ข่าว

 เบื้องหลัง"เชฟโรเลต"....ทำไมต้องทิ้งไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ขีดเส้นใต้ โดย - นายดินสอ 

        ในที่สุด”จีเอ็มมอเตอร์”ผู้ผลิตรถยนต์” เชฟโรเลต” ประกาศถอนทัพเลิกฐานการผลิตในไทยอย่างสิ้นเชิงโดยขายให้กับ“เกรท วอล มอเตอร์ส” ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ จากจีน ปัญหาส่วนหนึ่งก็โดนหางเลขจากบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา ที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินอันเนื่องมาจากมีภาระการจ่ายเงินก้อนโตให้กับพนักงานเกษียณ รวมทั้งต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลลงทุนอตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมานี้อยู่ในภาวะผันผวนมาโดยตลอดทำให้ยอดขายรถของค่ายจีเอ็มในหลาย ๆ ประเทศลดลง

   

               ปัญหาที่รุมเร้าทำให้บริษัทจีเอ็มในสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ต้องเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้และจีเอ็มประเทศไทยก็อยู่ในข่ายเนื้อร้ายที่ต้องตัดทิ้งเหมือนกับบริษัทลูกจีเอ็มในหลาย ๆ ประเทศ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันนอกจากปัญหาเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงการระบาดของไวรัสโคโรนาที่เป็นปัจจัยใหม่ส่งผลกระทบอย่างคาดไม่ถึง สังเกตุได้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาเริ่มมีบางโรงงานของจีเอ็มในประเทศต่าง ๆ รวมถึงค่ายอื่น ๆ ลดการผลิต หลังจากตลาดส่งออกรถยนต์เริ่มชะลอตัว

              กล่าวสำหรับ กลุ่มจีเอ็มมอเตอร์ จากสหรัฐเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วยเงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท โดยตั้งโรงงานที่ระยองเพื่อผลิตรถยนต์”แบรนด์เชฟโรเลต” เมื่อ 20 ปีที่แล้วในยุคเศรษฐกิจไทยเริ่มกระเตื้องหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งอันเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยมีนโยบายจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งภูมิภาคเอเซียพร้อมตั้งเป้าจะเป็น”ดีทรอยต์ แห่งเอเซีย”

               ตลอดห้วงเวลา 20 ปีของ”เชฟโรเลต”ในประเทศไทยกลับต้องล้มลุกคลุกคลานเสียเป็นส่วนใหญ่ รถยนต์ของ เชฟโรเลต หลายรุ่นมียอดจำหน่ายไม่เป็นที่น่าพอใจ จนต้องยุติการทำตลาดไปในเวลาสั้น ๆ บางรุ่นก็ได้รับความนิยมแต่หลายรุ่นก็ล้มเหลว เพราะมีคู่แข่งที่ออกผลิตภัณฑ์ที่ดูดีกว่ามาแย่งตลาด จนในที่สุด เชฟโรเลต มีรถยนต์ที่จำหน่ายอยู่ ณ ปัจจุปันเพียงไม่กี่รุ่น

                 ขณะที่ความนิยมของรถยนต์ เชฟโรเลต เริ่มลดน้อยถอยลงไม่แต่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศที่อยู่นอกทวีปอเมริกา ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชฟโรเลต ก็ทยอยปิดโรงงานไปทีละแห่ง พร้อม ๆ กับการปลดพนักงานออกไป ด้วยเหตุผลคือ ต้องการลดขนาดขององค์กรลงเพื่อความอยู่รอด

              อันที่จริงสัญญาณการถอนตัวของเชฟโรเลตในประเทศไทยมีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเคยผ่าตัดใหญ่มาแล้ว 1 ครั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2558 คราวนั้น “จีเอ็ม” ได้เคยประกาศลดขนาดธุรกิจในไทย มีโครงการพนักงานลาออกโดยสมัครใจ เป้าหมายคือ 30% ของจำนวนพนักงานโดยรวม

                แต่การผ่าตัดใหญ่เมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว ไม่ได้ทำให้อาการของจีเอ็มในประเทศไทยดีขึ้น มีแต่จะทรุดลงเรื่อย ๆ กระทั่งมาถึง “วาระสุดท้าย”จริง ๆ เมื่อบริษัทแม่ตัดสินใจถอนทัพอำลาประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2563 ทิ้งไว้เพียงตำนานให้ไว้จดจำพร้อมกับอนาคตของพนักงานพันกว่าคน ที่ยังไม่รู้อนาคต รวมถึงบรรดาซัพพลายเชนที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

       

 

              ว่ากันว่าปัจจุบันมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศราว 2,500 รายส่วนใหญ่จะผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศ รวมถึงผลิตป้อนให้“เชฟโรเลต”ด้วยย่อมจะทำให้บรรดาซัพพลายเออร์ที่เคยมีฐานลูกค้าจากค่ายรถดังกล่าวได้รับผลกระทบแน่นอนที่สำคัญยังมีบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นซัพพลายให้กับ“เชฟโรเลต”สัญญชาติเดียวกันที่ตามกันมาจากอเมริกามาลงทุนในประเทศไทยอีกมากกว่า 100 ราย ที่จะต้องได้รับผลกระทบแน่ ๆ

                แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ การถอนทัพของค่ายจีเอ็ม มอเตอร์ ยักษ์ใหญ่เก่าแก่ระดับตำนานในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก ครั้งนี้ย่อมทำให้ความฝันที่เราจะปั้นเมืองไทยเป็น”ดีทรอยต์แห่งเอเซีย”คงจะอยู่ไกลเกินเอื้อมมากขึ้นหรืออาจจะดับวูบไปเลยก็ได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ