ข่าว

 "ซีอาร์จี" ทุ่มหมื่นล้านดัน '11 แบรนด์' ครอบคลุมทั่วประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ซีอาร์จี" ทุ่มหมื่นล้านดัน '11 แบรนด์' ครอบคลุมทั่วประเทศ

 

กลุ่มทุนร้านอาหาร-เครื่องดื่ม กางแผน 5 ปีเร่งสยายปีกคลุมตลาดไทย-ต่างประเทศ รับเทรนด์-ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค มองหาทางเลือก-ประสบการณ์ใหม่ “ซีอาร์จี” จัดทัพแบรนด์ลุยเมืองรอง รุกช่องทางนอกห้าง “มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด” ปูพรมนอกบ้านกระจายเสี่ยงกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว 

ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม หรือ เอฟแอนด์บี (F&B : Food& Beverage) รวมทั้งร้านเบเกอรี่ ขนมหวานต่างๆ มูลค่าตลาดรวมกว่าแสนล้านบาท มีความคึกคักในเชิงการลงทุนขยายเครือข่ายสาขาทั้งผู้ประกอบการรายเก่าและแบรนด์ใหม่ มุ่งปักธงตลาดไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะ“ภูมิภาคอาเซียน”ที่แนวโน้มการบริโภคและวิถีชีวิตมีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นโอกาสธุรกิจที่สำคัญทำให้กลุ่มทุนต่างๆ วางแผนเชิงรุกสยายปีกต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีจากนี้ 

โดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอาหาร ซีอาร์จี ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี)  ประกาศแผน 5 ปี (2561-2565) เตรียมงบลงทุนสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท ในการขยายธุรกิจร้านอาหารในเครือทั้ง 11 แบรนด์ ให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายรายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2565  แบรนด์หัวหอกในเครือต่างประกาศแผนงานรับนโยบายเชิงรุก

นางนงนภัส รำเพย ผู้อำนวยการอาวุโส แบรนด์ อานตี้ แอนส์ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี)  กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจ 5 ปีจากนี้แบรนด์อานตี้ แอนส์ จะมุ่งขยายสาขาในพื้นที่เมืองรองมากขึ้น หลังจากทดลองตลาดพบว่าลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยช่องทางและทำเลหลัก คือ เครือข่ายร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต สนามบิน และสถานีบริการน้ำมัน 

แนวทางดังกล่าวมั่นใจว่าจะทำให้ อานตี้ แอนส์  มีสาขาไม่ต่ำกว่า 250-300 สาขา ในปี 2565 สร้างรายได้กว่า 1,500 ล้านบาท จากสิ้นปีนี้คาดจะมีสาขาประมาณ 65 แห่ง รายได้ 900 ล้านบาท 

“เปปเปอร์ลันช์”เร่งเพิ่มสาขาเท่าตัว

นางอรวรรณ โกมลพันธ์พร ผู้อำนวยการอาวุโสแบรนด์เปปเปอร์ ลันช์ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี)  กล่าวว่า ซีอาร์จี ได้วางกลยุทธ์การทำตลาดธุรกิจร้านสเต็กญี่ปุ่นจานร้อนแบรนด์ “เปปเปอร์ลันช์” แต่ละปีจะใช้งบ 80-100 ล้านบาทในการขยายสาขา ตั้งเป้าหมายเปิดบริการครบ 100 สาขา ในปี 2565 เพิ่มเท่าตัวจากสิ้นปีนี้คาดมีสาขาไม่ต่ำกว่า 40 แห่ง

“ธุรกิจร้านอาหารยังมีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตสูงจากแนวโน้มการบริโภคของลูกค้าที่มองหาทางเลือกใหม่ ประกอบกับการปรับกลยุทธ์ของกลุ่มศูนย์การค้าต่างๆ ที่เปิดพื้นที่สำหรับกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นแม่เหล็กสำคัญดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการและสร้างความแตกต่างจากช้อปออนไลน์นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น”

เปปเปอร์ลันช์ มุ่งขยายตลาดผ่าน 3 โมเดลธุรกิจ ได้แก่“เรสตอรองส์”เน้นเปิดบริการในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว ใช้พื้นที่มาตรฐาน 100-120 ตร.ม. ลงทุน 8-10 ล้านบาท “เอ็กซ์เพรส พลัส” พื้นที่ 90-100 ตร.ม. ลงทุน 5-6 ล้านบาท และ“เอ็กซ์เพรส ฟู้ดคอร์ท”พื้นที่ 20 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างทดลองตลาดรูปแบบเอ็กซ์เพรส พลัส ที่จะเป็นหัวหอกในการขยายไปกับไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี และห้างท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้ขยายตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ร้านเปปเปอร์ลันช์ มีสาขาให้บริการ 35 แห่ง ช่วงครึ่งปีหลัง มีแผนเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา  “ทำเล” ส่วนใหญ่เน้นตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก ซึ่งยังมีช่องว่างและโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

“มัลลิการ์ฯ”บุกหนักตปท.

นายชยพล หลีระพันธ์กรรมการบริหารและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด กล่าวว่า ได้ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจมุ่งขยายตลาดนอกบ้านมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัจจัยลบในประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ พร้อมสร้างโอกาสธุรกิจจากตลาดใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน 

 สำหรับการขยายตลาดต่างประเทศจะเน้นระบบแฟรนไชส์ และมี “ร้านเย็นตาโฟเครื่องทรง” เป็นแบรนด์เรือธง ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจานักลงทุนหลายรายสนใจซื้อแฟรนไชส์ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์

ปัจจุบันตลาดต่างประเทศได้เปิดให้บริการ 2 แห่ง ในประเทศลาว ได้แก่ ร้าน อ.มัลลิการ์ 1 สาขา และเย็นตาโฟเครื่องทรง 1 สาขา ก่อนหน้านี้มีสาขาในสิงคโปร์ ซึ่งกลุ่มไมเนอร์ฯ เป็นผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านเย็นตาโฟเครื่องทรง แต่ขณะนี้ได้ปิดให้บริการทั้งหมด 3 สาขา แม้จะมีผลตอบรับดี แต่เนื่องจากต้นทุนสูง โดยเฉพาะค่าเช่าและค่าแรงพนักงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการหาทำเลใหม่

ขณะที่การขยายตลาดในประเทศ ได้พัฒนาแบรนด์ใหม่เสริมทัพ คือ ร้านขนมไทย “ของชอบ” เป็นแบรนด์ที่ 7 จาก 6 แบรนด์ในเครือ ประกอบด้วย ร้านอ.มัลลิการ์ 2 สาขา,เรือนมัลลิการ์ 2 สาขา,เย็นตาโฟเครื่องทรง โดย อ.มัลลิการ์ 35 สาขา,ปังยิ้ม คาเฟ่แอนด์เบเกอรี่ โดย อ.มัลลิการ์ 1 สาขา,ปาป้าปอนด์ พิซซ่า พาย แอนด์ พาสต้า 2 สาขา,คุ้มกะตังค์ โดย อ.มัลลิการ์ 2 สาขา

ตามแผน 5 ปี คาดว่ารายได้จากต่างประเทศจะมีสัดส่วน 20-30% ปัจจุบันแบรนด์เย็นตาโฟเครื่องทรง สร้างรายได้หลัก 70% ตามด้วย เรือนมัลลิการ์ 10% อีก 20% เป็นแบรนด์อื่นๆ รวมกัน

“เอสแอนด์พี”รุกแบรนด์ใหม่

นางเกศสุดา ไรวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า เพื่อสร้างทางเลือกและประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภคที่ต้องการความหลากหลาย จะมีการพัฒนาแบรนด์ใหม่ควบคู่การขยายตลาดแบรนด์เดิมอย่างต่อเนื่อง

โดยปีนี้ใช้งบกว่า 300 ล้านบาท ในการเปิดสาขารวม 30 แห่ง สำหรับตลาดประเทศไทย เน้นร้านเบเกอรี่มากกว่าร้านอาหารซึ่งค่อนข้างครอบคลุมตลาดแล้ว นอกจากนี้จะเปิด 4 สาขาใหม่ในต่างประเทศ  ปัจจุบัน กลุ่มเอสแอนด์พีมีเครือข่ายร้านทั้งหมดรวมกว่า 500 สาขา  เป็นร้านอาหารประมาณ 150 สาขา ร้านเบเกอรี่ 350 สาขา

“ร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ มุ่งเจาะคนรุ่นใหม่ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจต้องปรับตัวตามเทรนด์และความต้องการของตลาดให้ทัน”

สำหรับแบรนด์ใหม่ในพอร์ตของเอสแอนด์พี เช่น ร้านนายห้าง เป็นร้านอาหารไทยจีนที่นำอาหารดังมาบริการด้วยสูตรของเอสแอนด์พีที่มีความเชี่ยวชาญในด้านอาหารจีน เปิดสาขาแรกที่โครงการ ล้ง ริมน้ำเจ้าพระยา ก่อนหน้านี้ยังได้ร่วมทุนกับญี่ปุ่นเปิดร้านอาหารสุขภาพเน้นเมนูที่ทำมาจากเต้าหู้เป็นหลัก ภายใต้ชื่อร้าน อูเมโนะ ฮานะ มี 3 สาขา เช่น เมกา บางนา และร้านเฮดควอเตอร์ อาคารอิตัลไทยทาวเวอร์ และเมกาบางนา เป็นต้น

“เซ็นกรุ๊ป”เล็งโมเดลใหม่

ทางด้าน เซ็น คอร์ปอเรชัน กรุ๊ป  วางโรดแมพในการผลักดันธุรกิจร้านอาหารในเครือทั้ง 13 แบรนด์สยายปีกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะแบรนด์เรือธง “ร้านตำมั่ว” ใช้ระบบแฟรนไชส์มาเป็นเครื่องมือเร่งสปีดสาขา

นายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์และแฟรนไชส์ บริษัท เซ็นคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจจากนี้จะให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น พร้อมศึกษาโมเดลหรือช่องทางขยายตลาดใหม่ๆ เช่น รูปแบบคีออส และอาคารพาณิชย์ (ห้องแถว)  

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเบื้องต้นในปี 2562 จะมีร้านแฟรนไชส์ร้านตำมั่วเพิ่มเป็น 195-200 สาขา จากปัจจุบันมี 149 สาขา สำหรับ 5 ปีข้างหน้า คาดมีร้านแฟรนไชส์เพิ่มเป็น 350 สาขา จากจำนวนสาขาทั้งหมด 500 สาขา ซึ่งขณะนั้นจะทำให้พอร์ตรายได้ขยับแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท

 

ที่มา  กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ