ข่าว

กสอ. หนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเมืองเหนือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กสอ. หนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเมืองเหนือ ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า ตอบโจทย์ผู้บริโภคสังคมเมือง-ผู้สูงวัย พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์รับเทรนด์ 4.0

 

          เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 62 - นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารภายใต้ โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมการผลิตอาหารอัจฉริยะในอุตสาหกรรมอาหารเมืองเหนือ (Northern Thailand Food Valley to Smart Industry 4.0) โดย กสอ.ได้วางแผนที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสังคมผู้สูงอายุ กลุ่มสังคมเมือง ที่หันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคที่เน้นทั้งในด้านมาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมอาหารที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารต้นทุน และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรและการบริการที่ครบวงจร 

 

กสอ. หนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเมืองเหนือ

 

           “ในอดีตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเคยส่งออกในอันดับต้นๆ แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับรูปแบบอาหาร การบริโภคเปลี่ยนแปลงไป อาทิ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเป็นสังคมเมืองต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ การควบคุมคุณภาพมาตรฐานทำให้สัดส่วนการส่งออกชะลอตัวลง ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและตลาดให้ตรงจุดมากขึ้น” นายภาสกร กล่าว

 

กสอ. หนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเมืองเหนือ

 

          ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคตในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก กสอ. ได้มีแนวทางในการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) เพื่อยกระดับคุณภาพวัตถุดิบสู่เกษตรอุตสาหกรรม 2.การสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะการสร้างศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ศูนย์ ITC4.0 และ Center of food Excellent (CoFE) 3. การสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) ทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีบทบาทในตลาดโลก โดยการเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิตและการค้าสู่สากล                        

 

 

กสอ. หนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเมืองเหนือ

 

          รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารกับการท่องเที่ยวผ่านหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ หมู่บ้าน CIV และ 4. การสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) โดยการลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจควบคู่กับการสร้างความโปร่งใสรับผิดชอบต่อสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน       

 

          นายภาสกร กล่าวด้วยว่า สำหรับในปี พ.ศ. 2563 กสอ. ยังได้เตรียมแผนงานเพื่อขยายผลในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ผ่านกิจกรรม Smart Food ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการยกระดับพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเมืองเหนือเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยมี บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการผลิตเครื่องเทศคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมมากว่า 20 ปี ที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงร่วมให้คำปรึกษาและถ่ายทอดแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่ให้สามารถพัฒนาสินค้าและรสชาติใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี 

 

กสอ. หนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเมืองเหนือ

 

          ด้านนายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่าจากประสบการณ์ในการผลิตเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 พบว่าบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางมีปัญหาในการพัฒนาสินค้าอาหารและรสชาติใหม่ๆ เพราะขาดทรัพยากร เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และบุคลากรที่มีประสบการณ์ ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพหรือใช้เวลานานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนไม่สามารถขยายตลาดได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้จัดตั้งสถาบันวิจัยรสชาติอาหาร เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กในการพัฒนารสชาติอาหารให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมอาหาร 4.0 โดยผู้ประกอบการขนาดเล็กจะมีศักยภาพและขีดความสามารถในการส่งออกไปยังตลอดทั่วโลกด้วยระบบควบคุมคุณภาพการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานสากลในอนาคต.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ