ข่าว

ยักษ์ไทยลีกโวย ถูกการเมืองบีบ หวังชิงตัวนักเตะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่เลิกใช้อำนาจการเมืองบีบ ยักษ์ลูกหนังไทยโวยถูกเข้าประตูหลัง หวังดึงนักเตะระดับทีมชาติเข้าร่วมทัพ ขณะที่ไทยพรีเมียร์ลีก ยืนยันหากมีหลักฐาน และส่งเรื่องให้พิจารณาพร้อมดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสมาคมฟุตบอล พร้อมวอนร่วมพัฒนาบอลไทย ด้วยแนวทางตามวิธีสากลปฏิบัติ

 ตามที่บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ในฐานะผู้ควบคุมการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก และดิวิชั่น 1 ประจำปี 2553 ได้ประกาศช่วงเวลาเปิดตลาดนักเตะเลกสอง ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม-9 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ แต่ล่าสุดกลับมีข่าวไม่สู้ดีออกมา เมื่อปรากฏว่า มีสโมสรใหญ่ทีมหนึ่งในไทยพรีเมียร์ลีก เจอวังวนเดิมของฟุตบอลไทย เมื่อมีนักการเมืองท้องถิ่นผู้กว้างขวางรายหนึ่งใช้อำนาจไม่ถูกทางติดต่อหวังดึงนักเตะในสังกัด ที่เป็นอดีตนักเตะทีมชาติไทยไปร่วมทัพ ทั้งที่กุนซือใหญ่ของสโมสรต้นสังกัด ไม่อยากปล่อยตัว เพราะเพิ่งซื้อมา และยังอยู่ในแผนทำทีม


 เรื่องนี้ "คม ชัด ลึก" ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าววงในว่า สโมสรใหญ่แห่งนี้ ไม่มีความประสงค์จะปล่อยนักเตะ แต่ยังเปิดช่องให้มีการเจรจา ขอเพียงทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องของวงการฟุตบอล ที่ปัจจุบันมีระเบียบการติดต่อซื้อขาย จะต้องทำหนังสือส่งถึงต้นสังกัดอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เดินเข้าประตูหลัง หรือมาใช้อำนาจการเมืองบีบคั้นเหมือนที่ผ่านมา
 ผู้สื่อข่าว "คม ชัด ลึก" สอบถามเรื่องนี้ไปทางบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ได้รับการการชี้แจงว่า ไม่อาจเข้าไปก้าวก่ายได้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงแต่ที่กล่าวได้คือ อยากให้ทุกทีมยกมาตรฐานตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่ยังยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ที่ผิดระเบียบ


 "เราจะเข้าไปตรวจสอบได้ต่อเมื่อต้นสังกัดส่งเรื่องมา หรือมีหลักฐานที่มอบให้เรา ซึ่งเรื่องของหลักฐานคงหายาก เพราะส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์ หรือพูดคุยกันเอง เพียงแต่หากมีข้อมูล หรือหลักฐานมายืนยันได้ว่า มีปัญหาดังกล่าวจริง เราพร้อมเข้าดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้ หรืออาจใช้ระเบียบของฟีฟ่ามาอนุโลมใช้เหมือนที่ผ่านมา"


 ทั้งนี้ ตามระเบียบของฟีฟ่าในเรื่องการโอนย้ายนักเตะ กำหนดเอาไว้ว่า สโมสรจะเข้าไปติดต่อกับนักเตะที่มีสังกัดอยู่ ต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงต้นสังกัดของนักเตะจึงจะเข้าไปเจรจาได้ และนักเตะจะยุติสัญญาได้ ต้องหมดอายุสัญญา หรือมีเวลาในสัญญาน้อยกว่า 6 เดือน และสโมสรไม่มีความเคลื่อนไหวมาเจรจาจะต่อสัญญาหรือไม่ แต่สำหรับไทยพรีเมียร์ลีก ปีนี้กำหนดเอาไว้ 3 เดือน และหากมีการฝ่าฝืน ฟีฟ่ามีบทลงโทษต่อนิติบุคคล เริ่มจาก ห้ามซื้อขายนักเตะ, เล่นไม่มีคนดู, เล่นสนามเป็นกลาง, เล่นในสนามที่จัดเตรียมให้พิเศษ, ยกเลิกผลการแข่งขัน, ไล่ออกจากการแข่งขัน, ปรับเงิน, หักคะแนน, ปรับลดชั้น และบทลงโทษต่อบุคคล เริ่มจากเตือน, ไล่ออก, พักการแข่งขัน, ห้ามเข้าห้องแต่งตัว-ม้านั่งสำรอง, ห้ามเข้าสนาม, ห้ามยุ่งเกี่ยวกิจกรรมฟุตบอล สมาคมสามารถลงโทษบุคคลได้ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน-2 ปี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ