ข่าว

"อาหรับราตรี VS มังกรหยก"ที่อุซเบกิสถาน(2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในโอกาสครบรอบ 20 ปีที่ได้รับเอกราชจากอดีตสหภาพโซเวียตรุสเซีย ประกอบกับต้องการหาเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศเพื่อนำไปเร่งรัดพัฒนาประเทศที่ยังล้าหลังอยู่ การท่องเที่ยวของอุซเบกิสถานจึงมีโครงการเชิญนักข่าวต่างชาติ โดยเฉพาะจากไทยที่มีสัมพันธภาพอันดีระหว่างกัน

 ดิฉันเป็นหนึ่งในคณะสื่อมวลชนหลากสาขาชุดแรกจำนวน 8 คนที่ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวอุซเบกิสถานร่วมกับ ซาอิดราฮิม เอส อิครามอฟ กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย สายการบินอุซเบกิสถานและบริษัทโกลบอล ฮอลิเดย์ จำกัด ให้เดินทางไปเปิดหูเปิดตาเมื่อช่วงปลายหนาวต้นฝนตามสภาพภูมิอากาศของประเทศนั้น

 ถึงแม้ว่าสาธารณรัฐอุซเบกิสถานจะอยู่ใจกลางทะเลทรายในเอเชียกลาง โดย 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เป็นทะเลทราย ดูผ่านๆ ออกจะไม่งามเท่าทะเลทรายที่ซินเกียง ซึ่งทรายร่วนละเอียดและหลากสีสัน ให้ความรู้สึกโรแมนติกยิ่งนัก แต่ก็ไม่ดูโดดเดี่ยวอ้างว้างเหมือนทะเลทรายที่ไซไน

 อย่างไรก็ดี ทะเลทรายที่นี่ก็มีเสน่ห์เปี่ยมด้วยด้วยมนต์ขลังไปอีกแบบหนึ่ง ชวนให้นึกถึงแต่ภาพม้าศึกยามควบผ่านทุ่งหญ้าอันแห้งแล้ง ภาพของนักรบโบราณ ใบหน้าดุดันที่ควงอาวุธโรมรันกันโดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน แปรเปลี่ยนทะเลทรายอันแห้งแล้งให้กลายเป็นทะเลเลือดในบัดดล

 ถึงแม้จะล้อมรอบด้วยทะเลทราย อุซเบกิสถานก็ตั้งอยู่หว่างกลางแม่น้ำใหญ่ 2 สายที่มีชื่อสุดแสนโรแมนติกว่าแม่น้ำอามูดารยาและแม่น้ำซีร์ดารยา ซึ่งเป็นสายธารหลักของประเทศที่เป็นแลนด์ล็อก ไม่มีทางออกทางทะเลถึง 2 ชั้น คือนอกจากจะไม่มีทางออกทะเลเองแล้ว ยังรายรอบด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลเหมือนกันถึง 5 ประเทศ ซึ่งล้วนลงท้ายด้วย "สถาน" ตั้งแต่คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถานและอัฟกานิสถาน

 เพียงก้าวแรกที่เหยียบย่างบนแผ่นดินของอุซเบฯ ดิฉันก็เชื่อว่าประเทศนี้กำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ในอนาคต ที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบจากทุกมุมโลก อันเนื่องจากอุดมไปด้วยอารยธรรมและวัฒนธรรมโบราณกว่า 2,500 ปี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมของแท้จนได้รับการขึ้นเป็นมรดกโลกหลายต่อหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เมืองคีวา ซึ่งได้รับการขึ้นเป็นมรดกโลกทั่วทั้งเมืองเลยทีเดียว

 นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่มีธรรมชาติอันงดงามและหลากหลายตั้งแต่ทะเลทราย โอเอซิส ภูเขา สกีรีสอร์ท ฯลฯ จึงเหมาะกับการท่องเที่ยวหลากรูปแบบ ตั้งแต่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งถ้าจะดูกันจริงๆ คงใช้เวลาหลายเดือน ในเมื่อมีโบราณสถานถึงกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ หรือจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวแบบชมธรรมชาติกลางทะเลทราย การท่องเที่ยวแบบผจญภัย หรือการไปเล่นสกี ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าประเทศทะเลทรายแห่งนี้จะมีสกีรีสอร์ทขึ้นชื่อถึง 3 แห่งทางตอนเหนือของประเทศ ฯลฯ

 เพียงแต่ว่าในช่วงบุกเบิกการท่องเที่ยวนี้ อาจจะมีหลายอย่างที่ขลุกขลักอยู่บ้าง ซึ่งก็สร้างความประทับใจไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสนามบินที่ไม่เป็นมิตร ทุกคนจะต้องลากกระเป๋าเองเป็นระยะไกลๆ หรือบางครั้งก็ต้องแบกกระเป๋าขึ้นบันไดทีละขั้น เนื่องจากไม่มีบันไดเลื่อนหรือไม่มีแม้แต่ทางลาดสำหรับเข็นกระเป๋า

  แถมเมื่อไปถึงวันแรก ก็มีเรื่องตื่นเต้นเล็กๆ น้อยๆ เรียกน้ำย่อย เมื่อกระเป๋าดิฉันเกิดหลงหายไปจากกระเป๋าของกลุ่ม ต้องเสียเวลารอนานพอควรกว่าเจ้าหน้าที่จะตามหากระเป๋ามาคืน

 นอกจากนี้ ความไม่พร้อมของโรงแรมซึ่งสร้างในสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำใจไว้ล่วงหน้า รวมไปถึงห้องสุขาที่หลายแห่งอาจจะกลายเป็นห้องทุกขา พอๆ กับจีนในช่วงเปิดประเทศใหม่ๆ

 แต่สิ่งเหล่านี้ก็ได้รับการชดเชย เมื่อเห็นรอยยิ้มที่มีฟันทองเกือบหมดปากเหมือนคนในรุ่นพ่อรุ่นแม่ของดิฉัน รอยยิ้มเปี่ยมด้วยอัธยาศัยอันดี มากด้วยไมตรีจิตและความเป็นมิตรแม้กับคนแปลกหน้า จนดิฉันต้องให้สมญาว่า "ดินแดนแห่งรักมาก" โดยแปลงมาจากคำว่า "รักมัต" ที่แปลว่า"ขอบคุณ" ซึ่งได้ยินวันละหลายสิบครั้ง ตลอดช่วงสิบวันดิฉันเลยติดนิสัยบอกรักคนมากๆ อย่างไม่รู้เบื่อ แม้จะถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหรือเกาหลีทุกครั้งไปก็ตาม

 ใครที่ฝันจะเห็นความโบราณของกรุงทาชเคนท์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน หรือที่บรรดาลูกหลานมังกรเคยเรียกว่าเมือง "อเวสตา" หมายถึงเมืองแห่งความสงบสุข ซึ่งเคยเป็นเมืองเก่าแก่บนเส้นทางสายแพรไหมแท้จากจีนสู่ยุโรป และยังเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างประเทศจุดสำคัญจนถึงทุกวันนี้ คงจะผิดหวังไม่ใช่น้อย เมื่อเห็นแต่อาคารบึกบึนแข็งแรงตามสไตล์อาคารของสังคมนิยมหมีขาว แม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยวก็ล้วนแต่สร้างขึ้นมาใหม่แทนเมืองเก่าที่ทลายราบเป็นหน้ากลองจากฤทธีธรณีพิโรธขนาด 7 ริกเตอร์เมื่อปี พ.ศ.2509

 ช่วงนั้น หมีขาวรัสเซียต้องเร่งส่งแรงงานจากทั่วทุกถิ่นสถานมาช่วยสร้างเมืองใหม่ จนกลายเป็นเมืองใหม่ที่สุดแสนทันสมัยที่สุดเมื่อเทียบกับอดีตเครือรัฐอื่นๆ รวมทั้งยังได้สร้างอนุสาวรีย์รำลึกแผ่นดินไหว เป็นรูปพ่อจูงแม่ที่อุ้มลูกหนีภัยธรรมชาติด้วยใบหน้าตื่นตระหนก มีก้อนหินใหญ่ทำเป็นรูปนาฬิกาบอกวันเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนั้นด้วย

 ปกติแล้ว ชาวอุซเบฯ แท้ๆ ไม่อยากมาเที่ยวที่นี่นัก เพราะมองว่าเป็นของรัสเซียที่ได้ทิ้งปัญหาไว้จนถึงขณะนี้ โดยเฉพาะกรณีแรงงานต่างถิ่นเหล่านั้นไม่ยอมอพยพกลับบ้านเกิด หลังจากช่วยกันสร้างบ้านเมืองใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ทาชเคนท์ ทำให้เมืองนี้มีเสน่ห์แปลกอีกแบบหนึ่ง นั่นก็คือมีลูกครึ่งหน้าตาผสมผสานเต็มไปหมด แถมภาษาก็เริ่มกลายเป็นภาษาอุซเบฯ แต่หลายสำเนียง ไม่นับรวมไปถึงการมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ ชาวรัสเซีย เกาหลี จีน คาซัคฯ เติร์ก ฯลฯ

 สิ่งแรกที่ต้อนรับพวกเราทันทีที่เดินทางถึงโรงแรมอุซเบกิสถานก็คือคู่แต่งงานหลายคู่นั่งรถลีมูซีนคันยาว ซึ่งคงช่วยกันออกค่าเช่าราคาแพงหูฉี่ มาถ่ายรูปหรือจัดงานเลี้ยงที่โรงแรม พอพวกเราข้ามไปพิพิธภัณฑ์อามีร์ ติมูร์ ซึ่งอยู่คนละฟากถนนโดยมีอนุสาวรีย์ของอามีร์ ติมูร์ คั่นกลาง ก็พบรถลีมูซีนคันยาวและคู่แต่งงานอีก 2-3 คู่ ที่คงหลบฝนไปถ่ายรูปในพิพิธภัณฑ์ติมูร์ด้วย นับจากนั้นเป็นต้นมา ดิฉันก็พบคู่แต่งงานนับสิบคู่ตามเมืองต่างๆ ราวกับเป็นเทศกาลของหนุ่มสาวที่พร้อมจะใช้ชีวิตคู่ในช่วงต้นฝนนี้

 ตามถนนสายต่างๆ ที่นั่งรถผ่าน จึงเห็นแต่ป้ายใหญ่โฆษณาชุดวิวาห์ของเจ้าสาวแสนสวยเกลื่อนไปหมด นี่ถ้าช่างตัดเสื้อฝีมือดีของไทยไปลงทุนที่นั่นบ้าง คงไม่ตกงานแน่

 พวกเราค้างที่ทาชเคนท์เพียงคืนเดียว จึงเห็นอะไรไม่มากนักนอกจากพิพิธภัณฑ์ติมูร์ ซึ่งภายในมีรูปวาดอามีร์ ติมูร์ นักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่ขยายดินแดนไปจนถึงอินเดีย เปอร์เซีย คาบสมุทรอาหรับ รัสเซีย นอกจากนี้ ยังมีภาพวาดลูกหลานชื่อดังหลายคนอย่างอูลุคเบค ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดยอดนักดาราศาสตร์โลก ผู้คำนวณจำนวนวันในรอบปีได้แม่นยำที่สุดโดยพลาดไปเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

 รวมทั้งยังจำลองสถาปัตยกรรมยุคติมอริดส์มากมาย รวมไปถึงภาพเสือหน้าคนที่แปลกมาก โดยจำลองมาจากอูลุคเบคมาดราซาส์ หรือโรงเรียนสอนศาสนาอูลุคเบคที่เมืองซามาคานด์ ภาพจำลองหอดูดาวอูลุคเบค ฯลฯ

 อย่างไรก็ดี หลังจากกลับจากการท่องเที่ยวเมืองโบราณ 3 เมืองที่อยู่ลึกไปทางตะวันตกของประเทศแล้ว พวกเราได้กลับมานอนค้างที่ทาชเคนท์อีก 2 คืน จึงมีโอกาสได้ชมสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อหลายแห่ง

 และก็ได้สัมผัสกับสายฝนที่ตกผิดฤดูกาลเล็กน้อย รวมทั้งลมหนาวจนถึงขั้นหิมะตกพอเป็นกระสาย ราวกับต้องการต้อนรับพวกเราเป็นพิเศษทุกครั้งไม่ว่าจะไปหรือกลับ

 ความที่เป็นเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นบนซากของเมืองเก่า สถานที่ท่องเที่ยวจึงหนีไม่พ้นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น อนุสาวรีย์อามีร์ ติมูร์ ที่จัตุรัสอามีร์ ติมูร์ ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ติมูร์ ถือเป็นหนึ่งในสามของอนุสาวรีย์หลากรูปแบบของผู้สถาปนาประเทศนี้ โดยแห่งที่ 2 เป็นอนุสาวรีย์ท่านั่ง ตั้งอยู่ที่เมืองซามาคานด์ เมืองหลวงของราชวงศ์ติมูริด แห่งที่ 3 เป็นท่ายืน ตั้งอยู่ที่เมืองซาคริซาบส์ บ้านเกิดของติมูร์  

 สำหรับอนุสาวรีย์ติมูร์ที่กรุงทาชเคนท์ เป็นรูปทรงม้ากำลังผกโผนตั้งอยู่บนอนุสาวรีย์เก่าของเลนิน ที่ถูกรื้อถอนไปหลังอุซเบฯ ได้รับเอกราชแล้ว ดิฉันคิดสนุกๆ ตามประสาว่าคงเป็นการแก้แค้นอย่างสันติวิธีของชาวอุซเบฯ ที่ถูกหมีขาวรัสเซียยึดครองมานาน 

 ถึงแม้จะมีหลักฐานยืนยันว่าติมูร์เป็นขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ชาวมองโกลในยุคหลังของเจงกีสข่านเล็กน้อย โดยเฉพาะจากการตรวจโครงกระดูกที่ขุดขึ้นในยุคที่ยังอยู่ใต้การยึดครองของรัสเซีย แต่จิตรกรอุซเบฯ มักจะยืนกรานวาดภาพให้เป็นชาวคอเคซัสหรือยุโรป เหมือนกับต้องการประกาศว่าอุซเบฯ เป็นยุโรปซึ่งคงดูดีกว่าบอกว่าอยู่ในเอเชียกลางเป็นไหนๆ

 เรื่องราวของอามีร์ ติมูร์ยังมีอีกมากโดยเฉพาะคำสาปแช่งที่เป็นจริงของติมูร์ แล้วดิฉันจะค่อยๆ ทยอยเล่าในภายหลังดีกว่า จะได้ไม่น่าเบื่อเกินไปนัก

 อีกสถานที่หนึ่งก็คือ จัตุรัสอิสรภาพหรือจัตุรัสมุสตาคิลลิค ถือเป็นหัวใจของทาชเคนท์ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของเอกราชและอิสรภาพของประเทศนี้ ทางเข้าจะเป็นประตูโค้งอันหมายถึงความมั่งคั่ง เหนือประตูโค้งเป็นนก 8 ตัว บ้างก็ว่านับได้ 16 ตัว 24 ตัว หมายถึงความหวัง จัตุรัสนี้จะเป็นที่พักผ่อนในยามเย็นของชาวเมืองที่จะพาครอบครัวมาเดินเล่นกัน รวมทั้งเป็นที่ที่บ่าวสาวจะมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย
 
 ภายในเป็นรูปปั้นแม่กำลังอุ้มลูก โดยมีตราสัญลักษณ์ของอุซเบฯ รายล้อม ซึ่งล้วนแต่มีความหมายในทางมงคลทั้งสิ้น เพราะเด็ก หมายถึง ประเทศอุซเบกิสถานที่เพิ่งเกิดใหม่มาได้แค่ 20 ปี ส่วนตราสัญลักษณ์ที่เป็นรูปนกฟินิกส์ หมายถึงเกิดใหม่ ด้ายซ้ายมือเป็นรูปของต้นฝ้าย ผลิตผลสำคัญของประเทศ ส่วนขวามือเป็นรูปข้าวสาลี มีแม่น้ำอามูรดารยาล้อมอยู่ ตราดาวตรงกลางหมายถึงอิสลาม เหนือขึ้นไปเป็นรูปโลกและแผนที่ประเทศอุซเบกิสถาน

 ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกันนัก เป็นรูปปั้นขนาดใหญ่มีกองไฟอยู่ตรงกลาง เป็นรูปหญิงชราหน้าตาเศร้าสร้อย ซึ่งหมายถึงแม่ที่นั่งหน้าเศร้ารอลูกที่ไปรบระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งนั้นมีเด็กหนุ่มอุซเบฯ ไปแล้วไปลับไม่กลับมาถึงกว่า 2 ล้านคน

 พวกเรายังได้ดู อนุสาวรีย์ของนิโซมิดดิน มีร์ อาลีเชอร์ ผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรอุซเบฯ เป็นคนแรก ซึ่งเสียชีวิตขณะมีอายุ 59 ปี รวมทั้งยังได้ชม อิหม่ามคอมเพล็กซ์ ภายในประดิษฐานคัมภีร์อัลกุรอานฉบับเก่าแก่ที่สุด เขียนบนหนังกวางโดยใช้สีธรรมชาติ และอามีร์ ติมูร์ได้นำมาจากอาหรับหลังรบชนะเปอร์เชียในสมัยศตวรรษที่ 14 นำมาเก็บไว้ที่เมืองซามาคานด์ แต่คัมภีร์นี้ก็ระเหเรร่อนไปหลายแห่งในช่วงที่เกิดสงคราม เป็นเหตุให้หายไป 15 หน้าจาก 338 หน้า

 ท้ายที่สุดก็ไปปรากฏโฉมที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กหรืออดีตเมืองเลนินกราด เมื่อปี พ.ศ.2406 แต่หลังการปฏิวัติรัสเซียเมื่อพ.ศ.2460 รัสเซียก็คืนให้อุซเบฯ ก่อนจะนำมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่ทาชเคนท์เมื่อพ.ศ.2532

 สิ่งที่พลาดไม่ได้หลังชมเมืองแล้วก็คือการเป็นแม่เม้ยเจิงเดินชมตลาด แกรนด์ คอร์เซอร์ บาซาร์ หรือตลาดสี่มุมเมืองโดยไม่มีพ่อมะเทิ่งเดินไปด้วย ตลาดนี้เป็นตลาดของชาวบ้านแท้ๆ เป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นเมือง ผักผลไม้ท้องถิ่นนานาชนิดคล้ายของไทย ถั่ว กล้วยหอม ทับทิมแดงลูกโตเนื้อแดงสมชื่อทับทิม เครื่องเทศ ตลอดจนเสื้อผ้า ของเล่น ฯลฯ น่าสังเกตว่าตลาดสดพื้นเมืองในทุกเมืองล้วนเป็นตลาดที่สามารถยืนขายกันง่ายๆ แค่มีผักสดไม่กี่ชนิดอย่างเช่นแค่ต้นหอมกำมือหนึ่งก็สามารถยืนขายได้แล้ว

บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ