ข่าว

ร้องจัด"ถุงยังชีพ"ช่วยแท็กซี่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 แพคเกจใหญ่เยียวยา"ผู้ใช้แรงงาน" ร้องจัด"ถุงยังชีพ"ช่วยแท็กซี่

      แพคเก็จใหญ่รัฐบาลรับมือ“โควิด-19” เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้(24 มี.ค.) มีทั้งช่วยเหลือตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจฐานราก หลังธปท.คลอด 3 มาตรการ ดูแลความเรียบร้อยในตลาดการเงิน ป้องกันการขาดสภาพคล่อง สกัดประชาชนแห่ไถ่ถอนหน่วยลงทุน   โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย กองทุนรวมตราสารหนี้ ธปท.จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ มูลค่ารวมกว่าหนึ่งล้านล้านบาท

        ตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยสมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องและตราสารหนี้ภาครัฐ โดยธปท.พร้อมที่จะดูแลผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมกันติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

 

 

      ขณะที่"เศรษฐกิจฐานราก" กระทรวงการคลังได้งัดมาตรการมาตรการชุดที่ 2 อุ้มลูกจ้างตกงาน โดยเน้นในกลุ่มกิจการที่รัฐประกาศให้หยุด  โดยแยกเป็น 2 กรณีหากผู้ว่างงานอยู่ในระบบประกันสังคม ทางสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้ดูแล แต่หากไม่อยู่ในระบบประกันสังคมทางกระทรวงการคลังจะเข้าไปดูแล โดยกระทรวงการคลังจะขอให้ที่ประชุมครม.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2563 จำนวน 20,000 ล้านบาทเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ว่างงานจากคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน โดยผู้ว่างงานเหล่านี้จะได้รับการแจกเงินคนละ 2,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมคนละ 4,000 บาท

     ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ก็ได้นำเสนอแผนการจัดทำประกันภัยโควิด-19 สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคนให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรียบร้อยแล้วตามนโยบายของรัฐบาล  ทั้งนี้แผนที่เสนอไป รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบเบี้ยประกันภัยให้ทั้งหมด โดยใช้งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ต้องจ่าย คิดค่าเบี้ยคนละ 99 บาท ระยะเวลาประกัน 1 ปีกรณีเจ็บป่วย ด้วยภาวะโคม่าหรือโรคร้ายแรงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโควิดจะได้รับความคุ้มครองคนละ 100,000 บาท อีกทั้งยังได้ค่าชดเชยรายวันระหว่างการรักษาตัวอีกวันละ 300 บาท สูงสุดนาน 30 วัน รวมไม่เกิน 9,000 บาทอีกด้วย 

     มาทางฝั่งผู้ประกอบการขณะนี้โควิด-19 เริ่มพ่นพิษแล้วเมื่อสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยต่างทะยอยปิดตัวลง ทั้งเป็นผลจากคำสั่งทางราชการและเจอพิษเศรษฐกิจยื้อต่อไปไม่ไหว เหตุมีแต่รายจ่ายไม่มีรายรับ โดยเฉพาะธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ ล่าสุด"ริเวอร์แคว" โรงแรมเก่าแก่อยู่คู่เมืองกาญจนบุรีมากว่าครึ่งศตวรรษก็ได้ปิดตัวลง หลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่พนักงานกว่า 200 คนที่ถูกเลิกจ้างก็ยอมรับในชะตากรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังโชคดีที่ทางประกันสังคมเข้ามาช่วยเยียวยา  โดยการจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน หลังจากที่ทางโรงแรมได้ประสานกับสำนักงานประกันสังคมให้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือพนักงานลูกจ้างในเบื้องต้น

         “ยอมรับว่าหลังจากที่ดูแถลงการณ์ของรัฐบาลในทุกๆ เรื่อง ตนยังไม่เห็นแผนรองรับที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ และประชาชนในภาวะวิกฤตนี้เลย และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าจะมีโอกาสแก้ไขสถานการณ์ได้เมื่อไหร่”วิชัย ล้อศิริ กรรมการผู้จัดการโรงแรมริเวอร์แคว เปิดใจแถลงข่าวปิดตัวและยอมรับว่า นี่คือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่ทำธุรกิจมา 

       เช่นเดียวกับ ราเมศร์ เสือยงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดรีม เดสติเนชั่น ทัวร์ จำกัดยอมรับกับ“คมชัดลึก”ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ครั้งนี้หนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา ปกติช่วงมีนาคมถึงพฤกษภาคมนั้นจะเป็นช่วงไฮซีซันของบริษัททัวร์ โดยเฉพาะทริปยุโรป แต่ปีนี้กลับไม่มีทริปเลย เนื่องจากทุกอย่างถูกปิดตายหมดทั้งไฟลท์บิน ทั้งปิดประเทศหรือหากมีการเดินทางก็จะต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากและเป็นเช่นนี้ในทุกบริษัทนำเที่ยว ขณะที่รายรับไม่มีแต่รายจ่ายกลับมีทุกวัน จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้บริษัทอยู่รอดและผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้

       “การแก้ปัญหาตอนนี้ถ้าพนักงานใหม่หรืออายุงานน้อย เราก็จะให้หยุดพักงานไปก่อน เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ปกติค่อยกลับเข้ามาทำงานใหม่ ส่วนพนักงานที่มีอายุงานเยอะ ๆ ก็จะให้ลดเงินเดือนลง 50% แล้วสลับทีมกันมาทำงาน เป็นการร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้บริษัทอยู่รอด”บอสใหญ่ดรีม เดสติเนชั่น ทัวร์เผยวิธีการบริหารจัดการองค์กรในช่วงวิกฤติโควิด-19 พร้อมยืนยันว่า

      สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลงัดออกมาจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและยังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด มีแต่บริษัทที่หาทางดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองตลอดมา

      ส่วนภาคผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นอาชีพคนขับแท็กซี่   ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการคำสั่งปิดสถานบริการ ห้างร้านต่าง ๆ จากทางราชการ ทำให้ไม่มีผู้โดยสารใช้บริการแท๊กซี่ส่งผลให้คนขับขาดรายได้ ขณะที่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม โดย วิทูร แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพยอมรับกับ“คมชัดลึก”ว่าปกติแท็กซี่ขับรถรับส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 17-18 เที่ยวต่อวัน แต่ปัจจุบันได้วันละ 2-3 เที่ยวก็ยากเต็มที  รายได้ทุกวันนี้เฉลี่ยวันที่ 400-500 บาทต่อคัน ยังไม่พอค่าแก๊สเลย นี่ยังไม่รวมค่าเช่ารายวันสำหรับคนที่เช่ารถขับและค่าผ่อนรายเดือนสำหรับเจ้าของรถใหม่ แต่หากไม่ขับก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร 

      "คนขับแท็กซีเป็นพวกหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินออม ไม่มีประกันสังคมหรือบัตรสวัสดิการจากรัฐใด ๆ เลย รายได้เขามาจากผู้โดยสารอย่างเดียว  วันนี้ทุกอย่างปิดหมดทั้งห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่าง ๆ   คนก็ไม่ออกนอกบ้าน ไม่มีผู้โดยสาร ถ้าหยุดวิ่งก็ไม่มีรายได้ วิ่งก็มีแต่รายจ่าย จึงอยากวิงวอนรัฐบาลเห็นใจคนกลุ่มนี้ด้วย วันนี้พวกเขาไม่มีทางเลือกจริง ๆ"ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพกล่าวอ้อนวอน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลแจกถุงยังชีพ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพก็ได้นำถุงยังชีพแจกจ่ายให้กับสมาชิกทุกวัน พร้อมกันนี้ยังเป็นตัวแทนเดินทางมายืนหนังสือต่อหนว่ยงานที้่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์และกระทรวงการคลังให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนที่ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ต่อไป

        "วิกฤติน้ำท่วมปี54 ถือว่าหนักแล้ว เจอโควิดครั้งนี้หนักกว่าหลายเท่า ตอนนี้ถุงยังชีพจำเป็นที่สุด สำหรับพวกหาเข้ากินค่ำอย่างอาชีพขับแท็กซี่"วิทูรกล่าวเรียกร้องรัฐบาล

 

     ด้าน มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยเผยกับ“คมชัดลึก”ถึงการรับมือแรงงานถูกเลิกจ้างจากเหตุวิกฤติครั้งนี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานโดยเจียดเงินจากกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วตามกระทรวงต่าง ๆ มาตั้งเป็นกองทุนขึ้นใหม่เพื่อช่วยเหลือแรงงานในระยะยาว  ส่วนระยะสั้นนั้นอยากให้ช่วยในเรื่องการฝึกอาชีพ โดยรัฐเป็นผู้ว่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำเป็นการชั่วคราวไปก่อนในเบื้องต้น หากคนตกงานได้งานใหม่หรือมีอาชีพใหม่ ก็ค่อยเลิกจ้างงาน

       "เบื้องต้นรัฐควรตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง แล้วก็จัดโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นเสริมทักษะ อย่างเช่นรับจ้างเย็บหน้ากากอนามัย โดยรัฐเป็นผู้ว่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ ช่วงนี้มีความต้องการเยอะ  เพราะถ้าสถานประกอบปิดกิจการถาวร คนกลุ่มนี้ก็จะมีอาชีพติดตัว ส่วนแจกเงินมองว่าไม่เกิดประโยชน์มากนัก แต่ก็มีความจำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าไปก่อน"ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยกล่าวย้ำทิ้งท้าย

  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ