ข่าว

คนตกงานเฮ! รับ5,000บาท เยียวยาสู้วิกฤติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐเยียวยาสู้โควิด-19 จ่ายลูกจ้าง-อาชีพนอกกลุ่มประกันสังคม เดือนละ 5 พันบาทนาน 3 เดือน เปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เราจะไม่ทิ้งกัน.com" สรรพากรยืดชำระภาษีถึงส.ค. ส่วน กปน.ลดค่าน้ำประปา 3% เริ่มพ.ค.-ก.ค.นี้

               รัฐบาลเร่งออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 หลังมีการออกมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงการระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นการชั่วคราว ทำให้สถานประกอบการหลายรูปแบบต้องปิดตัวลงและมีการงดกิจกรรม อาทิ การแข่งขันกีฬา งานบันเทิง งานอบรมสัมมนา การแสดงสินค้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อการดําเนินชีวิตของประชาชน บางส่วนต้องตกงานอย่างกะทันหันนั้น

               วันที่ 24 มีนาคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงว่า ระทรวงการคลังรับผิดชอบดูแลเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ตระหนัก รับทราบและเข้าใจถึงความยากลําบากของประชาชนชาวไทยทุกภาคส่วนและไม่นิ่งดูดาย จึงออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน โดยยึดหลักการเดิม “ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และชั่วคราวตามจําเป็น” เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน รวมถึงบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ สามารถผ่านพ้นวิกฤติความยากลําบากไปได้

 

 

 

 

               รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาตรการก่อนหน้านี้ที่ออกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม มุ่งดูแลผู้ประกอบการเป็นหลักใหญ่เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการไปผลักภาระให้ประชาชน ป้องกันการปลดคนงาน และขณะนี้สถานการณ์พัฒนาไปถึงจุดที่เห็นว่าต้องมีมาตรการดูแลประชาชนเพราะมีคนบางส่วนตกงาน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบเรื่องมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นมาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย 8 มาตรการสรุปรวมว่า

               ผู้ที่ทำอาชีพพิเศษ อาชีพอิสระ ลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินนคนละ 5 พันบาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ลงทะเบียนได้ที่ได้ที่เว็บไซต์ “เราจะไม่ทิ้งกัน.com”  คาดว่าคนกลุ่มนี้ประมาณ 3 ล้านคน หรือหาก 5 พันบาทไม่เพียงพอก็มีสินเชื่อฉุกเฉินต่อรายวงเงิน 1 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน โดยมีธนาคารออมสิน ธนาคาร ธอส. ธนาคารกรุงเไทย ปล่อยสินเชื่อ แต่ถ้ายังไม่พอก็มีสินเชื่อพิเศษวงเงิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน ดอกเบี้ย 0.35% แต่สินเชื่อส่วนนี้ต้องมีหลักประกัน ทั้งหมดเพื่อจะได้ไม่เข้าไปสู่หนี้นอกระบบ

               นอกจากนี้รัฐจะจ่ายซอฟต์โลนให้สถานธนานุบาลเพื่อนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ประชาชน รวมทั้งการยืดเวลาการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป จากสิ้นเดือนมิถุนายนขยายถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และมีมาตรการหักภาษีลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิม 1.5 เหมื่นบาท เป็น 2 หมื่นบาท ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ค่าเบี้ยเสี่ยงภัยในการปฏิิบัติการโควิด-19 ได้รับการยกเว้นภาษี รวมทั้ง ยังมีโครงการฝึกอาชีพกลุ่มคนทั้ง เครือข่าย ธอส. ออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ เช่น กองทุนหมู่บ้าน พระราชดำริ และโครงการของกระทรวง อว.ด้วย

               นายสมคิดกล่าวอีกว่า ส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการนั้นจะมีการเพิ่มสภาพคล่องวงเงินพิเศษ 1 หมื่นล้านบาทให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ดูแลลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก จากรอบแรกที่อาจจะเข้าไม่ถึงวงเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็ให้ยืดการเสียภาษีนิติบุคคล ภงด. 50 สิ้นเดือนสิงหาคม และขยายเวลายื้นภาษี ภงด. 51 ถึง 30 กันยายน รวมทั้งยืดเวลาเสียภาษีกรมสรรพากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ

               สำหรับการเสียภาษีสรรพสามิตยืดเวลาการชำระภาษีให้สถานบริการต่างๆ ออกไปอีก 3 เดือน รวมทั้งเรื่องภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน ปกติต้องเสียภาษีทันทีภายใน 3 วัน จะยืดระยะเวลาเป็นการเสียรอบละ 15 วัน เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ในส่วนภาษีศุลกากรสินค้าที่เกี่ยวกับการรักษาป้องกันเกี่ยวกับโควิด-19 ได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด อีกทั้งยังยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กลุ่มนอนแบงก์ ที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือการเช่าซื้อ ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้

 

 

 

 

               ด้านนายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา โฆษกการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ กปน.ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่ง กปน.ได้ออก 3 มาตรการช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการครองชีพ ประกอบด้วย 1.ลดค่าน้ำประปา ร้อยละ 3 ให้ผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับใบแจ้งค่าน้ำประปาของเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2563 มีประชาชนได้รับประโยชน์ 2.4 ล้านราย

               2.ขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรม และกิจการที่ให้เช่าพักอาศัย 900 ราย โดยไม่คิดดอกเบี้ย และยังสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน สำหรับใบแจ้งค่าน้ำประปาของเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ติดต่อขอรับการช่วยเหลือนี้ได้ที่สำนักงานประปาสาขาในพื้นที่ใช้น้ำ และ 3.คืนเงินประกันการใช้น้ำให้ผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่พักอาศัย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป รวม 2 ล้านราย วงเงินรวม 1,034 ล้านบาท ซึ่งการขอคืนเงินประกันการใช้น้ำสามารถตรวจสอบสิทธิ์และดำเนินการโดยแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางออนไลน์ คือแอพพลิเคชั่น MWAonMobile หรือ www.mwa.co.th เพื่อขอรับเงินคืน หรือประชาชนติดต่อขอรับเงินคืนที่สำนักงานประปาสาขาของ กปน.ทั้ง 18 สาขา

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ