ข่าว

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

16 ม.ค. 2563

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที โดย...  ทีมรายงานพิเศษคมชัดลึก

 

 


          เหตุการณ์ “ภูเขาไฟตาอัล” ของฟิลิปปินส์ เกิดปะทุพ่นลาวาสูงกว่า 10 กิโลเมตร เถ้าถ่านฟุ้งกระจายไปถึง “กรุงมะนิลา” ที่อยู่ห่างไปกว่า 70 กม. รัฐบาลสั่งอพยพผู้คนหลายแสนเมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมสั่งปิดน่านฟ้าและสนามบิน เพราะมีสัญญาณเตือนภัยภูเขาไฟระเบิด ภัยแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิออกมาเป็นระยะๆ

 

 

          เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังจำได้ดี เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิจากแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย กระหน่ำเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยเผชิญกับ “ภัยสึนามิ” อย่างจริงจัง มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 2.8 แสนคน เฉพาะในไทยเสียชีวิตไปกว่า 5,300 คน สูญหายอีกกว่า 3,000 คน

 

 

 

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

 


          จากนั้นมาประเทศต่างๆ ได้จับมือกันคิดค้นสร้างระบบเตือนภัยสึนามิอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีการติดตั้งในหลายประเทศ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทยด้วย


          คำถามคือ ปัจจุบัน “ระบบเตือนภัยสึนามิ” ที่ติดตั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ยังใช้ได้ดีหรือไม่ หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง ?


          ตัวอย่างกรณีภูเขาไฟ “อานัก กรากาตัว” ของอินโดนีเซียปะทุ ทำให้แผ่นดินไหวระดับ 6.2 ที่เมืองจายาปุระ อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ผู้คนเสียชีวิตกว่า 400 สูญหายกว่า 200 คน หลังแผ่นดินไหวและถูกคลื่นสึนามิซัด ที่น่าสนใจคือ “โจโก วิโดโด” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แสดงความโมโหและไม่พอใจอย่างยิ่ง หลังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในพื้นที่ แล้วพบอุปกรณ์เตือนภัยสึนามิที่ลงทุนไปหลายร้อยล้านบาทนั้น ทำงานผิดพลาดไม่ส่งสัญญาณเตือนภัย เนื่องจากขาดงบประมาณบำรุงซ่อมแซม แถมมีมือดีไปขโมยแกะชิ้นส่วนไปขาย !

 

 

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

 

 


          ย้อนดูประเทศไทย หลังสึนามิปี 2547 หลายหน่วยงานขอ “งบประมาณ” ติดตั้งระบบเครือข่ายตรวจความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวและเตือนคลื่นสึนามิ ทั้งในระดับชาติและระดับสากล


          ในที่สุดรัฐบาลสมัยนั้นควักงบประมาณไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท สั่งซื้ออุปกรณ์เตือนสึนามิติดตั้งกลางทะเล พร้อมติดตั้งหอเตือนภัย 340 แห่ง รวมถึงสถานีแม่ข่ายอีก 600 กว่าแห่งทั่วภาคใต้ หากเกิดคลื่นสึนามิ หน่วยงานที่ตรวจสอบแผ่นดินไหวในทะเลจะรับรู้ได้ไม่เกิน 5 นาที และภายในไม่ถึง 10–15 นาที จะสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบ

 

 

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที



          ล่าสุดสื่อมวลชนภาคใต้รายงานเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 พบสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่กระบี่มีปัญหา ไม่มีเสียงดังครอบคลุมทุกจุด หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ทำให้พบว่ามีอุปกรณ์ชำรุดในบางจุด รวมถึงปัญหาแบตเตอรี่เสื่อมและระบบส่งไฟเสียหาย


          ผู้เชี่ยวชาญจาก “ห้องปฏิบัติการเตือนภัย” ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(ศภช.) อธิบายข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับอุปกรณ์และขั้นตอนการเตือนภัยสึนามิ ให้ “คม ชัด ลึก” ฟังว่า


          หลายประเทศทั่วโลกจับมือกันสร้างเครือข่ายระบบเตือนภัยสึนามิ โดยมีหน่วยงาน “NOAA” (National Oceanic and Atmosphereic Administration) ของสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัด และระบบเตือนภัยทั่วบริเวณมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และแอตแลนติก


          “ระบบแจ้งเตือนภัยคลื่นสึนามิหรือที่เรียกย่อๆ ว่า ดาร์ท (DART) จะส่งข้อมูลคลื่นสึนามิมาถึงไทยล่วงหน้าประมาณ 60-120 นาที เมื่อได้รับข่าวสารจากศูนย์ประสานงาน ก็สามารถเตรียมความพร้อมย้ายชาวบ้านริมฝั่งทะเลไปหลบในที่ปลอดภัย ประเทศไทยเองช่วยลงทุนสั่งซื้อทุ่น 2 ตัว ชื่อ ทุ่นหมายเลข 23401 ติดตั้งในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์ห่างจากไทย 1,000 กิโลเมตร ส่วนตัวที่ 2 ชื่อ ทุ่นหมายเลข 23461 อยู่ฝั่งทะเลอันดามัน ห่างจากชายฝั่งภูเก็ต 300 กิโลเมตร ทุ่นทั้ง 2 ตัวจะส่งสัญญาณมาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ว่าระดับน้ำอยู่ที่เท่าไรตลอดเวลา ถ้าระดับน้ำสูงผิดปกติหรือมีแรงดันน้ำผิดปกติ หรือแบตเตอรี่หมด จะมีเสียงร้องเตือนและกะพริบเตือนที่หน้าจอ”

 

 

เจาะลึก ระบบเตือนภัยสึนามิ...ไทยมีเวลารับมือกี่นาที

 


          สำหรับการทำงานของระบบเตือนภัย ประกอบด้วย 3 ระบบใหญ่ ได้แก่ 1.ทุ่นลอยบนผิวน้ำ (Surface Buoy) ทำหน้าที่ในการรับส่งสัญญาณระหว่างอุปกรณ์ตรวจวัดแรงดันน้ำทะเลที่ติดตั้งที่พื้นท้องทะเลสู่ระบบดาวเทียม เช่น ข้อมูลทิศทางลม อุณหภูมิ ฯลฯ 2.เครื่องบันทึกความดันน้ำ (Bottom Pressure Recorder: BPR) ติดตั้งอยู่ที่พื้นมหาสมุทร ทำหน้าที่วัดความเปลี่ยนแปลงความดันน้ำที่พื้นมหาสมุทร และคำนวณหาระดับความสูงของน้ำเพื่อตรวจจับคลื่นสึนามิ และ 3.ระบบโทรคมนาคมรอบโลก (Global Telecommunications System: GTS) ทำหน้าที่สื่อสารแลกเปลี่ยนข่าวสารสภาพอากาศระหว่างหน่วยงานอุตุนิยมวิทยากับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยและเฝ้าระวังสึนามิ


          คำอธิบายเบื้องต้นทำให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมรับมือคลื่นสึนามิได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการหลายประเทศ พร้อมส่งสัญญาณเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมง


          แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ “แบตเตอรี่” ที่ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานเพียง 2-5 ปี


          การเปลี่ยนแบตเตอรี่หมดอายุกลายปัญหาสำคัญ เพราะต้องเดินทางไปยังกลางทะเลลึก ใช้เวลาหลายวัน หากคำนวณค่าเรือ ค่าอุปกรณ์เดินทาง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าหลักล้านบาทต่อครั้ง


          จนเกิดเสียงแอบบ่นจากเจ้าหน้าที่ว่า การขอเบิกค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่กลางทะเลแต่ละครั้งทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติยังไม่เห็นความสำคัญ เพราะคิดว่าเป็นการสูญสิ้นงบประมาณโดยไม่จำเป็น


          อยากให้ความสูญเสียอินโดนีเซียที่เกิดจาก “แบตเตอรี่อุปกรณ์เตือนภัยสึนามิ” เป็นอุทาหรณ์สำคัญให้รัฐบาลไทยศึกษาเรียนรู้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย...