

ผู้ประกันตนเฮ สปส.สู่ปีที่ 31 เพิ่มสิทธิลาคลอดรับเงินชดเชยได้ 98 วัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ประกันตนเฮ "สุชาติ" รมว.แรงงาน มอบนโยบายสปส.สู่ปีที่ 31 มุ่งเน้นช่วยเหลือ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ระบุเพิ่มสิทธิลาคลอดรับเงินชดเชยจาก 90วันเป็น 98 วัน กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนเพิ่มจากเดิมเป็น 70%

        เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ณ สำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางมามอบนโยบายเนื่องในวันครบรอบ 30 ปี สำนักงานประกันสังคม โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ พร้อมชูนโยบายเร่งด่วนและสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และทิศทางในการทำงานของสำนักงานประกันสังคมที่พร้อมก้าวสู่ปีที่ 31

 

       ในโอกาสนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมได้นำไปปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยนำนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” เข้ามาดำเนินการ

 

        รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแรงงานแห่งชาติ ภายในกระทรวงแรงงาน บูรณาการการทำงานร่วมกันและมุ่งเน้นทำงานเชิงรุก ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ตรงจุด ทันท่วงที

 

      นอกจากนี้มอบนโยบายเร่งด่วน เพื่อเยียวยาความเจ็บปวดที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะ SMEs และประชาชนตกงาน โดยมีมาตรการในการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ใน 15 เดือน มีสิทธิรับเงินเยียวยา เป็นระยะเวลา 3 เดือน มาตรการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ลดอัตรา เงินสมทบจากนายจ้าง และผู้ประกันตน จากเดิมฝ่ายละ ร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2 ของค่าจ้าง (เดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2563)

 

      มาตรการเชิงรุกให้ลูกจ้างที่ว่างงานได้รับสิทธิประโยชน์โดยเร็ว จ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม ถูกต้อง ครบถ้วน รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่างๆ ยังคงจ้างงานต่อไป และใช้วิกฤติพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและแข่งขันได้      

           โดยจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สำนักงานประกันสังคมร่วมกับธนาคารสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถานประกอบการ โดยมีวงเงินที่ให้ปล่อยกู้ 30,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการ และให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพที่จะรักษาการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง

 

       นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า นโยบายสำคัญและทิศทางในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ตนได้กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมมีมาตรการส่งเสริม คุ้มครอง พัฒนา และสร้างหลักประกันทางสังคม สู่แรงงานนอกระบบโดยดำเนินการขับเคลื่อนเครือข่ายประกันสังคมทั่วไทย ผ่านกลไก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน โรงงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน

 

      รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 กรณีเสียชีวิต และกรณีทุพพลภาพ พร้อมทั้งศึกษารูปแบบความคุ้มครองกลุ่มอาชีพใหม่ โครงการ Safety & Healthy Thailand เพื่อผู้ประกันตน ผ่านกลไก 3H (Helping–Healthy–Harmless) ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ รวมไปถึงการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ สังคม และรองรับสังคมสูงอายุ

 

        ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ให้แก่ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ เช่น เพิ่มค่าทำศพผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท การขยายอายุการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จากเดิมจำกัดที่อายุ 60 ปี เป็นอายุ 65 ปี และการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โดยการแก้ไขกฎกระทรวงเพิ่มเหตุสุดวิสัยโควิด-19 และว่างงานจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย      

          สำหรับการดำเนินงานในปี 2564 สำนักงานประกันสังคมได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีทุพพลภาพ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง

 

        กรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร จาก 90 วัน เป็น 98 วัน

       กรณีสงเคราะห์บุตร ให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน

      กรณีค่าทำศพ กองทุนเงินทดแทน กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานปรับจาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท

       การยกระดับคุณภาพในการให้บริการแก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e–Service, Application, Web Application, Mobile Application เพื่อให้รองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ของสำนักงานประกันสังคม ได้แก่ การเพิ่มช่องทางในการชำระเงินสมทบผ่านธนาคารและหน่วยบริการชั้นนำ

 

      รวมไปถึงการยื่นแบบส่งเงินสมทบผ่านระบบ Internet การชำระส่งเงินสมทบผ่านระบบ E-payment ของธนาคารชั้นนำ 9 แห่ง และพิมพ์ใบเสร็จด้วยตนเองผ่านระบบ E–receipt การดำเนินการระบบแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานกองทุนเงินทดแทน (e-Compensate) การขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบ E-claim ให้บริการ ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 รวมทั้งบริหารจัดการรับ-ติดตาม เรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

       ทั้งนี้ ยังมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ อาทิ ทะเบียนราษฎร์ กับกรมการปกครอง ข้อมูลนายจ้าง ผู้ประกันตน กับกรมสรรพากร ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลการล้มละลายของสถานประกอบการกับกรมบังคับคดี นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างผ่านระบบ WPD เป็นต้น

 

       สำหรับการจัดงานวันครบรอบ 30 ปี ของสำนักงานประกันสังคม ในวันนี้ ช่วงเช้าเป็นพิธีสงฆ์ และพิธีมอบโล่รางวัลให้แก่ผู้สนับสนุน ส่งเสริม และทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคม สถานพยาบาลในดวงใจ สถานประกอบการดีเด่น และบุคลากรดีเด่นด้านคุณธรรม จริยธรรม และองค์กรคุณธรรมของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 135 ราย และในช่วงบ่ายได้จัดให้มีงานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “การสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายประกันสังคม” จากวิทยากรภาครัฐ และวิทยากรภาคเครือข่ายประกันสังคม อีกด้วย

ผู้ประกันตนเฮ  สปส.สู่ปีที่ 31 เพิ่มสิทธิลาคลอดรับเงินชดเชยได้ 98 วัน

ผู้ประกันตนเฮ  สปส.สู่ปีที่ 31 เพิ่มสิทธิลาคลอดรับเงินชดเชยได้ 98 วัน

ผู้ประกันตนเฮ  สปส.สู่ปีที่ 31 เพิ่มสิทธิลาคลอดรับเงินชดเชยได้ 98 วัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ