ข่าว

"กฟผ." ยัน ไม่มีสัญญาซื้อไฟเขื่อนหลวงพระบาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กฟผ." ยันยังไม่ได้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง หากจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนในสปป.ลาว จะต้องมีกระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติ

 

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่าได้รับจดหมายชี้แจงจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตอบ` ชี้แจงกรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง (Luang Prabang dam project) ว่ายังไม่ได้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งโดยก่อนหน้านี้เครือข่ายฯ ได้มีจดหมายไปยังกฟผ. เพื่อสอบถาม

 

 

"กฟผ." ยัน ไม่มีสัญญาซื้อไฟเขื่อนหลวงพระบาง

 


นายนิวัฒน์  กล่าวว่า หนังสือชี้แจงจาก กฟผ. มีใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันกฟผ.ยังไม่ได้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง หากจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนในสปป.ลาว จะต้องมีกระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติ คือ มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 (PDP2018) ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย แผน PDP2018 ผ่านการพิจารณากลั่นกรองและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป และครม.มีมติรับทราบแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยในแผนระบุว่า มีแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านรวม 3,500 เมกะวัตตต์ ในปี 2569 -2578 โดยกระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการดังกล่าว 
โดยคณะอนุกรรมการประสานฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการนำหลกัเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำ ในสปป.ลาวมาพิจารณา และกกพ.ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประกอบด้วย กรรมการกำกับกิจการพลังงาน 3 คน ผู้แทนสำนักงานนโยบายแผนพลังงาน 1 คน และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 5 คน


นายนิวัฒน์ กล่าวว่าในหนังสือนี้ กฟผ.ยังชี้แจงว่า ปัจจุบันมีโครงกาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก เสนอขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยจำนวน 4 โครงการคือ โครงการเขื่อนปากแบง ปากลาย สานะคามและหลวงพระบาง โดยขั้นตอนการพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำในสปป.ลาวตามหลักเกณฑ์นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการจัดหาฯและทางกระทรวงพลังงานอาจมีการพิจารณาทบทวนแผน PDP2018 จากผลกระทบการระบาดโรค COVID19 ทำให้ความต้องการไฟฟ้าในประเทศไม่เป็นไปตามแผนเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ส่งหนังสือขอให้ กฟผ.พิจารณาระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก และส่งข้อกังวลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และสถานการณ์การระบาดของโรค COVID19 ได้ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศสูงมากเกินความจำเป็น

 

 

"กฟผ." ยัน ไม่มีสัญญาซื้อไฟเขื่อนหลวงพระบาง


 

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา สมาชิกเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำอย่างรอบด้าน แม่น้ำโขงเป็นมากกว่าพลังงานไฟฟ้า แต่เป็นพลังงานความมั่นคงทางอาหารที่โอบอุ้มหล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านๆ คน  สถานการณ์การระบาดของ COVIS19 ที่ผ่านมา แม่น้ำโขงได้ผลิตอาหารรองรับผู้คน และผู้คนชาวแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่อื่น ๆ และสามารถส่งปลา ให้คนเมืองได้บริโภค ช่วยบรรเทาการขาดแคลนอาหารอย่างเห็นได้ชัด และกฟผ.ควรคำนึงถึงปัญหาเดิมที่ยังไม่แก้ไข การรับซื้อไฟฟ้า ในขณะที่ไฟฟ้าสำรองมีเกินเพียงพอ จะทำให้ไทยขึ้นชื่อว่า ไฟฟ้าที่ได้มาจากเขื่อน เป็นไฟฟ้าที่มาจากคราบน้ำตาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ใยดี

----------------------

ปล. เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ออกจดหมายถึง กระทรวงพลังงานและ กฟผ. เรื่อง สอบถามถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง บนแม่น้ำโขง และขอให้ทบทวนพิจารณาระงับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เนื่องจากขณะนี้มีการผลักดันการสร้างเขื่อนหลวงพระบางเป็นโครงการเขื่อนแห่งที่ 5 ที่เสนอเพื่อก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยมีการประกาศครบวาระของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA)  ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 (1995 Mekong Agreement) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการรับซื้อไฟฟ้า

จดหมายฉบับเต็มตามลิงค์นี้ 

และฉบับแปลภาษาอังกฤษ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ