ข่าว

รายงาน-"อินเตอร์โปล"-ทางลัด-จับ"ทักษิณ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจาก...ที่ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหา "ก่อการร้าย" เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา

 หลายคนอาจวาดหวังว่า โอกาสที่จะติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเมืองไทยมารับโทษ จะมีมากขึ้น เนื่องจากความผิดฐาน "ก่อการร้าย" กฎหมายภายในของหลายประเทศได้บัญญัติความผิดฐานก่อการร้ายไว้เช่นกัน

 เงื่อนไขหนึ่งในการที่จะขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ คือ ต้องเป็นความผิดตามกฎหมายภายในของทั้ง 2 ประเทศ คือ ประเทศผู้ขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศผู้ถูกขอ

 (อย่างคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกจำคุก 2 ปี เนื่องจากกระทำผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.นั้น ที่ผ่านมาค่อนข้างมีปัญหาในการนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากหลายประเทศไม่มีกฎหมายภายในลักษณะเดียวกับกฎหมาย ป.ป.ช.)

 อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ แม้ศาลจะอนุมัติหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาก่อการร้ายไปแล้ว แต่ยังมี "ติดขัด" ในการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ดี

 ฟังจากการอธิบายของ "ศิริศักดิ์ ติยะพรรณ" อธิบดีอัยการต่างประเทศ แล้ว จะเห็น "ภาพ" มากขึ้น

 "กรณีที่ศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อหาก่อการร้ายตามที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอร้องขอ เป็นหมายจับในชั้นสอบสวน อัยการจึงยังไม่มีอำนาจในการประสานกับประเทศต่างๆ ให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดีได้ จนกว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอจะดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้น พร้อมมีความเห็นสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาก่อการร้ายให้พนักงานอัยการ เมื่อถึงขั้นตอนดังกล่าวอัยการจะพิจารณาสำนวนของดีเอสไอก่อน หากอัยการพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ฟ้องคดี อัยการจึงจะสามารถประสานกับรัฐบาลประเทศที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อาศัยอยู่ ให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีได้"

 สรุปง่ายๆ ก็คือ หมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาก่อการร้ายที่ศาลเพิ่งอนุมัติไปนั้น ตอนนี้ยังนำมาใช้ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงเวลาตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม คือ ยังไม่ถึงขั้นอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล

 ดังนั้น การใช้วิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ยังหวังผลในระยะอันสั้นได้ยาก จึงน่าจะหันมาใช้อีกวิธีหนึ่ง นั่นคือ "ระบบตำรวจสากล" หรือ "อินเตอร์โปล" ที่น่าจะได้ผลมากกว่า

 ซึ่งก็ต้องมาทำความรู้จัก "ตำรวจสากล" หรือที่เรียกว่า "อินเตอร์โปล" กันก่อน

 องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ "อินเตอร์โปล" เป็นองค์การที่เกิดจากความพยายามร่วมมือกันในทางระหว่างประเทศเกี่ยวกับงานของตำรวจ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือทุกองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส

 "อินเตอร์โปล" เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก "องค์การสหประชาชาติ" ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 188 ประเทศทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกของ "อินเตอร์โปล"

  ภารกิจสำคัญอันหนึ่งของ "อินเตอร์โปล" คือ การร่วมมือกับสมาชิก ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการจัดตั้ง "หน่วยตำรวจสากล" ขึ้นมาในการจับกุม ปราบปรามและสอบสวนคดีอาชญากรรม รวมทั้งความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือ "การส่งผู้ร้ายข้ามแดน" ด้วย 

 ที่ผ่านมาผลงานอันโด่งดังของ "ตำรวจสากล" ที่มีให้เห็น ก็คือ การเข้าจับกุม "ริดวน อิซามุดดิน" หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "ฮัมบาลี" แกนนำกลุ่มก่อการร้ายเจไอและสมุนคู่กายอีก 2 คน ถูกทางการไทยและซีไอเอจับกุมได้ พร้อมกับระเบิดและคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีข้อมูลที่ทำให้เชื่อว่าเขาเป็นคนประสานงานระหว่างอัล-ไกดากับเจไอ

 "ฮัมบาลี" ลักลอบเข้าประเทศไทยมาอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วงก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC) วันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เขาวางแผนที่จะโจมตีสายการบินพาณิชย์และโรงแรมชื่อดัง 2 แห่งใน กทม.ที่บริหารโดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน หลังจากการจับกุมทางการไทยได้ส่งตัว "ฮัมบาลี" ไปให้สหรัฐสอบสวน และมีหลักฐานเชื่อว่าเขาเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรม 11 กันยายนด้วย

 สำหรับคดีก่อการร้ายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกออกหมายจับ เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) ดีเอสไอ กระทรวงการต่างประเทศและอัยการ ได้ร่วมประชุมกัน และมีข้อสรุปหนึ่งออกมาว่า จะประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอความร่วมมือจาก "ตำรวจสากล" (อินเตอร์โปล) ในการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ มาให้ประเทศไทย

  ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็คือ ตำรวจสากลของไทยจะทำเรื่องพร้อมหมายจับส่งไปยังองค์การตำรวจสากลกลางที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ ”ออกหมายจับกลาง” หรือที่เรียกว่า “หมายแดง” และเมื่อตำรวจสากลออก "หมายจับกลาง" แล้ว ก็จะส่งไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองของ 188 ประเทศที่เป็นสมาชิก "ตำรวจสากล"

 เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปปรากฏตัวที่ประเทศตามหมายจับที่ส่งไป หน่วยตำรวจสากลของประเทศนั้นก็จะเข้าจับกุมตัวในทันที จากนั้น "ตำรวจไทย" ก็บินไปรับตัวจากสนามบินของประเทศนั้นนำกลับมาประเทศไทยได้ทันที

 กระบวนการนี้ถือเป็น "ช่องทางลัด" ที่ทำกันเป็นประจำ "อินเตอร์โปล" รู้ดี เป็นวิธีที่ง่าย เร็ว และทำได้ทันที

 ปัญหา คือ ตำรวจไทยอย่าทำตัวเป็น "มะเขือเทศ" ดองเรื่องไม่ส่งหมายจับไปให้ "อินเตอร์โปล" ก็แล้วกัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ