ข่าว

ขอ3ปีลบภาพ'ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ประภัสร์' ลั่นขอ 3 ปี รถไฟไทยล้างภาพลบ 'ถึงก็ช่าง...ไม่ถึงก็ช่าง' : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน

                         การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือร.ฟ.ท. รัฐวิสาหกิจที่มีอายุยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งหรือเกือบ 120 ปี แต่ที่ผ่านมากลับถูกมองว่ามีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างน้อยมากทั้งในแง่การให้บริการและการลงทุนใหม่ๆ รวมถึงสถานะที่ขาดทุนเรื้อรังจนถูกมองภาพลักษณ์ไปในทางลบ และถูกประเทศเพื่อนบ้านทิ้งห่างเรื่องของระบบขนส่งทางรางอย่างมาก มาวันนี้ร.ฟ.ท.มีผู้ขับเคลื่อนองค์กรคนใหม่ นายประภัสร์ จงสงวน ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ยังไม่ครบเดือนดี ที่สำคัญเคยมีประสบการณ์การทำงานที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม. มาก่อน จึงย่อมถูกจับตามองว่าจะเป็นหัวขบวนของรถไฟนำพาองค์กรไปในทิศทางใด ซึ่งเจ้าตัวเปิดใจกับ "คม ชัด ลึก" ถึงแผนงานและเป้าหมายการทำงานในอนาคต โดยยืนยันว่าภายใน 3 ปีจะทำให้ร.ฟ.ท.กลับมาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเหมือนในอดีตให้จงได้

 

3 ปีเร่งลงทุนปรับโฉมให้บริการ

 

                         นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการร.ฟ.ท. ยอมรับว่าปัญหาใหญ่และถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขของรถไฟคือเรื่องการให้บริการที่ยังไม่ค่อยน่าประทับใจ เพราะนับตั้งแต่ก่อตั้งรถไฟมาตั้งแต่สมัยรัฐกาลที่ 5 จนถึงขณะนี้เกือบ 120 ปี แต่ดูเหมือนเกินครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาดังกล่าวที่รถไฟเหมือนถูกละเลย ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายและเและเรื่องของคนที่ทำให้รถไฟมีปัญหาสะสมมายาวนาน สิ่งที่รถไฟแทบไม่ได้ทำเลยในช่วงที่ผ่านมาคือการซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ ทำให้ระบบรางมีปัญหาหรือหัวรถจักรแทบจะไม่ได้ซื้อใหม่ ที่ใช้งานอยู่ก็มีอายุเยอะบางหัว 30 ปีบางหัว 50 ปี และใช้งานหนักมากทำให้ต้องวิ่งไปซ่อมไปและเสียบ่อยครั้ง สงผลกระทบต่อการให้บริการที่ต้องล่าช้าเป็นประจำ  

                         ดังนั้นความจำเป็นเร่งด่วนคือต้องเร่งปรับปรุงการให้บริการพื้นฐานดังกล่าว ทั้งการจัดหาหัวรถจักร ขบวนรถ แคร่บรรทุกสินค้าเพิ่ม รวมถึงการปรับการเดินรถให้เป็นระบบรางคู่เพื่อสะดวกในการสวนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาต้องเสียเวลารอสับหลีกรางรถไฟ หากรถขบวนใดขบวนหนึ่งมาถึงช้าก็ต้องรอกันทำให้ยิ่งล่าช้าไปจากเดิม เพราะเรื่องความปลอดภัยเองก็สำคัญที่สุด หากรางไม่ดีก็ต้องใช้ความเร็วต่ำ ทำให้ปัจจุบันรถไฟใช้ความเร็วอยู่ที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในอนาคตก็อาจเห็นวิ่งได้ในความเร็ว 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็จะทำให้รถไฟวิ่งได้ตรงเวลา

                         "ระบบรางทั่วโลกเป็นรางคู่ทำให้รถไฟสามารถวิ่งได้ตรงเวลา เพราะสามารถควบคุมเวลาได้ รางคู่ทำไห้ไม่ต้องสับหลีกกัน รถไฟไทยจริงๆ แล้วส่วนใหญ่ออกจากสถานีตรงเวลา แต่ไปถึงสถานีปลายทางไม่เคยตรงเวลา เพราะต้องรอสับหลีกที่ว่าแล้ว หากหัวรถจักรเสียก็ยิ่งล่าช้าไปกันใหญ่ หากไทยมีรางคู่เชื่อว่ารถไฟจะวิ่งให้บริการได้ตรงต่อเวลาอย่างแน่นอน"

                         นายประภัสร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารถไฟเคยได้รับอนุมัติกรอบการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและการจัดซื้อหัวรถจักรต่างๆ ไว้แล้วภายในวงเงิน 1.7 แสนล้านบาทระยะเวลา 7 ปี แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการเดินหน้าโครงการมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายปรับเปลี่ยนไปมา แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้รถไฟเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนดังกล่าว หากเป็นไปได้ก็จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 ปีเพราะหากรออีก 7 ปีคงไม่ทันการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีนั้น หากไทยยังไม่เร่งพัฒนาระบบขนส่งทางรางอาจจะเสียโอกาสและเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านได้ หลังจากนี้จึงจะเร่งเปิดให้มีการประมูลและเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้เพื่อลงมือก่อสร้างรางคู่ให้เร็วที่สุด ส่วนเรื่องเงินคงไม่มีปัญหากระทรวงการคลังและรัฐบาลพร้อมจัดหามาให้อยู่แล้ว

                         นอกจากการเร่งลงทุนระบบรางแล้ว ก็จะจัดหาขบวนรถเพิ่มอีก 9 ขบวน 115 โบกี้ หัวรถจักรอีก 50 หัวจากที่มีใช้งานในปัจจุบัน 100 หัว รวมถึงแคร่บรรทุกสินค้าอีกหลายร้อยตัว  เพราะต่อไปนอกจากการขนคนแล้วยังเน้นใช้ในการขนส่งสินค้าด้วย หากการลงทุนสำเร็จตามแผนที่วางไว้ 3 ปีก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่การเปลี่ยนจากใช้ดีเซลไปเป็นใช้ไฟฟ้าได้ในอนาคต  ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกมหาศาลและต้องดูแหล่งพลังงานไฟฟ้าว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะหากขยายจากรถไฟฟ้าในเมืองไปชานเมืองหรือต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีปัญหาจราจรคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมาหารือกัน 

 

ระบบรางมาแรงพร้อมลุยรถไฟฟ้า

 

                         นอกจากการลงทุนตามแผนเดิมดังกล่าวแล้ว ในอนาคตรถไฟยังต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาทระยะ 7 ปีด้วย โดยในแผนงานดังกล่าวจะมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับขนส่งระบบรางประมาณ 65% โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 แสนล้านบาท เส้นกรุงเทพฯ-หนองคาย ใช้เงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท ยังมีเส้นกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหินอีก  รวม 4 เส้นทางน่าจะใช้เงินเกินครึ่งหรือ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ยังไม่รวมเส้นทางรถไฟรางคู่จากชุมพรไปถึงปาดังเบซาร์ของมาเลเซีย และจากเชียงใหม่ไปเชียงราย หรือเส้นทางอื่นๆ เพื่อขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เนื่องจากขณะนี้มีรถไฟวิ่งไปได้ถึงเพียง 47 จังหวัดของประเทศไทยเท่านั้น หรือมีระยะทางประมาณ 4 พันกิโลเมตร เพิ่มขึ้นมาจากเดิมพันกิโลเมตรถือว่าน้อยมากๆ

                         นายประภัสร์ ยืนยันว่า การลงทุนระบบรางทำแล้วมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน แม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนสูงอยู่บ้าง โดยจากผลศึกษาพบว่าจะช่วยให้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทุกฝ่ายยอมรับ จึงมีแนวคิดว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดกว้างให้รถไฟนำผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาลงบัญชีเพื่อหักลบกับเงินลงทุนดังกล่าวเพื่อจะได้ทำให้บัญชีของการรถไฟดูดีขึ้นไม่ใช่มีตัวเลขแดงหรือขาดทุนมาตลอด  แต่ไม่แน่ใจว่าแนวคิดนี้จะได้รับการสนับสนุนหรือไม่

                         "ที่ผ่านมาเงินพร้อมแต่งานไม่เดิน ก็ไม่อยากให้โทษที่คนหรือพนักงานของรถไฟ เพราะการทำงานขึ้นอยู่กับหลายส่วน โดยเฉพาะนโยบายหากไม่มีความชัดเจนก็ทำให้งานไม่เดิน  ก่อนหน้านี้ผมเองก็ไม่แน่ใจนโยบาย แต่มาตอนนี้มั่นใจว่ารัฐบาลผลักดันการพัฒนาและลงทุนระบบขนส่งทางราง 100% หลังจากนี้จึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของรถไฟและพลิกโฉมไปในทางที่ดีขึ้นเทียบกับก่อนหน้านี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ไม่เคยพูดถึงการพัฒนาระบบขนส่งทางรางแต่เน้นการลงทุนสร้างถนนรองรับการลงทุนผลิตรถยนต์จากบริษัทญี่ปุ่นที่แห่เข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมากแทน"

                         ทั้งนี้ การที่รัฐบาลหันมาให้ควาสำคัญกับขนส่งทางราง ส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และไม่น้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญทุกประเทศก็หันมาให้ความสำคัญกับขนส่งทางรางมากขึ้น ทั้งจีน ญี่ปุ่น หรือสหรัฐ เพราะการใช้รถยนต์หรือขนส่งทางถนนมีต้นทุนสูงจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเรื่อยๆ และนับวันจะหมดไป  ที่สำคัญโครงการขนาดใหญ่ระดับล้านล้านบาทนี้รัฐบาลก็คงกำลังดูว่ารถไฟจะมีความพร้อมในการทำโครงการด้วยหรือไม่

 

เชื่อพนักงานรถไฟมีศักยภาพสูง

 

                         นายประภัสร์ให้ความเห็นเรื่องความพร้อมของร.ฟ.ท.ในการรองรับการเปลี่ยนเปลงขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าพนักงานของรถไฟไม่มีความพร้อมจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้วที่สัมผัสกับคนรถไฟมาเกือบหนึ่งเดือนรู้สึกว่าทุกคนรักองค์กร และมีคนเก่งอยู่จำนวนมาก เพราะสมัยก่อนคนที่เข้าทำงานรถไฟได้ต้องเป็นคนเก่ง มีความเชี่ยวชาญพิเศษ จึงค่อนข้างเป็นงานที่เกียรติ มีหน้ามีตา แต่ที่ผ่านมานโยบายทำให้คนรถไฟไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ หรือการนำเสนอข่าวออกไปทางลบต่อเนื่องจนคนเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ต่อไปเชื่อว่าทุกคนจะทุ่มเททำงานเพื่อให้การรถไฟกลับมาเป็นองค์กรที่ส้รางความภาคภูมิใจเหมือนที่เรามีรถไฟวิ่งวันแรก ซึ่งในวันนั้นเราถือเป็นประเทศแรกหรือเบอร์หนึ่งในเอเชียที่มีรถไฟวิ่งและมีการเริ่มต้นในเวลาเดียวกับญี่ปุ่น แต่ตอนนี้เราถูกแซงไปเกือบหมดแล้ว

                         ทั้งนี้ ยอมรับว่าการที่รถไฟมีบัญชีติดลบหรือขาดทุนมาตลอดก็อาจจะทำให้พนักงานรถไฟเสียกำลังใจไปบ้าง หากต่อไปมีการปรับการลงบัญชีใหม่ให้เอาการลงทุนที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมาหักลบกลบหนี้จากการลงทุนก็น่าจะทำให้ตัวเลขทางบัญชีของรถไฟมีโอกาสเป็นบวกบ้าง ส่วนเงินที่ใช้ไปก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชำระคืนแต่ยืนยันว่ารถไฟมีหน้าที่ให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนจะไม่มีการเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการขนส่งสินค้าที่สูงเกินเหตุ ขอเพียงไม่ให้เป็นภาระแก่งบประมาณในระยะยาวก็เพียงพอแล้ว

                         สำหรับในปัจจุบัน รถไฟมีจำนวนรถวิ่งให้บริการที่ 240 ขบวนต่อวัน เป็นการให้บริการเชิงพาณิชย์หรือเก็บค่าโดยสารในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้ 76 ขบวน ที่เหลือ 164 ขบวนเป็นการให้บริการเชิงสังคมหรือเก็บค่าโดยสารถูกหรือให้บริการฟรีตามนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เป็นนโยบายถาวรต่อเนื่องไปในอนาคต

                         "จากจำนวนรถที่วิ่งในปัจจุบันหากคำนวณรายจ่ายและรายได้ต่อวันแล้วถือว่าไม่ขาดทุน แต่หากรวมภาระค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนอื่นๆ รวมถึงการจ่ายเงินบำนาญให้พนักงานรถไฟรุ่นเก่าๆ ก็จะเป็นผลให้มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้และตัวเลขติดลบสะสมไปเรื่อยๆ โดยขณะนี้มีหนี้สินสะสมประมาณ 9 หมื่นล้านบาทก็หน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะเข้ามาจัดการกับปัญหาที่ผ่านมา เพราะพนักงานเก่าๆ ทำงานช่วงที่รถไฟเป็นหน่วยงานราชการก็ควรจะได้รับบำนาญต่อไป"

                         นายประภัสร์ ยืนยันว่า รถไฟมีความพร้อมจะเดินหน้าในทุกโครงการ ที่ผ่านมาที่รถไฟถูกมองว่าไม่พร้อมคงต้องโทษผู้บริหารในช่วงนั้นๆ ว่าขาดจุดยืน ขาดหลักการที่ถูกต้อง ทำให้งานเขวไปบ้าง ขณะที่พนักงานเป็นผู้รับคำสั่ง ในอนาคตก็คาดหวังว่าจะแก้ภาพลักษณ์ในทางลบไปได้ ระหว่างนี้ก็ต้องเร่งสร้างภาพที่ดีทั้งการให้บริการและอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของความสะอาดของสถานี ห้องน้ำในขบวนรถ  การปรับปรุงซ่อมแซมทาสีรถไฟให้น่าใช้บริการ เป็นต้น  ส่วนในอนาคตก็มีแผนจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่อีก 2 พันคนซึ่งได้รับอนุมัติมาแล้วหลังจากที่ไม่เคยเพิ่มมาเป็นเวลานาน โดยปัจจุบันมีพนักงานรถไฟทั่วประเทศประมาณ 1 หมื่นคน จากที่ต้องใช้จริงๆ 1.8 หมื่นคนจึงจะเพียงพอให้บริการ

 

รับบุกรุกที่แก้ยากการเมืองเอี่ยว

 

                         ส่วนงานอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟก็มีเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่หลังจากนี้ตนจะเร่งให้โครงการเดินหน้าโดยเร็ว หลังจากล่าช้ามานาน 2 ปี โดยส่วนของสัญญา 1 ได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว สัญญา 2 ก็เดินหน้าไปเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงสัญญา 3 ที่น่าจะได้ข้อยุติในเร็วๆ นี้ การที่เส้นบางซื่อ-รังสิตไม่เกิดขึ้นทำให้การเชื่อมต่อกับเส้นตลิ่งชันไม่สามารถทำได้ และต้องนำรถดีเซลไปทดลองวิ่งก่อน ซึ่งจะมีการประเมินผลว่ามีใช้บริการของประชาชนมากน้อยแค่ไหนต่อไป ส่วนเรื่องของแอร์พอร์ตลิงค์ที่ยังมีปัญหาในการให้บริการและขาดทุนอยู่นั้น ยอมรับว่ามีปัญหาตั้งแต่เชิงโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาไม่เหมาะสมในการให้บริการ ทั้งลิฟต์ที่เล็กไป บันไดเลื่อนที่แคบและไม่มีที่จอดรถไว้บริการ จึงเป็นสาเหตุให้คนมาใช้บริการน้อย สิ่งที่ทำได้คือต้องติดตั้งลิฟต์ขนาดใหญ่เพิ่มเติม และลงทุนซื้อขบวนรถเพิ่มซึ่งก็ต้องใช้งบอีกจำนวนไม่น้อย

                         สำหรับที่ดินของการรถไฟที่มีคนพูดถึงกันมากนั้น จากจำนวนที่มีอยู่ประมาณแสนกว่าไร่ใน 47 จังหวัดนั้นมีที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้น้อยมาก และส่วนใหญ่ก็จะถูกบุกรุกเช่นในพื้นที่กทม. และหากเข้าไปดูจะเห็นว่าการบุกรุกดังกล่าวทำได้เพราะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะมีน้ำมีไฟ และมีเลขที่บ้านได้อย่างไร ตรงนี้จึงอยากให้มีการพูดความจริงกัน

                         อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากเห็นคือการนำที่ดินของรถไฟมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจริง โดยเล็งที่ดินบริเวณมักกะสันไว้เพราะไม่มีการบุกรุกและน่าจะทำโครงการขนาดใหญ่ได้ง่าย โดยอยากจะให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ มีทั้งโรงแรม ช็อปปิ้งมอลล์  ซึ่งคงต้องหารือกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และภาคเอกชนเพื่อประเมินการลงทุน คาดว่าน่าจะใช้เงิน 4-5 หมื่นล้านบาท หากให้เอกชนเข้ามาลทุนก็ต้องสัญญาระยะยาวคุ้มค่าการลงทุนด้วย แต่ก็อาจจะถูกคัดค้านอีก

                         "การทำโครงการต่างๆ ของภาครัฐมักจะเดินไปได้ช้า เทียบกับโครงการของเอกชนที่ไปได้เร็วมาก จึงน่าเสียดายโอกาสของประเทศไทยที่เสียไป หากทุกคนรักประเทศไทยก็อยากเห็นทุกคนหันมาร่วมมือกันทำมากกว่าพูดก็คงจะดี" นายประภัสร์กล่าวทิ้งท้าย

 

 

--------------------

('ประภัสร์' ลั่นขอ 3 ปี รถไฟไทยล้างภาพลบ 'ถึงก็ช่าง...ไม่ถึงก็ช่าง' : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ