ข่าว

ลูกค้าแบงก์เฮ...แบงก์ชาติรื้อใหญ่ค่าธรรมเนียม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ขีดเส้นใต้ โดย - นายดินสอ

     แบงก์พาณิชย์ไทยเป็นธุรกิจเดียวที่ทำกำไรทุกปีไม่ว่าเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่แค่ไหน ธุรกิจอื่น ๆ ขาดทุนกันระนาว แต่แบงก์พาณิชย์ไทยทำตัวเป็นเสือนอนกินจนพุงปลิ้นมาทุกปี แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในยุคของดร.วิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าฯนั้นเอาจริงเอาจังทางลดรายจ่ายของประชาชน โดยหยิบเอาค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ลูกค้าต้องจ่ายให้กับแบงก์พาณิชย์มาพิจารณา

 

      หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทสไทยได้ทดลองนำร่อง โดยให้แบงก์พาณิชย์ปรับค่าธรรมเนียมเป็นการชิมลางไปแล้ว 3-4 รายการ กระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ แบงก์ชาติได้ออกประกาศแนวปฏิบัติการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งระบบ เพื่อใช้ในการกำหนดค่าธรรมเนียมอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมกับชาวบ้านมากขึ้นโดยจะครอบคลุมค่าธรรมเนียมทุกประเภท และในทุกกลุ่มธุรกิจทั้งธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตลอดจนลูกค้ารายย่อยทั่ว ๆ ไป รวมรายการค่าธรรมเนียมที่จ่อคิวรื้อครั้งใหญราว ๆ 200-300 รายการ คงไม่เกินไตรรมาส 3 ปีนี้ ทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย

       นับเป็นข่าวดีของชาวบ้านที่หลังจากต้องทนกล้ำกลืนกับค่าธรรมเนียมธนาคารที่คิดโน่นคิดนี่ยุบยับไปหมดบางรายการแพงลิบลิ่วสูงกว่าที่ควรจะเป็น ธนาคารไทยหากินกับค่าธรรมเนียมจนพุงกางมานานไม่มีใครเข้ามาดูแล จากรายได้เสริมกำลังจะกลายเป็นรายได้หลัก

       ฉะนั้น หากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลบังคับใช้จริง ๆ งานนี้ แบงก์คงสูญรายได้มหาศาล ซึ่งในเรื่องนี้ นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า หากดูสถิติค่าธรรมเนียมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ สิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีราว 29% หรือ 1.91 แสนล้านบาท หากเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยที่มีราย 71% หรือ 4.8 แสนล้านบาท และหากดูรายได้ค่าธรรมเนียมตามหมวดหมู่พบว่า 20.5% เป็นค่าธรรมเนียมจากการขายประกันกองทุน ส่วนอีก 20% คือ ค่าธรรมเนียมในส่วนบัตรเครดิต 18.4% ค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้ 18.3% ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต และ 10.3% เป็นค่าบริการโอนเงิน จ่ายบิลเป็นต้น

       ทั้งนี้หากดูสถิติค่าธรรมเนียมของ 5 แบงก์ใหญ่ พบว่า แบงก์ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมมากที่สุดคือ กสิกรไทยราว 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 33% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ 30% หรือ 3.9 หมื่นล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ 28% หรือ 3.9 หมื่นล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 28% หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท และกรุงไทยที่ 25% หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท

       ต้องยอมรับว่ายุครุ่งเรืองของแบงก์พาณิชย์จริง ๆ นั้นเริ่มตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 เป็นต้นมา แบงก์ชาติเองที่เป็นคนโอบอุ้มแบงค์พาณิชย์ของไทยเปิดโอกาสให้ทำธุรกรรมได้มากมายหลากหลายประเภท เนื่องจากธนาคารชาติมีบทเรียนจากวิกฤติการเงินในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่แบงก์พาณิชย์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้ ผู้บริหารแบงค์ชาติขณะนั้นเห็นว่าหากแบงก์พาณฺชย์ล้มธุรกิจในประเทศก็จะล้มตามไปด้วย

        ตั้งแต่นั้นมาผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคนั้น จึงยึดปรัชญาว่า”แบงก์ล้มไม่ได้”หากแบงก์ล้มจะกระทบเศรษฐกิจของประเทศ จึงเปิดทางให้แบงก์ทำได้ทุกอย่างในการสร้างรายได้จนรวยพุงปลิ้นมาจนถึงวันนี้

       จึงจะเห็นว่ายี่สิบปีมานี้ แบงก์พาณิชย์ไทย จึงได้อภิสิทธิ์ทำธุรกิจบริการหลากหลายประเภท ตั้งแต่ขายประกันชีวิต ขายประกันภัย รับบริการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และอีกหลาย ๆ อย่างทำให้แบงก์พาณิชย์ไทย จึงกลายเป็น”ยูนิเวอร์แซลแบงก์กิ้ง”คือทำทุกอย่างแบบครอบจักรวาล ผู้ถือหุ้นใหญ่แบงก์ จึงรวยกันอู้ฟู่

       

          ต้องขอชื่นชมดร.วิรไทย ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยที่เห็นความยากลำบากของผู้ใช้บริการแบงก์พาณิชย์ที่ต้องแบกรับค่าธรรมเนียมมหาโหด ด้วยการสั่งรื้อค่าธรรมเนียมในครั้งนี้!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ