ข่าว

ธปท.หั่นจีดีพีลบ5.3 เลื่อนออกหวยไป2พ.ค. 2เว็บไฟฟ้าล่มคนแห่ขอคืนเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แบงก์ชาติประเมินโควิดกระทบเศรษฐกิจรุนแรง ประกาศหั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 5.3% ส่วนบอร์ดเลื่อนออกรางวัลงวดประจำวันที่ 1 เม.ย. เป็น 2 พ.ค. พร้อมงดขายสลาก 2 งวด คนแห่ลงทะเบียนขอคืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้าจนเว็บ 2 การไฟฟ้าล่ม

               ความคืบหน้าหลังจากกลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อยและกลุ่มคนพิการ ผู้ค้าสลากทั่วประเทศ ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อขอให้เลื่อนการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นวันที่ 2 พฤษภาคมแทน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้สลากขายไม่ออกและเหลือเป็นจำนวนมากนั้น

               วันที่ 25 มีนาคม นายพชร อนันตศิลป์ ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และเป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงมีมติให้เปลี่ยนแปลงการออกรางวัลของสลากงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 จากวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 14.30–16.00 น. ณ ห้องออกรางวัลสลาก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และจะไม่มีการจำหน่ายสลากงวดวันที่ 16 เมษายน 2563 และงวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2563

 

 

 

 

               ทั้งนี้ วันออกรางวัลที่เลื่อนไปเป็น 2 พฤษภาคม ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในห้วงเวลาขณะนั้นด้วย หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะมีการพิจารณาและแจ้งให้ทราบต่อไป ส่วนผู้ที่ทำรายการจองสลากงวดวันที่ 16 เมษายน 2563 ที่ได้มีการจองสลากในระบบจองล่วงหน้าเมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2563 สำนักงานฯ จะโอนเงินคืนเงินให้แก่ผู้ที่ทำรายการแล้วทั้งหมด โดยจะทำการโอนคืนโดยเร็วที่สุด

               นายพชร กล่าวอีกว่า เพื่อความต่อเนื่องของการออกสลาก ซึ่งเป็นการสร้างความหวังและโอกาสของประชาชนไม่ให้หยุดลง ด้วยข้อจำกัดของสลากใบที่ทำธุรกิจนี้มายาวนานอาจจำเป็นต้องมีการทบทวนให้มีรูปแบบที่เป็นการลดความเสี่ยง โดยใช้บริบทเดิมทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนจากใบมาเป็นจำหน่ายด้วยเครื่อง เพื่อลดการติดต่อเปลี่ยนมือระหว่างผู้ซื้อผู้ขายและบุคลากรของสำนักงานสลากฯ เองด้วย คณะกรรมการจึงได้มอบให้สำนักงานสลากฯ ไปดูว่าเพื่อให้กิจการของสำนักงานสลากฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ควรเปลี่ยนมาจำหน่ายด้วยช่องแบบออนไลน์ ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบผู้ขายทั้งหมด โดยให้สำนักงานสลากฯ ไปศึกษา เพราะหากไวรัสนี้ยาวนานเกินกว่าเดือนสองเดือนอย่างที่คาดการณ์ ก็อาจจะทำให้สำนักงานสลากฯ ไม่สามารถดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้

               ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การเปลี่ยนวันออกรางวัลครั้งนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งผู้ค้าสามารถขายสลากไปจนกว่าออกรางวัล และผู้ที่ซื้อสลากของงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 ไว้แล้ว สามารถนำไปตรวจผลการออกรางวัลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ได้ตามปกติ

               ขณะเดียวกันนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 5.3 ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2564 โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

               “คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราวร้อยละ 60 ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หากโควิด-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน จะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง” นายดอนกล่าว

               นายดอนกล่าวอีกว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โควิด-19

 

 

 

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (25 มี.ค.) เป็นวันแรกที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เปิดรับการลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิ์การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์แบบไม่มีหมดเขตกำหนด และหากตรวจสอบเสร็จสิ้นจะเริ่มคืนวันแรกในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ปรากฏว่าวันนี้มีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนจำนวนมาก ทำให้หลายคนผิดหวังเข้าระบบไม่ได้

               นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อขอคืนเงินประกันไฟฟ้า ซึ่งทราบว่าระบบออนไลน์ล่ม ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าของมิเตอร์ 22-23 ล้านราย ต้องการเงินคืนรวดเร็ว และการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าไม่ใช่การคืนเงินประกันมิเตอร์ โดยตัวมิเตอร์ถือเป็นสินทรัพย์ของ 2 การไฟฟ้า ซึ่งข้อกำหนดปัจจุบันหากมีการชำรุดเสียหาย โดยระบบตัวเครื่อง หรือจากภัยธรรมชาติ ทั้ง 2 การไฟฟ้าจะดำเนิการสับเปลี่ยนให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นมิเตอร์ชำรุดที่เกิดจากการกระทำ เช่น ชน เฉี่ยว แตก หรือการโหลดไฟฟ้าเกินขนาดมิเตอร์ กรณีนี้ผู้ใช้ต้องเป็นผู้ชำระค่ามิเตอร์ ซึ่งเป็นหลักการเดิม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าอย่างใด

               “ได้ให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ไปหารือร่วมกับ 2 การไฟฟ้าถึงความเรียบร้อยในการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยจะเริ่มคืนเงินวันที่ 31 มีนาคม โดยวงเงินที่คืนมีประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาวะที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่ง กฟภ.ชี้แจงว่ากระแสความเข้าใจผิดดังกล่าว เกิดจากแอดมินทวิตเตอร์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (@pea_thailand) ตอบคำถามผิดพลาด โดยระบุกรณีการคืนเงินประกันแล้ว สิทธิ์ประกันมิเตอร์จะถูกยกเลิกไป” นายสนธิรัตน์ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ