ข่าว

เล็งชงครม.ของบ1.3พันล้านสร้างศาลากลางถูกเผา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชวรัตน์"เล็งชงครม.ของบ 1.3 พันล้าน ขอสร้างศาลากลางใหม่หลังถูกเผา 4 ผวจ. "ขอนแก่น-อุดรธานี-มุกดาหาร-อุบลราชธานี " เผยยังมีคลื่นใต้น้ำ เสื้อแดงที่จากกทม.กลับบ้าน "บุญจง"ให้ประกบติดการเคลื่อนไหวแกนนำ เตือนตอนนี้แค่พักรบชั่วคราว ขณะที่"ถาวร"กำชับเฝ้าระวัง

 (24พ.ค.)  เมื่อเวลา 14 .00 น.นาย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมกระทรวงมหาดไทย เพื่อสั่งการนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเร็นซ์ ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ภายหลังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็การ ( นปช. ) ยุติการชุมนุมว่า ขอสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ คือ 1. ในฐานะที่ มท.มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ผู้ว่าฯต้องคงมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

 นายชวรัตน์กล่าวต่อว่า 2 .การฟื้นฟูความเสียหายทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ หรือยานพาหนะของทางราชการ ตลอดจนสิ่งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ขอให้ผู้ว่าฯ และ กทม.เร่งสำรวจความเสียหาย และแจ้งให้ มท.ทราบโดยด่วน โดยเมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณ อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เห็นเป็นซากอนุสรณ์แห่งความเสียหาย ส่วน 4 จังหวัดที่ศาลากลางจังหวัดและสถานที่ราชการได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ มท.จะเสนอเรื่องขออนุมัติงบประมาณจากวงเงินงบกลางเข้าที่ประชุมครม.ในวันอังคารที่ 25 พ.ค.นี้ ส่วนจังหวัดใดที่ได้รับความเสียหายขอให้เร่งสำรวจและรายงานมา เพื่อจะได้ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม

 นายชวรัตน์ กล่าวว่า 3. ต้องมีการฟื้นฟูจิตใจประชาชนไม่ให้วิตกกังวลหวาดกลัว สิ้นหวัง โดยเริ่มจากช่วงวันวิสาขบูชาที่จะมาถึงนี้ โดยการจัดกิจกรรมทำบุญให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญร่วมกัน และสมานฉันท์ทุกพื้นที่ 4. ฟื้นฟูเศรษฐกิจและท่องเที่ยวซึ่งเป็นเรื่องสำคัญถือเป็นภาระของผู้ว่าฯที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและจำหน่ายสินค้าต่างๆ 5. การฟื้นฟูด้านการเมือง ขอให้ทุกจังหวัดและกทม.ประชาสัมพันธ์ชี้แจงและทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าให้ได้รับทราบถึงความจริงที่เกิดขึ้น เหตุผลของการดำเนินการต่างๆ ความจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย โดยเฉพาะหลักการและวิธีดำรงชีวิตแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 6. การฟื้นฟูสังคม ผู้ว่าฯจะต้องมีการจัดกิจกรรมสร้างความสามัคคีขึ้นเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และ 7 .นโยบายการปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ ขอเน้นว่าให้ปฏิบัติการในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องโดยการเตรียมความพร้อมเพื่อบรมอาสาสมัครปกป้องสถาบัน(อสป.)ให้ได้จำนวนมากที่สุด เพื่อเป็นพลังเทิดทูนและปกป้อง และผมขอเน้นย้ำให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม อย่าปล่อยเกียร์ว่างโดยเด็ดขาด หากทราบเบาะแส หรือตัวผู้ที่เผาสถานที่ราชการ และก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนต้องเร่งสืบสวนจับกุมดำเนินคดี และให้ผู้ว่าฯรายงานให้ทราบภายใน 3 วัน  อย่างไรก็ทางกระทรวงมหาดไทยจะเตรียมของบประมาณที่จะช่วยเหลือจำนวน 1,300 ล้านต่อที่ประชุมครม.ในวันที่ 24 พ.ค.โดยเป็นงบประมาณก่อสร้างครุภัณฑ์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา

 นายชวรัตน์ ได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มุกดาหาร และอุบลราชธานีรายงานถึงสถานการณ์ และการเยียวยาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยนายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังเหตุการณ์ คดีบุรุกเผาทำลายศาลากลางจังหวัด เอ็นบีที ธ.กรุงเทพ ได้ขออนุมัติหมายจับจำนวน 7 ราย จับกุมแล้ว 4 อายัดตัวแล้ว 1 คงเหลือยังติดตามจับกุม 2 ราย และยังอยู่ระหว่างการอนุมัติขอหมายจับอีก 43 ราย ซึ่งคดีทั้งหมดได้โอนไปให้ดีเอสไอ ดำเนินการรับผิดชอบแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และ อส.ตรึงกำลังรักษาความสงบที่ และมีการลาดตระเวรตลอด 24 ชั่วโมงโดยเฉพาะ ศาลากลางจังหวัด และศูนย์ราชการจังหวัดขอนแก่นทุกแห่ง ศาล โรงผลิตไฟฟ้าใน จ.ขอนแก่น

 ขณะที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคอีสาน ประกอบด้วย นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าฯอุดรธานี กล่าวว่า เหตุการณ์การเผาศาลากลาง จ.อุดรฯ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นใน จ.อุดร นั้น คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 300 กว่าล้านบาท โดยความเสียหายหลักอยู่ที่อาคารเทศบาลนครอุดรธานี อาคารศาลากลางหลังเก่า รวมถึงยานพาหนะ ครุภัณฑ์ เสียหายทั้งหมด โดยจะขอรับงบประมาณช่วยเหลือทั้งสิ้น 440 ล้านบาท โดยแยกเป็นค่าก่อสร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่ซึ่งเป็นอาคาร 5 ชั้นทดแทนหลังเก่า รวมทั้งสิ้น 180 บาท และจะซ่อมแซมอาคารศาลากลาง 7 ชั้น อีก 35 ล้านบาท รวมถึงครุภัณฑ์สำนักงานและครุภัณฑ์ยานพาหนะอีก 60 ล้านบาท ส่วนค่าซ่อมแซมอาคารเทศบาลนครอุดรธานี รวมถึงระบบทะเบียนราษฎร์ และกล้อง ซีซีทีวี ที่ได้รับความเสียหายนั้นอีกกว่า 156 ล้านบาท

 “สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่น่าไว้วางใจ คนที่กลับมาจากกทม. นำภาพเหตุการณ์ในกทม.มาปลุกระดม และมีความพยายามก่อเหตุวางเพลิงโรงเรียน และเผายางรถยนต์ในพื้นที่รอบนอก ซึ่งขณะนี้เราได้ขอความร่วมมือประชาชนจัดจุดตรวจต่างๆ และจ้างเวรยามเฝ้าระวังตามโรงเรียนด้วย ส่วนการดำเนินคดีในวันที่ก่อเหตุ 19 พ.ค.นั้น สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 45 คน บาดเจ็บ 3 คน ถูกยิงเสียชีวิต 1 ออกหมายจับ 6 คน ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้จัดเจ้าหน้าเพื่อช่วยเหลือตำรวจเร่งสืบหาผู้กระทำผิด และขณะนี้ดีเอสไอได้เข้ามาร่วมทำคดีแล้ว ” นายอำนาจ กล่าว

 ส่วนนายบุญส่ง เตชะมณีสถิต ผู้ว่าฯมุกดาหาร กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายให้กับศาลากลางจังหวัดหลังเก่า และครุภัณฑ์ ทั้งสิ้น 15 ล้านบาท ระบบสาธารณูปโภคของศาลากลางหลังใหม่รวม 4.5 ล้าน ซึ่งขณะเจ้าหน้าที่โยธาธิการกำลังสำรวจโครงสร้างของศาลากลางจังหวัด หากพบว่าเสียหายมากจนต้องทุบทิ้งก็จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 80 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากจะต้องทุบทิ้งใหม่ จังหวัดมีความประสงค์จะสร้างอาคารศาลากลางใหม่เพิ่มเติมจากเดิน 3 ชั้น เป็น 5 ชั้น งบประมาณ 200 ล้านบาท รวมถึงของบประมาณครุภัณฑ์ทุกส่วนราชการทั้งหมด 15 ล้านบาท และ 4.5 ล้านบาท เพื่อซ่อมแซมสาธารณูปโภคที่ถูกทำลาย นอกจากนี้ ได้จับกุมผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 16 คน และจากการตรวจสอบภาพของสื่อมวลชน ได้มีการออกหมายจับแกนนำอีก 10 คน และออกหมายจับเพิ่มเติมอีก30 คน

 "มีการปล่อยข่าวบิดเบือนว่าการสลายการชุมนุมที่เผาศาลากลางเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายนั้น ซึ่งเป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริง เพราะจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งการทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ามีการก่อหวอดเพื่อจะเผาสถานที่ราชการอื่นๆ นอกจากนี้ หลังจากผู้ชุมนุมเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ ได้มีการรวมตัวกันกลุ่มเล็กๆ เพื่อก่อกวน อย่างไรก็ตาม ตนได้จัดชุดจิตวิทยาเพื่อออกไปพบปะประชาชนเพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องให้เข้าถึงระดับท้องถิ่น และเราได้จัดกำลังรักษาสถานที่ราชการแล้ว ซึ่งโดยสรุปว่าใน จ.มุกดาหาร ยังมีคลื่นใต้น้ำอยู่ ” ผวจ.มุกดาหาร กล่าว

 ด้านนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าฯอุบลราชธานี กล่าวว่า อาคารที่ถูกเผาเป็นอาคารศาลากลางจังหวัด 2 ชั้น เสียหายทั้งหลัง และศูนย์สื่อสารเสียหาย 1 หลัง รถยนต์ถูกเผา 3 คัน และรถดับเพลิง 1 คัน และมีหน่วยงานที่เสียหายทั้งหมด 7 หน่วยงาน มูลค่าความเสียหาย 98ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนได้หารือกับผู้แทนโยธาธิการจังหวัดเรื่องการก่อสร้างศาลากลางหลังใหม่ โดยจะไปสร้างศาลากลางหลังใหม่ที่ศูนย์ราชการห้วยแจระแม ห่างจากตัวเมือง 10 กิโลเมตร ซึ่งศูนย์ราชการดังกล่าวได้มีการเสนอให้สร้างประมาณ 10 ปีเศษ แต่ยังไม่มีงบประมาณก่อสร้าง โดยงบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในการก่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ก่อเหตุ 20 คน กำลังตามจับ 24 คน และกำลังออกหมายจับเพิ่มเติมอีก

 " ขณะนี้คาดว่ากลุ่มผู้ก่อการจะลงใต้ดิน คงมีขบวนการก่อกวนเพิ่มอีก แต่ได้กำชับหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอให้จัดเวรยามเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังที่ว่าการอำเภอ สถานีอานามัย และโรงเรียนต่างๆ ด้วย สำหรับการเยียวยาในวันที่ 29 พ.ค.จะทำบุญเมืองครั้งใหญ่ โดยจะเชิญทุกภาคส่วนมาปฏิบัติธรรมนุ่งขาวห่มขาวบริเวณที่หน้าศาลากลางจังหวัดด้วย ” นายชวน กล่าว

 อย่างไรก็ตามในการประชุมนายชวรัตน์ ได้สอบถามไปยัง นาย อุดม พั้วสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่า การออกแบบศาลากลางจังหวัด มีสปริงเกอร์น้ำ หรือที่ดับเพลิงในตัวอาคารหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ในอดีตไม่ได้มีการออกแบบไว้ แต่ในปัจจุบัน ได้มีการออกแบบจุดดับเพลิงเพิ่มเติมแล้ว นายชวรัตน์ จึงได้ถามต่อว่า ศาลากลางจังหวัดที่ดูเผาทั้ง 4 แห่ง นั้นมีที่ดับเพลิงหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ไม่มี นายชวรัตน์ จึงได้สั่งการให้มีการสำรวจ ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ และให้มีการติดตั้งชุดดับเพลิง หรือสปริงเกอร์น้ำตามสมควร และจะต้องมีทุกแห่งเพื่อป้องกันเหตุการณ์ในอนาคต

 ด้านนาย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ ตนเชื่อว่าเป็นการพักชั่วคราว เพราะความรู้สึกของประชาชนยังตรงกันข้ามกับรัฐบาลอยู่ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้จะถูกสะสม และหากมีการปลุกระดม อาจมีการก่อเหตุการณ์ความเสียหายขึ้นมาอีกครั้ง จึงยังประมาทไม่ได้ ตนอยากฝากว่า 1 .การกระทำความผิดของผู้ชุมนุม ผู้ว่าฯต้องติดตามผลคดี ว่ามีการลงโทษแคไหน รวมถึงการนำผลการตัดสินของคดีทีเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ที่มีการลงโทษจำคุกทั้งหมดนั้น นำผลคดีไปประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านว่าพฤติการทำผิดคือ ติดคุกเท่านั่น

 นายบุญจง กล่าวต่อว่า 2. การเฝ้าระวังสถานที่ราชการ ให้มีการเตรียมรถดับเพลิงไว้ในสถานที่ใกล้เคียง เพราะหากเกิดเหตุจะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันที และ 3. ให้ผู้ว่าฯติดตามว่าผู้ชุมนุมที่เดินทางกลับมาว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน ตำบลอะไร และใครคือแกนนำหลัก โดยต้องรู้ชื่อ ที่อยู่ จากนั้นให้ใช้กลไกราชการไปขอร้องให้หยุดสร้างความเสียหาย แต่หากไม่จบก็ต้องประกบต้องติดตามตัว ว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร

 ขณะที่นาย ถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ตนในฐานะที่กำกับดูแล กทม.ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่กทม.ที่ได้ช่วยฟื้นฟูและเยียวยา แต่จากนี้ขอให้สำรวจสถานที่ราชการทุกอย่างที่เกิดจากจากความเสียหาย และดำเนินการของบประมาณมาที่มท. นอกจากนี้ ให้มีการจัดตั้งศูนย์ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจัดตั้งอาสาสมัครเพื่อตรวจสอบ บุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่ผิดปกติ ถ้ามีความเกี่ยวความมั่นคง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อดูแลแก้ไขโดยด่วน ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 26 พ.ค.ตนจะเดินทางไปศาลากลางกทม.เพื่อดูความคืบหน้าในโครงการช่วยเหลือด้านต่างๆ ในเวลา 13.30 น.

 นาย อุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า หากหน่วยงานใดมีความประสงค์ให้กรมโยธาฯเข้าตรวจสอบอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ กรมโยธาฯก็พร้อมจะดำเนินการไปตรวจสอบให้ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒด้านต่างๆ นอกจากนี้ หากสำนักโยธาของกทม.จะร้องขอให้กรมโยธาฯเข้าไปดำเนินการร่วมกันก็เป็นสิ่งที่จะเพิ่มความมั่นใจให้กับหน่วยงานต่างๆได้มากขึ้นด้วย

 นาย มานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภายหลังที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดส่งผู้ชุมนุม 2 วันนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 2,172 คน โดยมาจากทุกจังหวัด ซึ่งขณะนี้ข้อมูลรายชื่อได้บันทึกไว้ในฝ่ายความมั่นคงกรมการปกครองแล้ว ขอให้ผู้ว่าฯนำข้อมูลดังกล่าวนำออกมาวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้ชุมนุมว่าอาจมีการก่อเหตุขึ้นอีกหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ติดตามไปถึงบ้าน

จับมือเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯได้แล้ว10ราย

 พล.ต.ต.สมพงษ์ ทองวีระประเสริฐ  ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จนได้รับความเสียหายทั้งหลัง ว่า ล่าสุดได้มีการขออนุมัติหมายจับเพิ่มเติมกว่า 30 ราย โดยสามารถจับกุมได้แล้วจำนวน 10 ราย เป็นคดีบุกรุกวางเพลิงเผาศาลากลางทั้ง 10 ราย 

 ทั้งนี้หลังจากการจับกุม ทุกรายศาลยังไม่ได้อนุญาติให้มีการประกันตัวทั้ง 10 ราย เป็นคดีที่ผูกพันกับการเผาศาลากลาง คือพวกที่ปรากฏในภาพอาจจะเป็นผู้ที่ขึ้นเวทีประกาศเชิญชวนผู้ที่มีปรากฏภาพอยู่ในศาลากลาง  คนเหล่านี้เราถือว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งนั้น

 พล.ต.ต.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่กองกำกับการ สภ.เมืองอุบลราชธานี ได้มีการตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วในการออกทำการสืบสวนติดตามกดดัน เพื่อทำการจับกุมผู้กระทำผิด  โดยเมื่อวาน(23พ.ค.)ได้กดดันจับกุมได้มาหลายคน 

 นอกจากนี้ได้ดำเนินงานโดยนำหมายจับไปลงเวปไชด์ของภูธรจังหวัดอุบลราชธานี แล้วให้ทุกสถานีของภูธรจังหวัด เข้าไปเปิดดูเวปไซด์  ถ้าตำรวจคนไหนรู้จักก็ให้เขาไปดำเนินการสืบสวนจับกุม

ยอดลงทะเบียน7เขตวันแรก2,671ราย

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการเปิดให้ลงทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 7 เขต ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 24-31 พ.ค.นี้ ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตสาทร เขตบางรัก เขตวัฒนา เขตดินแดง เขตคลองเตย และเขตราชเทวี มีผู้ประกอบการและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ดังนี้

 1.เขตปทุมวัน มีผู้ประกอบการ นายจ้าง และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมมาลงทะเบียน จำนวน 1 , 200 ราย แต่จะมีปัญหาเรื่องการกรอกข้อมูลในเอกสารการลงทะเบียนบ้างเล็กน้อย 2.เขตสาทร จำนวน 59 ราย 3.เขตบางรัก จำนวน 297 ราย ซึ่งผู้มาลงทะเบียนส่วนใหญ่มีอาการซึมเศร้า แต่จะมีการให้กำลังซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานจากปัญหาความวุ่นวายดังกล่าว เช่นพนักงานโรงแรมต่าง ๆ

 4.เขตวัฒนา จำนวน 41 ราย พบปัญหาการเตรียมเอกสารประกอบการลงทะเบียนไม่ครบถ้วน แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้รับเรื่องเอาไว้และให้ผู้มาลงทะเบียนนำหลักฐานมายื่นใหม่อีกครั้ง 5. เขตดินแดง จำนวน 87 ราย

 6.เขตคลองเตย จำนวน 87 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและคนว่างงาน เนื่องจากบริเวณเขตคลองเตยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีเพียงอาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ อาคารสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 อาคารการไฟฟ้านครหลวง อาคารตลาดหลักทรัพย์ และธนาคารกรุงเทพสาขาพระราม 4 ซึ่งคาดว่าจะไปลงทะเบียนกับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และ 7.เขตราชเทวี ลงทะเบียน ตั้งแต่ 22-24 พฤษภาคม รวม 900 คน โดยเป็นผู้ประกอบการรายย่อยและคนขับแท็กซี่ในพื้นที่มาขอลงทะเบียน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ