ข่าว

 กลุ่มผู้ซื้อคอนโดเดอะไลน์ พหลโยธินร้องแสนสิริเบี้ยวสัญญา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 กลุ่มผู้ซื้อคอนโดเดอะไลน์ พหลโยธินร้องแสนสิริเบี้ยวสัญญา

       จากกรณีกลุ่มผู้ซื้อคอนโดมิเนียม เดอะไลน์ พหลโยธิน พาร์ค ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

      หลังได้รับการติดต่อจากบริษัทฯ ขอเปลี่ยนแปลงวัสดุอุปกรณ์ในห้องให้มีเกรดลดลงจากเดิมโดยจะปรับราคาลงให้ แต่กลุ่มผู้เสียหายมองว่าการเปลี่ยนแปลงทำให้สภาพแวดล้อมและมูลค่าโดยรวมของทั้งโครงการเปลี่ยนแปลงไปจึงแจ้งขอคืนเงินและยกเลิกสัญญา แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากทางบริษัท

       ล่าสุดกลุ่มผู้ซื้อคอนโดมิเนียมดังกล่าวได้เดินไปทางยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสคบ.เพื่อให้เข้ามาไกล่เกลี่ยจากกรณีปัญหาดังกล่าว

 กลุ่มผู้ซื้อคอนโดเดอะไลน์ พหลโยธินร้องแสนสิริเบี้ยวสัญญา

                          กลุ่มผู้ซื้อคอนโดมิเนียมเข้าร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

        ยศ เลิศภิญโญภาพ หนึ่งในผู้เสียหายจากการซื้อคอนโดมิเนียม เดอะไลน์ พหลโยธิน พาร์ค กล่าวภายหลังเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยระบุว่าก่อนหน้าเคยซื้อห้องชุดในอาคาร A ของโครงการดังกล่าว เมื่อเห็นทางบริษัทฯ เปิดขายห้องชุดในอาคาร B โดยโฆษณาว่ามีสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ทันสมัยระดับ Hi-end จึงได้เข้าไปดูห้องตัวอย่าง และตกลงทำสัญญาซื้อห้องกับบริษัทฯ เป็นมูลค่าโดยรวมประมาณ 8 ล้านบาท มีการวางเงินจอง เงินค่าสัญญา และชำระเงินดาวน์ตามปกติเรื่อยมา

           กระทั่งปลายปี 2562 ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของโครงการดังกล่าวว่ายอดขายไม่ได้ตามเป้าหมาย ทางบริษัทฯ จึงมีทางเลือกให้กับลูกค้าสองแบบ คือ หนึ่ง ยืนยันตามเงื่อนไขเดิมในราคาเท่าเดิม หรือสอง เปลี่ยนแปลงวัสดุอุปกรณ์ในห้องให้มีเกรดลดลงจากเดิม และตัดอุปกรณ์บางรายการออก แต่จะปรับลดราคาห้องลงประมาณร้อยละ 25 ของราคาเดิม

 กลุ่มผู้ซื้อคอนโดเดอะไลน์ พหลโยธินร้องแสนสิริเบี้ยวสัญญา  สารี อ๋องสมหวัง(กลาง) เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

           ซึ่งเมื่ออ่านและตรวจสอบเงื่อนไขของสัญญา กลับพบว่าราคาที่บริษัทฯ เสนอให้ลดลงจากราคาเดิมประมาณร้อยละ 10-15 เท่านั้น ทั้งนี้ กลุ่มผู้เสียหายจึงมองว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสัญญาทำให้โครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ในตอนแรก จึงขอยกเลิกสัญญาและขอให้บริษัทฯ คืนเงินที่จ่ายไปทั้งหมด

          “ผมตัดสินใจซื้อคอนโดนี้ เพราะถูกใจเรื่องคุณภาพของวัสดุ สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงสภาพแวดล้อม เนื่องจากก่อนการทำสัญญาทางบริษัทเคลมว่า ทุกยูนิตในโครงการนี้จะใช้วัสดุอุปกรณ์ในคุณภาพที่เท่ากันทั้งหมด จึงมองว่าน่าจะเป็นโครงการที่ Hi-end สภาพแวดล้อม ผู้อยู่อาศัยก็น่าจะดี แต่การปรับลดสเปกทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เปลี่ยนไป ไม่เป็นไปตามความคาดหวังในตอนแรก รวมทั้งไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ ถือว่าบริษัทฯ ทำผิดสัญญา อยากเรียกร้องให้บริษัทฯ แสดงความรับผิดชอบโดยการเพิ่มทางเลือกที่ 3 ให้กับผู้ซื้อ คือ ทางบริษัทฯ จะคืนเงินเต็มจำนวนให้กับลูกค้าที่ต้องการยกเลิกสัญญาและรับเงินคืนโดยเร็วที่สุด”ยศกล่าว

         เขาได้ชี้แจงต่อว่า โครงการนี้เป็นการลดสเปกหรือไม่นั้นก็ต้องดูว่าเวลาที่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรร ก็จะมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเปรียบเทียบในโครงการใกล้เคียง หรือภายในโครงการเดียวกัน ในลักษณะยูนิต ต่อยูนิต  ซึ่งโครงการนี้ก่อนที่พวกเราจะตัดสินใจซื้อนั่นก็ได้ดูจากการโฆษณาสะท้อนให้เห็นว่าทุกยูนิตจะใช้เทคโนโลยี่ เดียวกัน

        แต่เมื่อบริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงและขอให้มาเซ็นสัญญากันใหม่ แสดงให้เห็นว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจน  เพราะบางยูนิตมีและบางยูนิตไม่มีตามที่มีการโฆษณาไว้ครั้งแรก
            “ตรงนี้ถือว่าเป็นการเปลียนแปลงคุณสมบัติสินทรัพย์ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคแน่นอน  ผู้เรียกร้องทุกคนจึงเรียกร้องให้บริษัทมีข้อเสนอใหม่ ให้พวกเราได้ตัดสินใจด้วยการคืนเงินทั้งหมดที่พวกเราจ่ายไว้ก่อน และจากนั้นพวกเราจะซื้อหรือไม่ซื้อของให้เป็นดุลพินิจของแต่ละบุคคล"
          อย่างไรก็ตามผู้เสียหายรายเดิมย้ำด้วยว่าการที่บริษัทอ้างว่ายังคงขอเสนอให้ผู้ซื้อเลือกยูนิตเดิม และราคาเดิม ก็ได้ แต่ถ้าหากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่ชั้นเดียวกันบางห้องซื้อยูนิตละ 8 ล้านบาท แต่ห้องข้าง ๆ กันได้ราคาใหม่หลังจากมีการปรับเปลี่ยนวัสดุแล้วเหลือเพียง 6-7 ล้านกว่า ๆ ก็อยากถามว่าในอนาคตถ้าผู้ซื้อไม่อยากอยู่จะขายต่อได้อย่างไรในเมื่อ ห้องข้าง ๆ มีราคาที่ถูกกว่ามาก
          “เป็นเรื่องธรรมดา ผู้ซื้อก็ต้องเลือกซื้อยูนิต ที่มีราคาถูกกว่า และผู้ซื้อจะเชื่อหรือไม่ว่าเราซื้อมาในราคาที่แพงกว่า”
            ขณะเดียวกันประเด็นที่ว่ามีการลดวัสดุหรือไม่นั้น ผู้ซื้ออาจต้องถามผู้รู้เช่น ไปทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ กรมที่ดิน สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปว่า ในหลักการแล้วการลดวัสดุตกแต่งถึงแม้จะเป็นภายในห้อง ก็ถือว่าเป็นการลดสเปกหรือไม่และ ยิ่งมีการปรับราคาใหม่ กลุ่มคนที่เข้ามาซื้อก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามการโฆษณาของโครงการเช่นกัน 

            เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีการซื้อคอนโด ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้ดำเนินการสร้างหรือยังสร้างไม่เสร็จในวันที่เปิดจอง สิ่งที่ผู้บริโภคได้รับรู้ จึงมีเพียงภาพจากโฆษณา และรายละเอียดรวมทั้งคำพรรณาที่ระบุในสัญญาเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่พรรณาจะถือว่าผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจ่ายเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่ผู้บริโภค

           นอกจากนี้ ยังมีค่าเสียหายอื่นๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดชอบ เช่น หากผู้เสียหายต้องไปซื้อคอนโดโครงการอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกัน แต่ราคาแพงกว่าคอนโดที่ผู้ประกอบธุรกิจทำผิดสัญญา ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้นด้วย

       

           สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ มีสิทธิเลือกในการซื้อสินค้า และต้องได้รับความเป็นธรรม การที่บริษัทปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาที่เป็นสาระสำคัญที่ลูกค้าตัดสินใจซื้ออาคารชุดกับโครงการ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่บริษัทฯ ผิดสัญญา ลูกค้ามีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาและบริษัทฯ ควรจะคืนเงินทั้งหมดให้กับลูกค้า

            อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายในลักษณะดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่ระบบออนไลน์ ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หมายเลขโทรศัพท์ 02 248 3737 หรือร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.facebook.com/fconsumerthai

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ