ข่าว

จากอินทรีแดงถึงเจ็ดประจัญบาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฮีโร่ หรือวีรบุรุษในหนังและหนังสือของไทยมีไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสหรัฐ ที่อุดมไปด้วยเหล่าพระเอกนางเอกที่เก่งกาจซึ่งหมายมุ่งผดุงยุติธรรมและพิชิตคนพาลอภิบาลคนดี ตั้งแต่ยุคหนังคาวบอยอย่าง

 แดเนี่ยล บูน, จิม โบวี่, เดวี่ คล็อกเก็ต มาจนถึงยุคหนังสือนิยายภาพอย่าง ซูเปอร์แมน, แบทแมน, สไปเดอร์แมน, วันเดอร์วูแมน หรือ เอ๊กซ์เมน ในขณะที่ของไทยเรานั้น เริ่มต้นด้วยเสือดำ-เสือใบ จากปลายปากกาของ ป.อินทรปาลิต ต่อด้วยพระเอกสวมหน้ากาก อย่าง แมน ดำเกิงเดช ในเหยี่ยวราตรี ของ ส.เนาวราช และ โรม ฤทธิไกร ในอินทรีแดง ของ เศก ดุสิต และที่โด่งดังจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็คือ จ่าดับ จำเปาะ กับเหล่าสหาย ในภาพยนตร์ชุด 1 ต่อ 7 ของ ส.อาสนจินดา

 ในบรรดาฮีโร่แบบไทยๆ นี้ ถือว่า โรม ฤทธิไกร กับ จ่าดับ จำเปาะ ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะพฤติการณ์ของอินทรีแดงถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 10 ครั้ง โดยมิตร ชัยบัญชา รับบทโรม ฤทธิไกร รวม 6 ครั้ง เศก ดุสิต ได้เขียนเรื่องอินทรีแดงตอนแรกในปี พ.ศ. 2498 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Captain Lightfoot นำแสดงโดย ร็อค ฮัดสัน สำหรับ จ่าดับ จำเปาะ นั้น ถือกำเนิดจากภาพยนตร์เรื่อง 1 ต่อ 7 ในปี พ.ศ. 2501 และมีตอนอื่นๆ ติดตามมาอีกหลายตอน เช่น เจ็ดตะลุมบอน เจ็ดแหลก เจ็ดประจัญบาน ฯลฯ รวมแล้วน่าจะมากกว่า 7 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ ส.อาสนจินดา จะสวมบทมือปืนคาดเชือกกล้วยกางเกงในสีแดงเอง ก่อนจะโอนบทนี้ให้แก่ ทักษิณ แจ่มผล และพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ไปในที่สุด เนื้อหาของ 1 ต่อ 7 จะปลุกใจให้รักชาติ และสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงต่างๆ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเวียดนาม สงครามชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นต้น มีผู้สันนิษฐานว่า ส.อาสนจินดา อาจได้ความคิดมาจากภาพยนตร์เรื่องเจ็ดเซียนซามูไร ของ อากิระ คุโรซาวา ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2497

 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งภาพยนตร์เรื่องอินทรีแดง ฉบับล่าสุดที่นำแสดงโดย อนันดา เอเวอริ่งแฮม และละครโทรทัศน์เรื่องเจ็ดประจัญบาน ทางช่อง 3 ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นในอดีต จนเกิดคำถามว่าฮีโร่ในนิยายภาพยนตร์ของไทยหมดยุคของพวกเขาไปแล้วหรือ? พร้อมกับมีคำถามซ้อนขึ้นมาอีกว่า แล้วทำไมเหล่าอเมริกันฮีโร่จึงสามารถครองใจผู้คนมาทุกยุคทุกสมัย?

 ความจริงแล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูหนังและโทรทัศน์ของอเมริกัน เราก็จะพบว่ามีฮีโร่จำนวนไม่น้อยที่หายหน้าหายตาไปหรือเมื่อสร้างเป็นหนังออกมาแล้วก็ไม่มีคนดูเหมือนกัน อย่างเช่น ทาร์ซาน โรบินฮู้ด อัศวินโต๊ะกลม หรือพระเอกคาวบอยทั้งหลาย ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ความไม่มีอะไรใหม่ หรือผู้ดูรู้หรือสามารถคาดเดาเรื่องได้หมดแล้ว ที่สำคัญก็คือการขาดอารมณ์ร่วมไปกับหนังเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ทาร์ซาน ปัจจุบันนี้บรรยากาศของป่าในแอฟริกาก็ไม่ได้เป็นเช่นสมัยโบราณแล้ว และคนดูก็เห็นภาพสัตว์ต่างๆ ในแอฟริกา ผ่านทางสารคดีเช่น Animal Planet จนชินตา ดังนั้น หลังจากภาพยนตร์เรื่อง Greystoke, The Legend of Tarzan, Lord of the Apes ในปี 2527 แล้ว เราก็ไม่ได้ยินเสียงโห่ของทาร์ซานอีกเลย

 ในอินทรีแดง ฉบับอนันดา เอเวอริ่งแฮม จะเป็นด้วยการตีความใหม่ หรือการพยายามสร้างปมปัญหาของโรม ฤทธิไกร ในทำนองแบทแมนตอน Batman begins ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความประดักประเดิด และทำให้โรม ฤทธิไกร กลายเป็นคนแปลกหน้าของแฟนๆ และหนังก็วนเวียนอยู่ใน “สูตรสำเร็จ” ของฮอลลีวู้ด ทั้งนักการเมืองที่ตีสองหน้า หรือการหักหลังกันเองของหน่วยงานด้านข่าวกรอง ที่ฝรั่งสร้างกันมาเป็นร้อยเป็นพันเรื่องแล้ว ขณะเดียวกันเจ็ดประจัญบานก็สร้างพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ให้เป็นเช่นที่เกิดขึ้นในหนังจีนหรือฮ่องกง โดยไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอาการ “คิดเอาเอง” เช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก และเมื่อเรื่องไม่ได้ดำเนินอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ก็ทำให้ละครเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งเหลวไหลไร้สาระไปอย่างน่าเสียดาย

 ย้อนกลับไปที่คำถามที่ว่า ฮีโร่ของไทยหมดยุคแล้วหรือ? ผมคิดว่าฮีโร่ของไทยยังไม่หมดยุคหรอกครับ ถ้าหากผู้สร้างจะมีความเข้าใจในลักษณะที่แท้จริงของฮีโร่เหล่านั้นอย่างถึงแก่น รวมทั้งเข้าใจลักษณะของคนไทยที่เป็นแฟนๆ ของบรรดาฮีโร่เหล่านั้นอย่างถูกต้องด้วยครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ